ทำไมต้อง "เลิกบุหรี่บ้านละคน" ?

คอลัมน์ : เก็บมาฝาก

ช่วง 3-4 ปีมานี้ หลายท่านคงเคยได้ยินคำว่า "เลิกบุหรี่บ้านละคน" โดยเฉพาะในสื่อที่มาจาก สสม. และคงสงสัยว่า รณรงค์ให้คนเลิกบุหรี่ ทำไมเพียงบ้านละคน แล้วเมื่อไหร่บุหรี่จะหมดไปจากประเทศไทย มาฟังคำตอบจาก ศ.ดร.อิศรา ศานติศาสน์ ประธานมูลนิธิสร้างสุขมุสลิมไทยกันครับว่า แคมเปญนี้เป็นมาอย่างไร?

แคมเปญนี้ เริ่มจากการทำความเข้าใจกับปัญหาก่อน แม้ทุกคนจะรู้ดีว่า ความสูญเสียทางเศรษฐกิจที่เกิดกับครอบครัวผู้สูบบุหรี่ ที่แท้จริงก็คือ เพราะบ้านเป็นที่อยู่ที่นอนของทุกคนในครอบครัวมีการสูบบุหรี่

มีรายงานวิจัยการสูบบุหรี่ในห้าจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ปัตตานี ยะลา นราธิวาส สตูล และสี่อำเภอในสงขลา) ของ สสม. พบว่า พื้นที่นี้มีอัตราการสูบบุหรี่สูงถึงร้อยละ 33.38 โดยร้อยละ 78 ของผู้ที่สูบบุหรี่สูบทุกวัน และร้อยละ 71 ใช้บ้านเป็นที่สูบบุหรี่ ซึ่งอัตราการใช้บ้านเป็นที่สูบบุหรี่สูงมากเหมือนกันหมด ทั้งในกลุ่มผู้นำศาสนา และบุคลากรครู ถ้ายังปล่อยให้มีการสูบบุหรี่ที่บ้านกันต่อไปเช่นนี้ จะมีกลุ่มคนที่ไม่ได้สูบบุหรี่ แต่ต้องได้รับอันตรายและทุกข์ทรมานจากควันบุหรี่ในครัวเรือน คือ ภรรยา บุตร และพ่อแม่ของคนสูบ (ซึ่งน่าจะเป็นคนที่ผู้สูบบุหรี่รักและห่วงใย) และเมื่อคิดจากครัวเรือนที่มีคนสูบบุหรี่ อย่างน้อยหนึ่งคนประมาณร้อยละ 44 ของครัวเรือนในพื้นที่ทั้งหมดกว่า 6 แสนครัวเรือน ย่อมหมายถึงคนที่บ้านอีกไม่น้อยกว่า 1.7 ล้านคน ดังนั้นการเลิกบุหรี่จึงต้องเริ่มที่บ้าน และ “คนที่บ้าน” ซึ่งได้รับผลกระทบโดยตรง คือ กลุ่มคนที่จะเป็นหัวหอกในการดำเนินการนี้ได้ดีที่สุด นั่นคือ ทุก ๆ บ้านจะมีสมาชิกอีกอีกสามหรือสี่คนคุมคนสูบบุหรี่ 1 คน

                       

ดร.อิศรา กล่าวว่า "การเลิกบุหรี่บ้านละคน เป็นเรื่องที่สำคัญมาก ๆ เพราะเรามีงานวิจัยชี้ว่า คนมุสลิมประมาณ 1 ใน 4 ถ้า สามารถทำให้คนในครอบครัวเลิกบุหรี่ได้ 1 คน มันจะลดคนสูบบุหรี่ลงประมาณ 1 ใน 4 นั่นแปลว่า อัตราการสูบบุหรี่ในในสังคมมุสลิมจะลดลงร้อยละ 25 "  และ "ถ้าเราทำได้ตามนี้ ขั้นตอนแรกอัตราการสูบบุหรี่ของคนไทยมุสลิมจะน้อยกว่าอัตราการสูบบุหรี่ของคนไทยกลุ่มอื่น และ 2 คือ เมื่อมีคนเลิกได้ 1 คนในบ้าน มันต้องมีคนที่สองคนที่สามตามมา เพราะว่าไม่มีบ้านไหนหรอกครับที่มีคนสูบบุหรี่ 3 คนเลิกได้ 1 คนแล้วปล่อยให้อีก 2 คนสูบต่อไป ทุกคนก็จะดึงให้คนที่ 2 คนที่ 3 เลิกให้ได้มันจะเป็นผลที่เป็นลูกโซ่ ซึ่งท้ายที่สุดแล้วการสูบบุหรี่มันจะลดลงอย่างรวดเร็ว

ปัจจุบันแคมเปญนี้ ได้ถูกนำมารณรงค์ผ่านหลายโครงการภายใต้มูลนิธิฯ ได้แก่ เลิกบุหรี่เริ่มที่บ้าน สื่อสองโลกต้านบุหรี่ เด็กตาดีกาพาเลิกบุหรี่ ต้นแบบมัสยิดปลอดบุหรี่ เขตสุขภาวะมัสยิดครบวงจร ซึ่งสนับสนุนโดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)

ข้อมูลจาก มูลนิธิสร้างสุขมุสลิมไทย

Smartnews เผยแพร่ 22 ตุลาคม 2563