ปัจจัยเสี่ยง "โรคไต" ที่ไม่ได้มาจากการ "กินเค็ม" แนะวิธีการป้องกัน
คอลัมน์ : เก็บมาฝาก
วิธีป้องกัน ปัจจัยเสี่ยง "โรคไต" ที่ไม่ได้มาจากการ "กินเค็ม"
ปัจจุบันคนไทยที่ป่วยเป็น "โรคไตเรื้อรัง" หรือผู้ที่มีภาวะโรคไตแฝงอยู่ มีตัวเลขอยู่ที่ประมาณ 17.6% หรือคิดเป็นประมาณ 8,000,000 คนของประชากรไทย แต่กลุ่มที่ป่วยเป็นโรคไตวายในระยะสุดท้าย จะอยู่ที่ประมาณ 80,000 และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทุกปี ราวๆ 10,000-20,000 คนต่อปี
ขณะที่ก่อนหน้านี้ องค์การอนามัยโลก หรือ WHO ออกมาประกาศให้คนทั่วโลกได้ตระหนักถึงการบริโภคอาหารรสเค็ม อันเป็นปัจจัยเสี่ยงของโรคไต แต่อาหารรสเค็มก็ไม่ได้เป็นแค่ตั๋วใบเดียวที่ปลายทางจะนำไปสู่โรคไตได้ เพราะยังมีสาเหตุและความเสี่ยงอีกหลายอย่างที่พร้อมจะพาเราวิ่งสู่เส้นทางของโรคร้ายได้ทุกเมื่อ สมมติว่าคุณไม่ชอบทานอาหารรสเค็ม อย่าเพิ่งลดการ์ดระวังโรคไตเป็นเด็ดขาด เพราะถ้าบังเอิญคุณชื่นชอบอาหารที่มีความมันจัด หรือหวานจัด ความเสี่ยงที่ว่า แทบไม่ต่างกันเลย โดยเฉพาะถ้ามีพฤติกรรมยอดแย่อื่นๆ อย่างดื่มน้ำน้อย หรือไม่ออกกำลังกาย
พญ.ผ่องพรรณ ทานาค แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านอายุรศาสตร์โรคไต สถาบันโรคไตและเปลี่ยนไต โรงพยาบาลพระรามเก้า เปิดเผยว่า นอกจากปัจจัยด้านพฤติกรรมการกินอาหารที่เราทราบกันดี ยังต้องระวังในเรื่องการทานยา โดยเฉพาะในกลุ่มยาแก้ปวดกลุ่มเอ็นเสด (NSAIDs) ที่ทำให้เลือดไปเลี้ยงไตลดลง และส่งผลให้ไตทำงานได้แย่ลงด้วย แต่สิ่งที่เป็นสาเหตุหลักของความเสี่ยงโรคไตจริงๆ ประมาณ 70% คือกลุ่มโรคประจำตัว อย่างเบาหวานและความดัน หรือแม้แต่โรคไขมันและโรคอ้วน สำหรับโรคอื่นๆ เมื่อเราเจออาการผิดปกติเร็ว เราก็มักจะได้รับการรักษาที่ดี แต่โชคร้ายหน่อยที่ภาวะโรคไตไม่ได้เป็นแบบนั้น เพราะทันทีที่เราสังเกตเห็นอาการผิดปกติที่ว่า นั่นหมายถึง เรากำลังป่วยเป็นโรคไตในระยะที่อันตราย หรือเลวร้ายสุดคือระยะที่ 5 ที่จะตามมาซึ่ง "อาการไตวายระยะสุดท้าย"
อาการของคนไข้โรคไตมี 5 ระยะ แต่คนไข้ส่วนใหญ่ถ้าไม่อยู่ในระยะสุดท้าย หรือระยะที่แย่จริงๆ โดยปกติวิธีการรักษาโรคไตจะขึ้นอยู่กับระยะของโรคที่คนไข้เป็น ในระยะที่ 1-4 แพทย์จะทำการชะลอความเสื่อมของไตให้ช้าที่สุด ด้วยการรักษาตัวโรคตั้งต้นที่ก่อให้เกิดโรคไต ควบคุมเบาหวานให้ดี ควบคุมความดันให้อยู่ในระดับปกติ งดเว้นการสูบบุหรี่ ลดน้ำหนักลง ควบคุมอาหารไม่ให้มีรสจัดเกินไป รวมถึงรับประทานยาเพิ่มเพื่อคุมโรคไต
อาการไตวายระยะสุดท้าย หรือระยะที่ 5 ประสิทธิภาพไตจะทำงานเหลือน้อยลงกว่า 15% สิ่งที่แพทย์ทำได้จะเหลือตัวเลือกแค่ 3 ทาง คือ การฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียม, การฟอกเลือดทางหน้าท้อง หรือการล้างหน้าท้องด้วยน้ำยา และสุดท้ายวิธีรักษาที่ดีที่สุดนั่นคือ "การปลูกถ่ายไต" อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันมีผู้ได้รับการผ่าตัดปลูกถ่ายไตประมาณ 8,000 คน หรือคิดเป็นเพียง 10% ของผู้ป่วยโรคไตทั้งหมด
สำหรับวิธีการการป้องกันภาวะไตวาย ควรควบคุมอาหาร ลดอาหารเค็ม เพื่อช่วยไม่ให้ไตทำงานหนัก ทั้งยังเป็นการควบคุมความดัน, ลดอาหารที่มีไขมันสูง, งดสูบบุหรี่, ดื่มน้ำ เปล่าที่มีอุณหภูมิปกติ เพื่อเป็นการบำรุงไต, หากเป็นเบาหวาน ต้องคุมน้ำตาล, หากเป็นโรคความดันสูง ต้องคุมความดันให้อยู่ในระดับปกติ การตรวจเลือดดูการทำงานของไตนั้น นับว่ามีความจำเป็นอย่างยิ่ง โดยเฉพาะในประชากรกลุ่มเสี่ยงต่อโรคนี้ แต่ถ้าหากใครพบอาการผิดปกติ ควรรีบพบแพทย์ทันทีเพื่อตรวจวินิจฉัย และรับการรักษาอย่างถูกต้องให้ทันท่วงทีต่อไป.
ข้อมูล : ผู้เขียน : กนก โฆษกสุขภาพ
Smartnews เผยแพร่ 12 พฤศจิกายน 2563