ขยาย และขับเคลื่อนโครงการจังหวัดปลอดบุหรี่
คอลัมน์ : จับกระแส
มุ่งสู่สังคมจังหวัดปลอดบุหรี่
บทบาทสำคัญในการจัดการงานควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบนั้น คือการขับเคลื่อนด้วยองค์กรที่ภาคประชาชนมีส่วนร่วม ซึ่งการดำเนินงานในประเด็นนี้แม้จะมีมานานกว่า 30-40 ปีแล้วก็ตาม สิ่งที่ยังต้องทำอย่างต่อเนื่องคือการสร้างภาคีเครือข่าย หรือสมาพันธ์ระดับท้องถิ่น เพื่อให้เกิดการควบคุมยาสูบได้ลึกและรอบด้านมากที่สุด
นายแพทย์วันชาติ ศุภจัตุรัส กรรมการสมาพันธ์เครือข่ายแห่งชาติเพื่อสังคมไทยปลอดบุหรี่ กล่าวว่า สมาพันธ์เครือข่ายแห่งชาติเพื่อสังคมไทยปลอดบุหรี่ขึ้นมา มีทั้งภาคประชาชนและองค์กรต่าง ๆ เข้ามาร่วมเป็นสมาชิก และขยายไปจนถึงองค์กรระหว่างประเทศ โดยขณะนี้มีสมาชิกที่เข้าร่วมกว่า 3,000 ราย ทั้งในรูปแบบของบุคคลและองค์กร
การทำงานจากส่วนกลางอย่างเดียวอาจจะไม่เพียงพอ การกระจายอำนาจลงในระดับจังหวัด เพื่อให้สอดคล้องกับพระราชบัญญัติควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบพุทธศักราช 2560 ด้วยการดำเนินงาน "จังหวัดปลอดบุหรี่" โดยมีเจ้าหน้าที่ภาครัฐเข้ามามีส่วนร่วมด้วย ทั้งผู้ว่าราชการจังหวัด นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด ในรูปแบบของคณะกรรมการควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบจังหวัด (คผยจ.) เพื่อร่วมกับขับเคลื่อนในทุกองค์กร ที่มีส่วนร่วมของสังคมให้มีการควบคุมยาสูบที่เป็นจริงเป็นจังมากขึ้น เน้นงานด้านการป้องกันมากกว่าการรักษา เพื่อไม่ให้ประชาชนเกิดโรคถาวรจากการสูบบุหรี่
การจัดตั้งสมาพันธ์จังหวัดที่ประกอบไปด้วยทุกภาคส่วน เพื่อหนุนเสริมการทำงานของ คผยจ. โดยนำร่องในพื้นที่จังหวัด เชียงใหม่ ลำพูน ลำปาง อุบลราชธานี ขอนแก่น สงขลา ยะลา ราชบุรี นครนายก จันทบุรี และอีกหลายแห่ง มีหลายจังหวัดที่มีความเข้มแข็งอย่างมาก ซึ่งก็ได้วางแผนไว้ว่าจะขยายงานควบคุมยาสูบของสมาพันธ์ ลงพื้นที่ในทุกเขตบริการสุขภาพทั่วประเทศเพื่อให้เกิดการขับเคลื่อนงานอย่างทั่วถึง
พลตรี ผศ.นพ.กิฎาพล วัฒนกูล รองประธานคณะอนุกรรมการแรงงาน ฝ่ายสถานประกอบการ กล่าวถึง ความสำคัญของการขับเคลื่อนงานควบคุมยาสูบในสถานประกอบการว่า สถานประกอบการจะมีแรงงานทั้งคนไทยและต่างชาติเป็นจำนวนมาก เมื่อประกอบกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 แล้ว ก็อาจจะเป็นหนึ่งในพื้นที่ทำให้เกิดคลัสเตอร์การระบาดได้ ดังนั้น จึงได้ให้ความรู้เชื่อมโยงกับงานวิจัยให้กับสถานประกอบการ ให้แรงงานได้มองเห็นถึงความเสี่ยงของประเด็นโควิดกับการสูบบุหรี่มากขึ้น ซึ่งสมาพันธ์ก็ได้ดำเนินการรณรงค์เพื่อลดการบริโภคยาสูบในสถานประกอบการอย่างต่อเนื่อง เริ่มจากการประเมินทุนเดิมว่า แต่ละสถานที่มีการรณรงค์อย่างไร มีกิจกรรมหรือไม่ ทำแบบสอบถาม แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดคือผู้บริหารของสถานประกอบการจะต้องให้ความร่วมมืออย่างจริงจังด้วย
จากการลงพื้นที่สถานประกอบการนั้น ก็ได้ให้กำลังใจแก่แรงงานในการเลิกบุหรี่พูดให้เห็นภาพว่าจะส่งผลดีอย่างไรเมื่อเลิกบุหรี่ไปแล้ว เช่น สุขภาพตนเองจะดีขึ้น เป็นสิ่งที่หาซื้อไม่ได้ การที่จะเลิกบุหรี่ได้นั้น ได้ย้ำอยู่ตลอดว่า ความแน่วแน่ของจิตใจคือสิ่งที่มีความสำคัญมากที่สุด ขณะเดียวกันสิ่งผู้ประกอบการจะได้รับหลังจากปลอดบุหรี่ คือ ความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืน จากการที่พนักงานมีสุขภาพดี พร้อมทำงานให้กับบริษัท สร้างรายได้ในระยะยาว การให้เลิกควรเน้นไปที่กำลังใจมากกว่าการข่มขู่หรือใช้มาตรการที่เด็ดขาด” พลตรี ผศ.นพ.กิฎาพล กล่าวทิ้งท้าย
ข้อมูลจาก สยามรัฐออนไลน์
Smartnews เผยแพร่ 13 ตุลาคม 2564