วันละมวน เสี่ยงสารพัดโรคเท่าสิงห์อมควัน

คอลัมน์เก็บมาฝาก

วารสารการแพทย์ของสมาคมสหรัฐอเมริกา (JAMA) ได้วิเคราะห์ผลการสำรวจของสถาบันสุขภาพแห่งชาติสหรัฐอเมริกา จากการติดตามผู้ใหญ่เกือบสามแสนคน ถึงความสัมพันธ์ของการสูบบุหรี่น้อยๆ คือสูบวันละน้อยกว่าหนึ่งมวน หรือระหว่าง 1 ถึง 10 มวนต่อวัน กับการเจ็บป่วยและเสียชีวิต พบว่า อัตราการเสียชีวิตจากทุกโรครวมทั้งมะเร็งปอด และโรคหลอดเลือดหัวใจเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญเมื่อเทียบกับคนที่ไม่เคยสูบบุหรี่เลย โดยอัตราการเสียชีวิตหรือเกิดโรคเพิ่มขึ้นตามจำนวนบุหรี่ที่สูบต่อวันที่เพิ่มขึ้น 

และยังพบอีกว่า ผู้สูบบุหรี่น้อยๆ ที่หยุดสูบได้ อัตราการเสียชีวิตลดลงในคนที่หยุดสูบเมื่ออายุน้อย โดยยิ่งสูบเมื่ออายุน้อย อัตราการเกิดโรคและเสียชีวิตก็ย่ิงลดลง 

การสำรวจในประเทศไทยโดยสำนักงานสถิติแห่งชาติ ปี พ.ศ.2557 พบว่า มีผู้สูบบุหรี่ไทยที่สูบเป็นครั้งคราว 1.4 ล้านคน ขณะที่การสำรวจเมื่อ พ.ศ. 2554 พบว่า ร้อยละ 21.4 ของผู้สูบบุหรี่ 13 ล้านคน หรือประมาณสองล้านเจ็ดแสนคนที่สูบน้อยกว่าวันละ 5 มวน ผู้ที่สูบบุหรี่น้อยๆ ก็ต้องเลิกสูบเพื่อลดโอกาสเป็นโรคที่เกิดจากการสูบบุหรี่ และเสียชีวิตก่อนเวลา ซึ่งคนที่สูบบุหรี่น้อยๆ เป็นคนที่ติดบุหรี่ไม่มาก การเลิกสูบจะง่าย ไม่ทุกข์ทรมาน และส่วนใหญ่จะเลิกได้ด้วยตนเอง โดยไม่ต้องไปหาแพทย์หรืออาศัยยาช่วยแต่อย่างใด

ใช้โอกาสในช่วงเดือนพฤษภาคม ซึ่งวันที่ 31 พฤษภาคม เป็นวันงดสูบบุหรี่โลก ลด ละ เลิกบุหรี่ ถือเป็นของขวัญให้กับตัวเองและครอบครัว "เป็นครอบครัวปลอดบุหรี่ บ้านปลอดบุหรี่ สู่สังคมปลอดบุหรี่แบบยั่งยืน" 

ข้อมูลโดย : กองบรรณาธิการ Smart Online  วันที่ 2 พฤษภาคม 2560