เจอไม้งามเมื่อขวานจวนบิ่น

คอลัมน์ : นานาทัศนะ

คัดลอกบางส่วนจาก พระนิพนธ์ "เจอไม้งามเมื่อขวานจวนบิ่น" สมเด็จพระอริยวงศษคตญาณ (วาสนามหาเถระ) สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปรินายก พ.ศ.2530

ยังมีอีกเรื่องที่พอจะเล่าฝากให้ช่วยกันจำไว้ คือการเลิกสูบบุหรี่ เพราะเห็นว่าได้เคยเป็นตัวอย่าง ให้มีผู้งดสูบบุหรี่ตามอย่างได้หลายราย จึงอยากให้แพร่หลายชวนให้เลิกสูบบุหรี่ได้อีกต่อไปอย่างกว้างขวาง 

บุหรี่เราเริ่มติดมาตั้งแต่อุปสมบทเป็นพระภิกษุนั้น เพราะได้เคยกระหยิ่มอยากสูบมาตั้งแต่เป็นสามเณรเล็กๆ เห็นพระผู้ใหญ่มีกล่องบุหรี่ยาเส้น มีใบตองหรือใบจากเป็นเครื่องใช้มวนสูบ ให้นึกอยากจะมีกล่องบุหรี่เช่นนั้นบ้าง ดูเป็นผู้หลักผู้ใหญ่ดี กล่องกระดาษใส่สบู่เอามาทำเป็นกล่องบุหรี่ยาเส้น มวนเองด้วยใบจากบ้าง ใบตองบ้าง กลีบดอกบัวบ้าง รู้สึกเป็นของแก้เคอะเขินเมื่อต้องรับแขกอย่างหนึ่ง สมัยนั้นไม่มีใครพรรณาโทษของบุหรี่กันเลยเพราะติดกันทั่วไป เว้นแต่เด็กอายุต่ำกว่า 10 ขวบ ผู้ใหญ่จึงจะห้ามไม่ให้สูบ ว่าจะทำให้ตับดำ (เป็นโทษไม่ดีอย่างไรไม่ทราบ) 

นอกจากบุหรี่ไทยมวนด้วยเส้นยาไทย ก็ยังมีบริษัทตั้งขึ้นใหม่ใช้เส้นยาจากเมืองนอก (ประเทศไหนบ้างไม่รู้ นอกจากเมืองไทยแล้วเป็นเรียกเมืองนอกทั้งนั้น) มวนด้วยกระดาษ รสจืด เด็กหัดสูบใหม่มักชอบ แต่ผู้ใหญ่คอสูงไม่นิยมสูบ มักโทษว่าสูบยามวนด้วยกระดาษชวนให้ไอ จะเป็นฝัีในท้อง 

เคยลองชวนเพื่อนพระเณร เลิกสูบบุหรี่กันอยู่คราวหนึ่ง แต่ก็ทนหมู่มากลากไปไม่ได้ จึงเลิกอยู่ได้ไม่ถึงเดือน ก็กลับหันมาสูบต่อไปตามเดิม ต่อมาราว พ.ศ.2500 ต้องเข้ารับการผ่าตัดไส้ติ่งอยู่ที่โรงพบาบาลจุฬาลงกรณ์ ขณะที่พักฟื้นอยู่ที่ตึกสามัคคี พยาบาลชวนให้งดสูบบุหรี่ได้  เพราะรู้สึกเหม็น แต่พอ 4 วันเลยไป แผลผ่าตัดติดสนิทดีแล้ว ความกระหายอยากสูบกลับขึ้นมาอีก  ก็ลองบุหรี่กระดาษของโรงงานไทยดูบ้าง จึงเริ่มติดรสบุหรี่กระดาษแต่นั้นมา 

ถึงสมัยได้รับแต่งตั้งเป็นกรรมการมหาเถรสมาคม ทุกคราวประชุมประมาณเดือนละ 2 ครั้ง ถูกรับรองด้วยบุหรี่กระดาษยี่ห้อการิก เป็นบุหรี่ชั้นดี ทุกคราวประชุมทำให้คอสูง สูบอย่างอื่นไม่อร่อย ไม่หายอยาก ต้องสูบยี่ห้อนี้จึงจะถึงใจ เมื่อศิษยานุศิษย์ผู้เคารพนับถือเห็นว่าชอบสูบบุหรี่ยี่ห้อนี้  ต่างก็ปรนเปรอถวาย จะเดินทางไปไหนมาไหนก็ต้องเตรียมบรรจุย่าม พร้อมด้วยไม้ขีดไฟแช็คให้เพียงพอ เพราะสูบยี่ห้ออื่นไม่หายอยาก ติดรสเพราะการิกเท่านั้น ถ้าเป็นการเดินทางแรมคืนแรมวัน ต้องเตรียมเพื่อกะให้พอสูบจนกว่าจะกลับ 

เมื่อตกเป็นทาสของบุหรี่เช่นนี้ เพีียงเป็นภาระต้องแสวงหาตระเตรียมมิให้ขาดตกบกพร่องก็พอทำเนา ที่ร้ายแรงนั้นก็คือ ทำให้ลิ้นไม่รับรสอาหาร ชวนให้เบื่อง่าย ร่างกายจึงได้อาหารไม่เพียงพอ น้ำหนักตัวลดเหลือ 45 กก. แม้จะรับทานยาบำรุงหลายขนาน มีวิตามินเป็นต้น ก็สู้ฤทธิ์บุหรี่ไม่ได้ ร่างกายจึงซูบซีดหมดราศี ถึงกับเพื่อนฝูงบางท่านวิตกแทนว่า ชีวิตจะไม่ยืดยาวเสียกระมัง แต่ตัวเองก็ยังไม่เห็นโทษบุหรี่ คงรักรสบุหรี่ยิ่งกว่าสุขภาพของตัวเองอย่างเดิม เพียงแต่จะหายาที่ช่วยเจริญอาหารประทังชีวิตอยู่เท่านั้น 

กาลเวลาล่วงมาจนถึงภายในพรรษา พ.ศ.2512 เดือนตุลาคม เขาจะนำภาพยนตร์ที่แสดงโทษการสูบบุหรี่มาฉายให้ภิกษุสามเณรชม จะได้เปิดโอกาสให้เห็นโทษของบุหรี่บ้าง ขั้นแรกรู้สึกอึดอัด ครั้นจะปฏิเสธก็ดูเป็นว่าเราผู้ปกครองภิกษุสามเณรไม่ส่งเสริมนโยบายของทางราชการ ที่สุดก็ตอบตกลง ใช้ตำหนักอรุณเป็นสถานที่ฉายให้ได้ชมทั่วๆ กัน จนเรียกล้อสถานที่นี้ว่า "เฉลิมอรุณ" 

ถึงวันเวลาฉาย เจ้าหน้าที่ได้นำปอดของคนที่ฟอกสะอาดแล้ว 2 ปอด ปอด 1 มีสีดำเป็นหย่อมๆ ว่าเป็นปอดของผู้สูบบุหรี่ (จะตรงกับที่คนโบราณห้ามเด็กไม่ให้สูบบุหรี่ว่าตับจะดำกระมัง) ส่วนอีกปอดสีนวลเหลืองไม่ดำ ว่าเป็นปอดของผู้ไม่สูบบุหรี่  ดูปอดกันทั่วถึงแล้วเริ่มฉายพร้อมกับพากย์อธิบายโดยละเอียดจนจบ ภาพยนต์ที่ฉายเป็นภาพสีธรรมชาติ ตอนแสดงให้เห็นปอดและอวัยวะภายในจะเห็นสีเลือดแดงชวนเสียวไส้ บางท่านไม่สามารถทนดู เพราะชวนวิงเวียนเป็นลมก็มี 

เมื่อเสร็จการฉายแล้ว ความคิดก็แล่นขึ้นว่า นี่เขานำของจริงที่เป็นโทษมาให้ดุ มิใช่ของหลอกลวงเรารู้เห็นแล้ว ขืนยังทนสูบบุหรี่อยู่ต่อไป ศิษยานุศิษย์ ภิกษุสามเณรก็จะคิดว่า แม้ความผิดประการอื่นๆ เราผู้เป็นหัวหน้าปกครองก็คงละไม่ได้ อย่างนี้ไม่สมศักดิ์ศรีหัวหน้าผู้ปกครองที่ดีเลย ทำให้มุมานะจะต้องเลิกสูบบุหรี่เพื่อรักษาเกียรติผู้ปกครองให้ได้ จึงอธิษฐานใจเลิกสูบตั้งแต่คืนวันนั้น เวลาประมาณ 21 น.เศษ ทั้งที่ในย่ามยังมีบุหรี่เต็มซองอยู่

รุ่งขึ้นเวลาเช้า ฉันอาหารแล้วถึงเวลาที่จะสูบบุหรี่ ฉันน้ำชาจีนสลับคู่กันไป สติก็เตือนว่าตั้งใจจะเลิกสูบแล้ว ควรรักษาความตั้งใจไว้ ค่อยแก้การอยากสูบบุหรี่ด้วยการดื่มน้ำชาร้อนแทน บังคับใจอยู่ได้ประมาณ 7 วัน รู้สึกลิ้นรู้รสดีขึ้น เปรีัยว หวาน มันเค็ม อร่ยอชวนให้อยากบริโภคผิดกว่ายามสูบบุหรี่ เป็นกำลังใจให้คงงดสูบต่อไป เมื่อวันเวลาผ่านไปได้ 7 วัน ถึงเวลาลงทำวัตรเย็น พอหมดพิธีได้หันไปถามพระเณรว่า เมื่อดูภาพยนตร์เรื่องโทษของบุหรี่แล้ว มีใครงดสูบบุหรี่ได้บ้าง ปรากกฎว่าไม่มีใครสามารถงดสูบได้เลย จึงแจ้งให้พระเณรทั้งนั้นทราบว่า เราเลิกสูบบุหรี่ได้ 7 วันแล้ว จะเลิกสูบได้เด็ดขาดต่อไปหรือไม่ ยังไม่แน่ แต่ก็จะพยายามอาศัยความพยายามควบคุมตนเองเป็นหลักสำคัญ 

งดสูบมาได้ประมาณ 1 เดือน ลองชั่งน้ำหนักตัวเข็มชี้บอกเลขที่ 50 แสดงว่าน้ำหนักเพิ่มขึ้นแล้ว จึงมั่นใจแน่วแน่ที่จะเลิกสูบบุหรี่อย่างเด็ดขาด เมื่อเลิกสูบบุหรี่มาได้ประมาณ 2 เดือน ร่างกายมีเลือดฝาด ผิวพรรณดีขึ้น ถึงกับรับการทักทายจากเพื่อนฝูงว่าได้ยาอะไรมา บริโภคจึงมีเลือดฝาดดีขึ้น จึงตอบเป็นสำนวนว่า "ฉันยาเลิกสูบบุหรี่" 

ขอบรรดาญาติมิตร ศิษยานุศิษย์ผู้เคารพนับถือ ผู้ที่ยังตกเป็นทาสของบุหรี่อยู่ จงตัดใจเลิกสูบบุหรี่ โดยเด็ดขาดเถิดชีวิตจะได้พบความสุขสำราญอย่างแท้จริง แม้จะเลิกได้ภายหลังก่อนสิ้นชีวิต ก็ยังนับว่าเป็นโชคดี ที่พบ "ไม้งาม เมื่อขวานจวนบิ่น" 

ข้อมูล : ปัจจัยสำคัญที่พระภิกษุสงฆ์มีอัตราการสูบบุหรี่ลดลงน้อยกว่ากลุ่มครู และแพทย์ เนื่องจากติดบุหรี่ตั้งแต่ก่อนบวช อีกทั้งไม่มีการรณรงค์ ลด ละ เลิกบุหรี่ในกลุ่มพระมากนัก แม้มีกฎหมายให้วัดเป็นพื้นที่ห้ามสูบบุหรี่ ก็ไม่มีการเข้าไปกวดขัน จับกุม นอกจากนี้ ยังมีการถวายบุหรี่แก่พระสงฆ์โดยเฉพาะในชนบทที่มีประมาณร้อยละ 10 ช่วงเข้าพรรษา จึงเป็นโอกาสที่จะมีการรณรงค์เรื่องการลด ละ เลิกสูบบุหรี่ในกลุ่มพระภิกษุสงฆ์ให้เกิดประสิทธิผลมากขึ้น" 

สามารถดาวน์โหลด พระนิพนธ์ฉบับเต็มได้ ที่นี่ 

เรียบเรียงโดย สุขสันต์ เสลานนท์ กองบรรณาธิการ Smartonline วันที่ 9 พฤษภาคม 2560

 

 

เอกสารดาวน์โหลด