ในปี พ.ศ.2523 องค์การอนามัยโลกประกาศเป็นปีแห่งการไม่สูบบุหรี่ และนำมาสู่ความตื่นตัวในการแสวงหาและวิเคราะห์ข้อมูลเกี่ยวกับอันตรายจากการสูบบุหรี่ต่อสุขภาพกันอย่างกว้างขวาง ซึ่ง ศ.นพ.ประเวศ วะสี รองประธานมูลนิธิหมอชาวบ้านในขณะนั้น ได้มีโอกาสไปร่วมประชุมกับหน่วยงานนี้ในต่างประเทศโดยตลอด จึงรับรู้ข้อมูล เรื่องพิษภัยจากบุหรี่ที่มีการศึกษาในหลาย ๆ ประเทศ ซึ่งแสดงแนวโน้มไปในทิศทางเดียวกัน คือ บุหรี่ได้กลายเป็นสาเหตุแห่งการเจ็บป่วย และเสียชีวิตมากยิ่งขึ้นเรื่อย ๆ ขณะเดียวกัน ด้วยระยะเวลาอันยาวนานถึง 20- 30 ปี กว่าที่อาการของโรคภัยไข้เจ็บจะปรากฏ ทำให้ความตระหนักถึงพิษภัยของบุหรี่ต่อสุขภาพถูกละเลย ไม่ได้รับการใส่ใจจริงจังมาโดยตลอด
ในปี พ.ศ.2528 ศ.นพ.ประเวศ จึงได้พูดคุยกับกลุ่มคนทำงานในองค์กรพัฒนาเอกชนด้านสาธารณสุขว่า อยากให้ช่วยกันรณรงค์ให้คนไทยลดการสูบบุหรี่ลง และสร้างค่านิยมที่ไม่สูบบุหรี่แก่คนรุ่นใหม่ การปรึกษาหารือร่วมกัน และเห็นพ้องกันว่า ต้องมีการรณรงค์ในเรื่องนี้อย่างจริงจังและต่อเนื่อง จึงมีการมอบหมายให้คณะกรรมการประสานงานองค์กรพัฒนาเอกชนด้านสาธารณสุข หรือ คปอส. ศึกษา รวบรวมข้อมูล และประสานงานกับฝ่ายต่าง ๆ เพื่อจัดตั้งเป็นคณะทำงานขึ้น
ด้วยความร่วมมือของบุคคลและองค์กรที่สนใจ มีการยกร่าง จัดทำโครงงาน กิจกรรม และจัดตั้งคณะกรรมการขึ้นมา โดยเชิญ ศ.นพ.ประเวศ วะสี เป็นประธาน ศ.นพ.อรรถสิทธิ์ เวชชาชีวะ อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล ซึ่งเคยร่วมงานด้านวิชาการและพัฒนาวงการแพทย์ร่วมกับ ศ.นพ.ประเวศ มานาน เป็นรองประธาน และยังมีแพทย์รุ่นใหม่ที่ต้องการเห็นการเคลื่อนไหวเชิงรุกในการรณรงค์ปัญหาบุหรี่อีก 2 ท่าน คือ ศ.นพ.ประกิต วาทีสาธกกิจ อายุรแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคปอด และ ผศ.นพ.ไพบูลย์ สุริยะวงศ์ไพศาล แพทย์ที่สนใจมิติทางสังคมวัฒนธรรม ร่วมเป็นกรรมการ โดยมี นางสาวบังอร ฤทธิภักดี เป็นเจ้าหน้าที่ประจำโครงการเต็มเวลาเป็นคนแรก
หลังจากที่มีการหารือในที่ประชุมอย่างกว้างขวาง ชื่อ “โครงการรณรงค์ต่อต้านการสูบบุหรี่” ที่มีการเสนอสู่ที่ประชุมในครั้งแรก ก็ได้ถูกปรับเปลี่ยนเสียใหม่เป็น “โครงการรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่” เพื่อนำเสนอความรู้สึกในเชิงบวก หลีกเลี่ยงปฏิกิริยาต่อต้านจากสังคมบางส่วน
แนวทางการรณรงค์เชิงบวกนี้ ได้ถูกยึดเป็นแนวทางหลักของโครงการรณรงค์ฯ ตลอดปีที่ผ่านมา และเป็นกลยุทธ์สำคัญที่ทำให้กระแสการรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ได้รับการขานรับจากสังคม
ผู้ก่อตั้งได้ร่วมกันกำหนดหลักการของมูลนิธิรณรงค์ฯ ขึ้น 3 ข้อ คือ
ซึ่งมูลนิธิรณรงค์ฯ จะต้องมีการประสานงานกับกลุ่มเป้าหมาย 3 อันดับแรก เพื่อให้ร่วมกันรณรงค์อย่างต่อเนื่อง คือ
ในปี พ.ศ.2529 จึงได้กำเนิดผลงานชิ้นแรกเริ่มประเดิมโครงการในรูปของสื่อรณรงค์ 2 ชิ้น คือ การจัดพิมพ์สติกเกอร์ “เขตปลอดบุหรี่” และจัดทำสไลด์ชุด “คนกับบุหรี่” โดยได้รับทุนสนับสนุนจากสโมสรโรตารี่ดุสิต และผลปรากฎว่าสื่อทั้งสองชิ้นได้รับความสนใจเป็นอย่างดี เขตปลอดบุหรี่กลายเป็นสื่อหลักที่ใช้ในการรณรงค์จนถึงปัจจุบัน ซึ่งได้มีการผลิตเพื่อเผยแพร่จำนวนหลายแสนแผ่น และสไลด์ชุดแรกนี้ได้ทำสำเนาเผยแพร่ออกไปมากกว่า 500 ชุด
สื่อมวลชน ซึ่งเป็นกลุ่มเป้าหมายแรกได้ให้ความสำคัญและความคาดหวังกับการเริ่มต้นของโครงการรณรงค์ฯ อย่างกว้างขวาง เช่น “ซูม” คอลัมนิสต์ของหนังสือพิมพ์ไทยรัฐ และสนิทสุดา เอกชัย จากหน้าสารคดี “เอาท์ลุค” ของหนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์ ต่างก็แสดงความเชื่อมั่นไว้ในข้อเขียนของตนว่า การเริ่มต้นครั้งนี้จะไม่เป็นเหมือนดั่ง “ไฟไหม้ฟาง”
ในเดือนตุลาคม ปี พ.ศ.2530 การรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ เริ่มขยายผลกว้างไกลออกไปยิ่งขึ้น เมื่อโครงการรณรงค์ฯ ร่วมกับชมรมแพทย์ชนบท ซึ่งมี น.พ.ชูชัย ศุภวงศ์ เป็นประธานชมรมในขณะนั้น จัดงานวิ่งรณรงค์จากทุกภาคของประเทศมุ่งสู่กรุงเทพมหานคร โดยวางเป้าหมายเพื่อให้ประชาชนตระหนักถึงพิษภัยบุหรี่พร้อมกับล่ารายชื่อแสดงประชามติเห็นด้วยกับการไม่สูบบุหรี่
รายชื่อที่นักวิ่งรณรงค์รวบรวมได้ 5,900,000 คน ได้ถูกมอบสู่มือ ฯพณฯ ชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎรในขณะนั้น เพื่อเป็นเครื่องยืนยันว่าคนไทยต้องการกฎหมายควบคุมการสูบบุหรี่และกฎหมาย ที่ให้ความคุ้มครองสุขภาพคนส่วนรวมจากควันบุหรี่ โดยในขณะนั้นประเทศไทยยังไม่มีกฎหมายในเรื่องดังกล่าว มีเพียงแต่ข้อบัญญัติห้ามสูบบุหรี่ในโรงภาพยนตร์และรถโดยสารประจำทางเท่านั้น
ท่าทีของรัฐบาลต่อเรื่องของบุหรี่ในช่วงเวลาดังกล่าวเต็มไปด้วยความสับสนยิ่ง ที่เห็นได้ชัดเจนก็คือ ในช่วงเดือนมกราคม พ.ศ.2531 รัฐบาลได้มีนโยบายขัดแย้งกัน โดยในทางหนึ่งให้กระทรวงสาธารณสุข ไปจัดทำร่างแผนงานควบคุมการบริโภคยาสูบ ขณะที่อีกทางหนึ่งได้อนุมัติให้มีการเพิ่มกำลังผลิตของโรงงานผลิตยาสูบเพิ่มขึ้น
ในปี พ.ศ.2532 กระแสวิพากษ์วิจารณ์เรื่องของบุหรี่ในบ้านเราทวีความเข้มข้นสูงขึ้น เมื่อสหรัฐอเมริกาแสดงท่าทีเด็ดเดี่ยวว่าต้องการ “ง้าง” ตลาดบุหรี่ที่ไทยเคยปิดตายสำหรับบุหรี่นอกตลอดมา โดยการยื่นคำขาดให้รัฐบาลไทยยินยอมให้บุหรี่จากต่างประเทศเข้ามาวางขายในเมืองไทยได้อย่างถูกกฎหมาย
เหตุการณ์ในครั้งนี้ นำไปสู่จุดหักเหสำคัญของโครงการรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ เพราะกลายเป็น “ปัญหาที่นำไปสู่โอกาส” ทำให้เกิดการรวมตัวระหว่างฝ่ายต่างๆ ที่ห่วงใยต่อสถานการณ์ที่จะเกิดขึ้น ทั้งจากองค์กรในและนอกประเทศ โดยมีโครงการรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ ซึ่งในขณะนั้นมี ศ.นพ.ประกิต วาทีสาธกกิจ เลขาธิการ ฯ ร่วมเป็นหนึ่งในแกนหลัก
สถานการณ์ดังกล่าวทำให้รูปธรรมที่ไทยจำเป็นต้องมีกฎหมายคุ้มครองสุขภาพประชาชนจากพิษภัยบุหรี่ถูกสะท้อนให้เห็นชัดเจนยิ่งขึ้น ส่งผลให้สื่อมวลชนหันมาให้ความสำคัญกับการเสนอข่าวและข้อมูลเกี่ยวกับพิษภัยบุหรี่ และกดดันให้รัฐบาลเร่งออกกฎหมายมาเตรียมรับมือกับความเปลี่ยนแปลงของตลาดบุหรี่ในประเทศโดยเร็ว ปัจจัยเหล่านี้ทำให้ความตื่นตัวในเรื่องของบุหรี่ในระดับการเมืองเกิดขึ้นอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ และในที่สุดรัฐบาลก็ได้ยอมรับอย่างเป็นทางการว่าการรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ถือเป็นนโยบายข้อหนึ่งของรัฐบาล
และในปี พ.ศ.2535 ประเทศไทย จึงได้มี “พรบ.ควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ” และ “พรบ.คุ้มครองสุขภาพของผู้ไม่สูบบุหรี่” ในช่วงรัฐบาลของ ฯพณฯ อานันท์ ปันยารชุน นายกรัฐมนตรี ซึ่งเป็นผลโดยตรงจากการทำงานอย่างหนักของผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่ายในครั้งที่ไทยถูกบีบให้เปิดตลาดบุหรี่นอกในปี พ.ศ.2532 นั้นเอง
หลังวิกฤติการณ์ผ่านพ้น ความเคลื่อนไหวของโครงการรณรงค์ฯ ได้ปรับเปลี่ยนจากการผลักดันนโยบาย ซึ่งได้คลี่คลายออกมาเป็นกฎหมายทั้งสองฉบับดังกล่าว มาเป็นการประชาสัมพันธ์เผยแพร่ข้อมูลแบบ “ซึมลึก” ทั้งในการเสริมสร้างค่านิยมใหม่ให้คนทุกวัยห่างไกลจากการสูบบุหรี่ และการสร้างเครือข่ายและขยายแนวร่วมในการรณรงค์
นับจากปี พ.ศ.2536 เป็นต้นมา กลุ่มเป้าหมายในการรณรงค์ได้ถูกกำหนดขึ้นใหม่ให้มีความชัดเจนและเฉพาะเจาะจงมากขึ้น เป็น 6 กลุ่ม คือ เด็ก เยาวชน ผู้หญิง พระภิกษุ สำนักงาน และคนที่อยากเลิกสูบบุหรี่ โดยเนื้อหาในการรณรงค์ ลักษณะกิจกรรม และสื่อที่ใช้แตกต่างกันออกไป
อย่างไรก็ตาม ใน 6 กลุ่มนี้ เด็กและเยาวชนถือเป็นกลุ่มเป้าหมายสำคัญอันดับแรกสุดของโครงการรณรงค์ฯ เพราะถือว่าการป้องกันตั้งแต่แรกเริ่มจะช่วยสกัดกั้นปัญหาอื่น ๆ ที่จะเกิดตามมาอย่างได้ผลที่สุด ในการดำเนินงานนั้น ด้วยข้อจำกัดด้านงบประมาณ โครงการรณรงค์ฯ จึงพุ่งเป้าไปที่การรณรงค์ฯ ทางสื่อสารมวลชนเป็นหลัก ทำให้กิจกรรมของโครงการรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ในช่วงที่ผ่านมีลักษณะเฉพาะคือ จะเป็นกิจกรรมที่สร้างสรรค์ขึ้นมาเพื่อให้สอดรับกับกระแสสังคมและ ไม่ยึดติดกับรูปแบบใดรูปแบบหนึ่งตายตัว เช่น การจัดกิจกรรมที่เข้ากับวาระพิเศษต่าง ๆ ได้แก่ วันพ่อ วันเด็ก วันวาเลนไทม์ จัดประกวดงานศิลปะ แข่งขันเต้นแอโรบิค ฯลฯ ภายใต้เนื้อหารณรงค์เชิญชวนให้ทุกคนห่างไกลจากบุหรี่
ด้วยความเป็นองค์กรที่ปลอดผลประโยชน์ในเชิงธุรกิจ จึงมีดาราหรือคนดังขวัญใจวัยรุ่น อาสามาเป็นตัวแทนในการสื่อ “สาร” ที่ต้องการจะก่อให้เป็นกระแสค่านิยมใหม่ทั้งในรูปของนายแบบ นางแบบโปสเตอร์ การให้สัมภาษณ์เผยแพร่แก่สื่อมวลชนต่าง ๆ โดยในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา มีบุคคล ซึ่งเป็นที่รู้จักและชื่นชอบของประชาชน อาสาเข้ามาช่วยโครงการรณรงค์มากกว่า 40 คน รวมทั้งยังได้รับความร่วมมือจากผู้ป่วยที่มีประสบการณ์ทนทุกข์ทรมานจากโรคที่มีสาเหตุจากบุหรี่ มาช่วยกันย้ำเตือนสังคม ให้ตระหนักถึงอันตรายของการสูบบุหรี่ โดยที่หลายต่อหลายรายเป็นบุคคลมีชื่อเสียง และมีศรัทธาสละเวลาและแรงกายมาร่วมในกิจกรรมต่าง ๆ สม่ำเสมอ เช่น คุณดอกดิน กัญญามาลย์, คุณส.อาสนจินดา ผู้ล่วงลับ และอีกมากมายหลายคนซึ่งส่วนหนึ่งเหลืออยู่เพียงชื่อในวันนี้
ตั้งแต่เริ่มต้นโครงการรณรงค์ฯ เรื่องของการผลิตสื่อที่มีศักยภาพเป็นสิ่งที่ได้รับความสำคัญมาโดยตลอด และสื่อในรูปแบบต่าง ๆ ได้จัดส่งไปยังสื่อมวลชนแขนงต่าง ๆ ซึ่งถือเป็นช่องทางที่สำคัญการการส่งสารไปยังสังคม โดยที่มูลนิธิรณรงค์ฯ จะมีการสำรวจความเคลื่อนไหวอยู่ตลอดเวลาถึงช่องทางสื่อที่มีประสิทธิภาพสูงในการเผยแพร่ข่าวสารข้อมูล
ทุกวันนี้ สื่อและข่าวสารของโครงการรณรงค์ฯ จะถูกส่งไปยังสื่อมวลชนครั้งละ 500–600 ราย โดยจะเป็นการส่งแบบเฉพาะเจาะจงตัวผู้รับเกือบทั้งหมด สิ่งที่ค้นพบจากการทำงานมานาน หนึ่งทศวรรษของโครงการรณรงค์ฯ ก็คือ สื่อมวลชนและครอบครัวเป็นเครือข่ายสำคัญที่ทำให้งานรณรงค์ขยายขอบข่ายไปอย่างกว้างขวาง
ขณะเดียวกัน ก็พบว่า การรณรงค์กับเด็กเป็นส่วนที่ประสบความสำเร็จสูงสุด และเป็นส่วนที่ได้ประโยชน์สองต่อ คือนอกจากจะสัมพันธ์กับการทำให้พ่อแม่ผู้ปกครองเลิกสูบบุหรี่สำเร็จมามากต่อมากแล้ว ยังมีผลโดยตรงกับพฤติกรรมของเด็กกับการสูบบุหรี่ในอนาคต เมื่อเติบโตขึ้นอีกด้วย
ด้วยแรงบันดาลใจและความมั่นใจจากการสนองตอบอย่างท่วมท้นจากเด็ก ๆ ต่อการรณรงค์ในช่วงแรก โครงการรณรงค์ฯ จึงมีกิจกรรมในระยะช่วงปีหลังที่คิดค้นเพื่อกลุ่มเป้าหมายสำคัญนี้เป็นการเฉพาะหลายโครงการ ไม่ว่าจะเป็น “โครงการเด็กคือดวงใจ” ซึ่งมุ่งผลิตสื่อหลากหลายที่มีเป้าหมายร่วมกันคือให้ทุกฝ่ายคืนสภาพแวดล้อมที่ปลอดบุหรี่แก่เด็ก ๆ โครงการ “ครอบครัวปลอดบุหรี่” “คนรุ่นใหม่ไม่สนใจบุหรี่” และ “ชมรมเยาวชนปอดสะอาด” ที่มีสมาชิก 18,000 คน หลังเริ่มโครงการเพียง 3 ปี
ภารกิจอีกด้านหนึ่งที่กระทำต่อเนื่องควบคู่กับงานรณรงค์กับกลุ่มเป้าหมายก็คือ การเสนอแนะและท้วงติงนโยบายของรัฐบาลชุดต่าง ๆ ที่ผ่านมาในส่วนที่เกี่ยวข้องกับเรื่องของบุหรี่ เริ่มต้นตั้งแต่การรณรงค์ในช่วงแรก ระหว่างปี พ.ศ.2529-2533 ซึ่งมีการรณรงค์คัดค้านการขยายโรงงานยาสูบ เสนอให้รัฐบาลออก กฏหมายห้ามการโฆษณาบุหรี่ รณรงค์คัดค้านการนำเข้าบุหรี่ต่างประเทศ และที่ยืนยันตลอดมาในระยะหลัง ๆ ก็คือ ขอให้มีการเพิ่มราคาขายบุหรี่ให้สูงขึ้นอย่างสม่ำเสมออย่างเหมาะสมตามสภาวะเงินเฟ้อ โดยการขึ้นภาษีบุหรี่ เนื่องจากหลักฐานการวิจัยพบว่าจะมีผลเกี่ยวเนื่องให้วัยรุ่นที่จะเริ่มเข้ามาสูบบุหรี่มีจำนวนน้อยลง เพราะวัยรุ่นเป็นกลุ่มคนที่ยังไม่มีรายได้เป็นของตัวเอง
การผลักดันเรื่องมาตรการภาษี ซึ่งโครงการรณรงค์ฯ กระทำมาโดยตลอดตั้งแต่ปี พ.ศ.2530 ประสบความสำเร็จ โดยรัฐบาลนำมาปฏิบัติเป็นครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ.2537
ปัญหาหนึ่งที่น่าสนใจก็คือ บทบาทจากภาครัฐในการรณรงค์ด้านการดำเนินการ หากหน่วยงานของรัฐที่รับผิดชอบเกี่ยวกับการควบคุมการสูบบุหรี่ ได้มีการประสานงานกับองค์กรเอกชนอย่างใกล้ชิดแล้ว จะสามารถเพิ่มประสิทธิภาพในการทำให้คนสูบบุหรี่ลดลงได้มาก โดยรัฐเน้นทำในสิ่งที่องค์กรเอกชนทำไม่ได้ ในขณะที่องค์กรเอกชนทำในสิ่งที่ระบบราชการทำไม่ค่อยได้ ถ้าทำได้เช่นนี้จะบังเกิดผลงานสูงสุด
งานที่กระทรวงสาธารณสุขควรเน้นคือการดูแลบังคับใช้กฎหมาย การประสานงานและสนับสนุนให้หน่วยงานอื่น ๆ ทำกิจกรรมต่าง ๆ การกำหนดนโยบายที่ก้าวหน้ายิ่ง ๆ ขึ้น และสนับสนุนองค์กรเอกชน ในเรื่องการทำกิจกรรมและการรณรงค์
ตั้งแต่เริ่มโครงการรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ ดำเนินโครงการโดยการสนับสนุนจากมูลนิธิหมอชาวบ้าน ซึ่งเป็นองค์กรเล็ก ๆ แม้ในช่วงระยะ 4 ปีหลัง การปิโตเลียมแห่งประเทศไทย ได้ให้การสนับสนุนการดำเนินงานเป็นเงินจำนวน ปีละ 1 ล้านบาท และมีการเสนอโครงการรายปีของบประมาณสนับสนุนจากกระทรวงสาธารณสุข ที่ประกาศแบ่งงบประมาณส่วนหนึ่งให้แก่โครงการที่องค์กรพัฒนาเอกชนเสนอเข้ามาให้พิจารณา หรือที่เรียกกันสั้น ๆ ว่า “งบเอ็นจีโอ” ซึ่งงบประมาณมีน้อยเกินกว่าจะช่วยสนับสนุนงานขององค์กรต่าง ๆ ให้เติบโตขึ้นได้ อีกทั้งยังมีขั้นตอนที่เกี่ยวเนื่องมากมาย และบางปีก็ไม่ได้รับการจัดสรร ทำให้ไม่มีความสม่ำเสมอ โครงการหลาย ๆ อย่างที่วางไว้ต้องปรับให้แคบลงอยู่เสมอ เพื่อให้เข้ากับงบประมาณที่มีอยู่ สื่อบางชิ้นที่ผลิตขึ้นทำได้เพียงจำนวนจำกัด จนไม่มีโอกาสได้นำไปเผยแพร่ได้อย่างกว้างขวาง หรือไม่สามารถผลิตจำนวนมากพอที่จะใช้ให้เกิดผลเต็มที่ได้ มีสื่อรณรงค์หลายชิ้น ที่ได้รับการคิดค้น สร้างสรรค์ โดยความร่วมมือของครีเอทีฟมือหนึ่ง แต่ไม่สามารถดำเนินการได้ เนื่องจากไม่งบประมาณ ที่จะนำมาผลิต
ขณะที่การดำเนินงานขององค์กรพัฒนาเอกชนในต่างประเทศจะอาศัยเงินจากการสนับสนุนของสาธารณชนทั่วไปเป็นหลัก แต่สำหรับประเทศไทยสภาพดังกล่าวยังห่างไกลเฉพาะกรณีของ โครงการรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่เอง มีรายได้จากการบริจาคของประชาชนเพียงร้อยละ 10 ของงบประมาณทั้งหมดเท่านั้น โดยผู้บริจาคส่วนใหญ่เป็นผู้ป่วยที่ทุกข์ทรมานด้วยโรคที่เกิดจากการสูบบุหรี่ และปีที่ 11 วันที่ 11 เดือนกันยายน พ.ศ.2539 โครงการรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ ตัดสินใจก้าวออกจากร่มของ “มูลนิธิหมอชาวบ้าน” เพื่อเติบโตสู่ “มูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่” อย่างเต็มตัว (22 มกราคม 2540)
จากบทเรียนที่ผ่านมา “มูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่” ยังคงยืนหยัดที่จะทำงานเจาะลึกในกลุ่มเด็กและเยาวชน โดยเน้นแนวทางการรณรงค์ต่อสาธารณชนเช่นเดิม ขณะเดียวกันก็วางแผนเสริมสื่อเฉพาะ ที่ทำให้เข้าถึงกลุ่มคนได้ทั่วถึงยิ่งขึ้น โดยเน้นทั้งในแง่ของความหลากหลาย และมีปริมาณมากเพียงพอ ภายใต้กระบวนการผลิตสื่อที่มีขั้นตอนการวิเคราะห์วิจัยให้เข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้อย่างแท้จริงรวมอยู่ด้วย
โครงการที่กำลังคืบหน้า จะได้รับการสานต่อ และโครงงานสร้างสรรค์อีกมาก มีโอกาสที่จะดำเนินการให้เป็นจริงได้ หากไร้เสียซึ่ง “แรงใจ” และการสนับสนุนจากทุกส่วนของสังคม งานรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ก ็คงไม่มีวันได้ถือกำเนิดเติบโต และดำรงอยู่ได้ในทศวรรษที่สองและต่อ ๆ ไป
และเป็นเรื่องที่น่ายินดีที่ในปี พ.ศ.2544 รัฐบาลได้มีพระราชบัญญัติกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่เดือนเมษายน 2544 ซึ่งเงินทุนของ สสส. มาจากร้อยละ 2 ของภาษีสุราและบุหรี่ ที่รัฐเก็บได้ในแต่ละปี ซึ่ง สสส. มีหน้าที่ผลักดัน กระตุ้น สนับสนุน และให้ทุนแก่หน่วยงานต่าง ๆ ในสังคม ให้เกิดการขับเคลื่อนกระบวนการสร้างเสริมสุขภาพ เพื่อให้บรรลุผลในการลดอัตราการเจ็บป่วยและเสียชีวิตก่อนวัยอันควร ดังนั้น จึงเป็นโอกาสที่ดี ที่มูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ จะมีส่วนในการนำงบประมาณนี้มาพัฒนางานรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ให้เป็นรูปธรรมมากยิ่งขึ้น