คอลัมน์ : เก็บมาฝาก
ความเชื่อเกี่ยวกับบุหรี่ คือช่วยคลายความเครียด ลดความเหงาที่ต้องใช้ชีวิต "หลังกำแพงสูง" ไร้อิสรภาพ แถมยังแออัด เหล่านี้เอื้อให้ผู้ต้องขังกลายเป็นสิงห์อมควัน "บั่นทอนสุขภาพ" ของตนมากขึ้น โศรยา ฤทธิ์อร่าม ผู้บัญชาการเรือนจำกลางกำแพงเพชร กล่าวว่า เรือนจำ กลางกำแพงเพชรเป็นพื้นที่ "นำร่อง" ของกรมราชทัณฑ์ ส่งเสริมให้ผู้ต้องขัง ลด ละ เลิกสูบบุหรี่ โดยเริ่มมาตั้งแต่ปี 2554 ที่ผ่านมาช่วยให้ผู้ต้องขังเลิกสูบบุหรี่เด็ดขาดได้แล้ว 82 ราย และลดการสูบให้น้อยลงได้ 24 ราย "ผู้ต้องขังนั้นมีพื้นฐานของสังคมที่ใช้บุหรี่จนเป็นเรื่องปกติ เหมือนกับกิจวัตรประจำวันอื่นๆ อย่างกินข้าวก็ต้องกินคู่กับน้ำ ซึ่งทุกพฤติกรรมของมนุษย์เป็นแบบนี้ตั้งแต่ภูมิหลังแล้ว เพราะฉะนั้น จะให้เขาเลิกภายในวันสองวันมันเป็นไปไม่ได้ เราได้ดำเนินการมาสักระยะหนึ่งอย่างค่อยเป็นค่อยไป" ผบ.เรือนจำกลางกำแพงเพชร
ในปี 2558 เครือข่ายพยาบาลเพื่อการควบคุมยาสูบ ร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ สสส. ได้เข้ามาร่วมสนับสนุน ซึ่ง นพ.บัณฑิต ศรไพศาล รองผู้จัดการ สสส. เปิดเผยว่า "เรือนจำกลางกำแพงเพชร กำหนดพื้นที่ปลอดบุหรี่" ห้ามสูบเด็ดขาด อาทิ เรือนนอน สถานพยาบาล หากผู้ใดฝ่าฝืนจะต้องถุกลงโทษ แต่ที่ค่อนข้าง "แรง" คือ มาตรการลงโทษแบบรวมยกกลุ่ม "การดูโทรทัศน์" ถือเป็นความบันเทิงสำคัญของผู้ต้องขังในเรือนจำ บทลงโทษจึงถูกกำหนดว่า หากมีผู้สูบบุหรี่ในเรือนนอนของแต่ละแดน แม้เพียงคนเดียวจะถูกลงโทษด้วยการ "ปิดทีวี" ไม่ให้ดูทันที "ผิดครั้งแรกปิดทีวี 3 วัน ครั้งที่ 2 ปิดทีวีเป็นเวลา 7 วัน และครั้งที่ 3 จะต้องปิดทีวีเป็นเวลา 30 วัน มาตรการดังกล่าวทำให้ผู้ต้องขังควบคุมกันเอง เพราะหากทำผิดเพียงคนเดียวจะถูกลงโทษกันหมดทั้งเรือนนอน จึงทำให้ควบคุมง่ายขึ้น
ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นจากนวัตกรรมการพัฒนาของเรือนจำ" นาย ท. (นามสมมุติ) ผู้ต้องขัง ได้พูดถึงโครงการฯ นี้ว่า ตนเองเป็นคนหนึ่งที่ติดบุหรี่หนักมาก แต่ก่อนต้องสูบ "อย่างน้อยวันละ 2 - 3 ซอง กระทั่งรู้สึกว่าตัวเองป่วยบ่อย สุขภาพเริ่มไม่ค่อยจะแข็งแรง จึงนึกถึง "ครอบครัว" อยากจะทำอะไรดี ๆ เพื่อพวกเขาบ้าง ทำให้ตัดสินใจเข้าร่วมโครงการเลิกสูบบุหรี่ของทางเรือนจำ "ช่วงแรกๆ ที่เริ่มเลิกนั้น ยากมาก จากคนเคยสูบมาตลอดแต่วันหนึ่งต้องตัดออกไปเลย รู้สึกหงุดหงิด จึงเข้าร่วมโครงการของเรือนจำ เพราะคิดว่ามันดีกว่าที่เราจะเลิกเอง ถึงแม้วันนี้เราจะยังเลิกไม่ได้เต็มร้อย แต่สักวันหนึ่งเราจะเลิกมันได้เด็ดขาดอย่างแน่นอน" ผู้ต้องขังรายนี้ กล่าวอย่างเชื่อมั่น
ดร.สุรินธร กลัมพากร เลขาธิการเครือข่ายพยาบาลเพื่อการควบคุมยาสูบ แห่งประเทศไทย ผู้รับผิดชอบโครงการสร้างสิ่งแวดล้อมปลอดบุหรี่ในเรือนจำ "โครงการฯ นี้ มีเป้าหมายเพื่อให้เรือนจำเป็นเขตปลอดบุหรี่ และบูรณาการกับงานประจำเพื่อส่งเสริมการบริการเลิกยาสูบ โดยมีแนวทางการทำงานเพื่อให้เกิดคณะทำงาน การสร้างสิ่งแวดล้อมปลอดบุหรี่ในเรือนจำ ให้บริการเลิกบุหรี่กับผู้ต้องขังที่สมัครใจ รวมถึงการควบคุมกำกับให้ปฏบัติตามกฎระเบียบของเรือนจำอย่างเคร่งครัด และติดตามการดำเนินงานของโครงการฯ จากการดำเนินโครงการฯ ในเรือนจำ 13 แห่ง มีผู้ต้องขังได้รับการช่วยเหลือ 750 คน มี 258 คนที่สามารถเลิกบุหรี่ได้ต่อเนื่องเกิน 6 เดือน เรือนจำมีนโยบายการควบคุมยาสูบและการพัฒนาสถานที่ปลอดบุหรี่เพิ่มขึ้น สู่การเป็นต้นแบบเรือนจำปลอดบุหรี่ 3 แห่ง ได้แก่ เรือนจำกำแพงเพชร เรือนจำหล่มสัก จ.เพชรบูรณ์ และเรือนจำกลาง จ.มหาสารคาม
ผลการดำเนินงาน ยอดการจำหน่ายบุหรี่และยาเส้นของร้านค้าในเรือนจำลดลงถึงร้อยละ 50 มีปัจจัยสำคัญที่ทำให้ผู้ต้องขังเลิกสูบบุหรี่ คือ ปัญหาเรื่องสุขภาพที่ทรุดโทรม ต้องการทำเพื่อคนรอบข้าง ได้รับความรู้เกี่ยวกับโทษและพิษภัยของบุหรี่ และมีเป้าหมายในใจที่ชัดเจน สำหรับโครงการ ลด ละ เลิกบุหรี่ ของเรือนจำกำแพงเพชร มี 3 ส่วน คือ การจัดนิทรรศการแสดงพิษภัยบุหรี่ จัดสถานที่ปลอดบุหรี่ 100 เปอร์เซนต์ และจัดกลุ่มผู้ต้องขังที่ต้องการเลิกบุหรี่ แม้ว่ายังน้อย แต่ก็ถือเป็นจุดเริ่มต้นที่ดี
ข้อมูลโดย : กองบรรณาธิการ