คอลัมน์ : สารเยาวชน
เมื่อวันที่ 9 ธันวาคม 2564 (ที่ผ่านมา) ณ โรงแรม ณ นิชา รีสอร์ท จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ สถาบันยุวทัศน์แห่งประเทศไทย (ยท.) ร่วมกับมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ ภายใต้การสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับโรงเรียนวัดธงชัยธรรมจักร โรงเรียนวัดดอนยาง และโรงเรียนบ้านสวนหลวง อำเภอบางสะพาน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ เดินหน้าสร้างองค์ความรู้เรื่อง ภัยจากการสูบบุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้า ในกลุ่มเด็กเยาวชนและนักเรียน ชูแนวคิด “เพื่อนเตือนเพื่อน” ลดนักสูบหน้าใหม่ในพื้นที่ชุมชนและสื่อสังคมออนไลน์ ผ่านการเรียนรู้ผลิตสื่อรณรงค์ที่น่าสนใจ ทางแอพพลิเคชั่น Tik tok โดยมี พญ.มธุรดา สุวรรณโพธิ์ ผู้อำนวยการสถาบันราชานุกูล กระทรวงสาธารณสุข ในฐานะประธานกรรมการที่ปรึกษาและนโยบายสถาบันยุวทัศน์แห่งประเทศไทย เป็นประธานในพิธีเปิดกิจกรรม
พญ.มธุรดา สุวรรณโพธิ์ ได้กล่าวว่า “ปัญหาการสูบบุหรี่หรือบุหรี่ไฟฟ้าของเด็กและเยาวชนมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นเป็นอย่างมาก ซึ่งการสูบบุหรี่หรือบุหรี่ไฟฟ้าไม่เพียงแต่สร้างผลกระทบในมิติต่าง ๆ ทั้งด้านสุขภาพทางกาย และด้านสังคม แต่ยังส่งผลต่อความเข้าใจผิดเกี่ยวกับสุขภาพจิตอีกด้วย
“นิโคติน” ที่เป็นส่วนผสมหลักของบุหรี่หรือบุหรี่ไฟฟ้าจะมีส่วนทำให้กลไกทางสมองหรือระบบประสาทผ่อนคลายและคลายเครียดได้ แต่ “นิโคติน” ก็ไม่ควรถูกใช้เป็นทางเลือก ในการลดความเครียดหรือใช้เพื่อความผ่อนคลาย เนื่องจากนิโคตินมีผลกระทบที่รุนแรงต่อร่างกาย ในส่วนต่าง ๆ เช่น เพิ่มความดันโลหิต เพิ่มอัตราการเต้นของหัวใจและการหายใจ เพิ่มความเสี่ยงของการเกิดมะเร็งปอด และอื่น ๆ อีกมากมาย”
นางจุฑาทิพย์ อิทธิศุภเศรษฐ์ ผู้อำนวยการโรงเรียนวัดดอนยาง อำเภอบางสะพาน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ กล่าวด้วยว่า “สถานศึกษาทั้ง 3 แห่ง ได้แก่ โรงเรียนวัดธงชัยธรรมจักร โรงเรียนวัดดอนยาง และโรงเรียนบ้านสวนหลวง ที่เข้าร่วมในโครงการนี้ มีความตระหนักร่วมกันในข้อมูลของสำนักงานสถิติแห่งชาติ ซึ่งรายงานเรื่องอัตราการบริโภคยาสูบของคนไทย ปีพุทธศักราช 2560 ที่ระบุว่า ประชากรที่มีอายุ 15 ปี ขึ้นไปเป็นผู้สูบบุหรี่ 10.7 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 19.1 เป็นกลุ่มเยาวชนไทยอายุ 15-18 ปี สูบบุหรี่ร้อยละ 7.77 หรือคิดเป็นจำนวน 447,084 คน ในจำนวนนี้ ร้อยละ 30 จะสูบบุหรี่ 20 ปี กว่าจะเลิกได้และร้อยละ 70 จะสูบบุหรี่ไปตลอดชีวิตจนป่วยและเสียชีวิต ขณะที่อายุ 19-24 ปี สูบบุหรี่ร้อยละ 20.4 โดยเยาวชนมีอายุเฉลี่ยที่สูบบุหรี่ครั้งแรก 16.2 ปี
จึงเล็งเห็นถึงความสำคัญของการส่งนักเรียน เข้าร่วมกิจกรรม เพื่อเพิ่มทักษะความตระหนักรู้ในการป้องกันตนเองจากการสูบบุหรี่หรือบุหรี่ไฟฟ้า รวมถึงมีส่วนร่วมต่อการช่วยสื่อสารสร้างความตระหนักให้เพื่อน ๆ ในโรงเรียนของตนเองให้มีความเข้าใจเกี่ยวกับภัยอันตรายหรือผลกระทบจากการสูบบุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้า”
ซึ่งทั้ง 3 โรงเรียนที่เข้าร่วมกิจกรรมครั้งนี้ เป็นโรงเรียนขยายโอกาส ซึ่งมีนักเรียนอาศัยอยู่ในชุมชน ในจำนวนหนึ่งเป็นเด็กนักเรียนที่ทั้งสูบบุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้า โดยบทบาทสถานศึกษาอาจบังคับให้นักเรียน เลิกไม่ได้ แต่หากได้ฟังคนรุ่นใหม่ในลักษณะเพื่อนเตือนเพื่อน ก็อาจทำให้เด็กนักเรียนที่สูบบุหรี่ ตัดสินใจเลิกได้เพราะมีตัวอย่างที่ดีมาเล่าสู่กันฟัง” ผู้อำนวยการโรงเรียนวัดดอนยางกล่าว
ข้อมูลโดย : พชรพรรษ์ ประจวบลาภ
Smartnews เผยแพร่ 16 ธันวาคม 2564