คอลัมน์ : จับกระแส
กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ร่วมกับสำนักงานประกันสังคม กรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน กระทรวงแรงงาน สมาพันธ์เครือข่ายแห่งชาติเพื่อสังคมไทยปลอดบุหรี่ เปิดตัวโครงการสนับสนุนการเข้าถึงระบบบริการและยาเลิกบุหรี่แบบครบวงจร โดยเป้าหมายระยะแรกเน้นกลุ่มผู้ประกันตน หวังคืนคนปอด (สุขภาพ) ดี สู่ครอบครัว
เมื่อวันที่ 27 ตุลาคม 2563 นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ รักษาราชการแทนอธิบดีกรมควบคุมโรค เป็นประธานในพิธีเปิดตัวโครงการสนับสนุนการเข้าถึงระบบบริการ และยาเลิกบุหรี่แบบครบวงจร สำหรับผู้ประกันตน ณ โรงพยาบาลปทุมธานี ตำบลบางปรอก อำเภอเมือง จังหวัดปทุมธานี โดยมีผู้บริหารกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน สำนักงานประกันสังคม ผู้ช่วยตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข เขตสุขภาพที่ 4 สำนักงานป้องกันควบคุมโรคที่ 4 จังหวัดสระบุรี
นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดปทุมธานี ผู้อำนวยการโรงพยาบาลปทุมธานี ประธานหอการค้าจังหวัดปทุมธานี ประธานสมาพันธ์เครือข่ายแห่งชาติเพื่อสังคมไทยปลอดบุหรี่ และภาคีเครือข่าย ร่วมเป็นเกียรติในงาน จากมติที่ประชุมคณะกรรมการควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบแห่งชาติ เมื่อวันที่ 8 พฤษภาคม พ.ศ. 2563 ที่ผ่านมา เห็นชอบให้กระทรวงสาธารณสุข ผลักดันให้ทุกโรงพยาบาล จัดตั้งคลินิกเลิกบุหรี่แบบครบวงจร กรมควบคุมโรค
จึงร่วมกับสำนักงานประกันสังคม กรมสวัสดิการสังคมและคุ้มครองแรงงาน กระทรวงแรงงาน และสมาพันธ์เครือข่ายแห่งชาติเพื่อสังคมไทยปลอดบุหรี่ ขับเคลื่อนและผลักดันระบบบริการช่วยเลิกบุหรี่แบบครบวงจรในสถานบริการ สาธารณสุขทุกระดับ เพื่อให้ผู้ที่สนใจเลิกสูบบุหรี่ สามารถเข้าถึงบริการได้โดยง่าย โดยในระยะแรกจะมุ่งเน้นการให้บริการการคัดกรอง/บำบัดในกลุ่มวัยทำงานที่อยู่ ในกลุ่มผู้ประกันตน นอกจากนี้ภายใต้โครงการดังกล่าวยังสนับสนุนการเข้าถึงยาเลิกบุหรี่ฟรี โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการเลิกบุหรี่ในกลุ่มผู้ประกันตนที่ต้องการเลิกบุหรี่และมีความเสี่ยงสูงหรือป่วยด้วยภาวะโรคไม่ติดต่อ เรื้อรัง/โรคเรื้อรังอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง พร้อมทั้งได้พัฒนาเทคโนโลยีระบบติดตามผลการบำบัด และส่งต่อข้อมูลผู้เข้าใช้บริการ เพื่อเชื่อมโยงระหว่างสถานบริการสาธารณสุข/สถานพยาบาลประกันสังคมกับสถาน พยาบาลเครือข่าย/สถานประกอบการในพื้นที่ ซึ่งเป้าหมายของโครงการในระยะแรก คือ การคืนคนปอด (สุขภาพ) ดีสู่ครอบครัวและสังคมให้ได้อย่างน้อย 10,000 ราย ภายในปี พ.ศ.2564
สำหรับสถานพยาบาลที่เข้าร่วมโครงการ ประกอบด้วย โรงพยาบาลศูนย์ โรงพยาบาลทั่วไป โรงพยาบาลชุมชน และ รพ.สต. รวมถึงสถานพยาบาลของรัฐที่อยู่ในเครือข่ายของประกันสังคม และสถานประกอบการในพื้นที่ ที่มีระบบบริการช่วยเลิกบุหรี่ สุรา แบบครบวงจร กลุ่มเป้าหมายที่สามารถเข้ารับบริการโครงการนี้ ได้แก่ กลุ่มผู้ประกันตนในระบบประกันสังคม มาตรา 33 และมาตรา 39 ที่ต้องการเลิกสูบบุหรี่ และผู้ประกันตนที่ป่วยในกลุ่มโรคไม่ติดต่อเรื้อรังหรือโรคเรื้อรังอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง
นายแพทย์โอภาส ขอย้ำเตือนประชาชนว่า ขณะสูบบุหรี่จะไม่มีการสวมหน้ากากผ้าหรือหน้ากากอนามัย เท่ากับเป็นการเปิดโอกาสรับเชื้อโควิด 19 จึงขอความร่วมมือประชาชนเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยผลักดันมาตรการ “เลิกสูบ ลดเสี่ยง” เพื่อปกป้องสิทธิ์ของตนเองและสังคม เพื่อคนไทยสุขภาพดี ไม่ติดโควิด 19 และใช้โอกาสนี้เริ่มต้นในการเลิกสูบบุหรี่ทุกประเภท เพราะการเสียเงินซื้อบุหรี่หรือบุหรี่ไฟฟ้ามาสูบ นอกจากทำลายสุขภาพตัวเองและคนรอบข้างแล้ว ยังเป็นการเพิ่มค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็น ทั้งนี้ สำหรับผู้ต้องการเลิกบุหรี่สามารถเข้ารับบริการได้ที่สถานพยาบาลในสังกัด กระทรวงสาธารณสุขใกล้บ้านท่าน หรือรับคำปรึกษาเพื่อเลิกบุหรี่ โทรฟรีผ่านสายด่วนเลิกบุหรี่ทางโทรศัพท์แห่งชาติ ที่หมายเลขโทรศัพท์ 1600 หรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่กองงานคณะกรรมการควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ กรมควบคุมโรค โทร 02-5903850
ข้อมูลจาก : กองงานคณะกรรมการควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ กรมควบคุมโรค
Smartnews เผยแพร่ 30 ตุลาคม 2563