มูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่
ACTION ON SMOKING AND HEALTH FOUNDATION
Press Release
ศูนย์ข่าว มูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่
วันที่ 25 เมษายน 2566
วันที่ข่าวตีพิมพ์ : สามารถเผยแพร่ได้ทันที
รวมพลังภาคีเครือข่ายควบคุมยาสูบ 26 จังหวัด
ร่วมประกาศเจตนารมณ์ “คนภาคกลาง ตะวันออก และตะวันตก
ไม่เอาบุหรี่ไฟฟ้า”
วันนี้ (25 เมษายน 2566) นายบัญชา เชาวรินทร์ ผู้ว่าราชการจังหวัดนครนายก เป็นประธานในการกล่าวนำภาคีเครือข่ายควบคุมยาสูบ 26 จังหวัด จากภาคกลาง ตะวันออก และตะวันตก กว่า 200 คน ร่วมประกาศเจตนารมณ์ “คนภาคกลาง ตะวันออก และตะวันตก ไม่เอาบุหรี่ไฟฟ้า” ในงานสัมมนาเรื่อง “คนภาคกลางไม่เอาบุหรี่ไฟฟ้า” ซึ่งจัดขึ้นที่โรงแรมภูสักธารรีสอร์ท จ.นครนายก ย้ำจุดยืน คนภาคกลางจะร่วมมือกันรณรงค์ป้องกันประชาชน ภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคตะวันตก ทุกคน โดยเฉพาะเด็กและเยาวชน ให้ปลอดพ้นจากการเสพติดบุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้าทุกรูปแบบ
นายบัญชา เชาวรินทร์ ผู้ว่าราชการจังหวัดนครนายก กล่าวว่า รู้สึกยินดีและเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่ได้เป็นประธานในการประกาศเจตนารมณ์ “คนภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคตะวันตก ไม่เอาบุหรี่ไฟฟ้า” ครั้งนี้ การระดมทุกภาคส่วนของภาคีเครือข่ายควบคุมยาสูบ 26 จังหวัดจากภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคตะวันตก ให้มาร่วมกันรณรงค์ป้องกันการเข้าถึงบุหรี่ไฟฟ้ากับกลุ่มเด็กและเยาวชนถือเป็นวาระแห่งชาติ ที่จะต้องดำเนินการอย่างเร่งด่วน เนื่องจากปัญหาการแพร่ระบาดของบุหรี่ไฟฟ้าขยายวงกว้างไปอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับกลุ่มเด็กและเยาวชน โดยคำประกาศเจตนารมณ์ “คนภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคตะวันตก ไม่เอาบุหรี่ไฟฟ้า” มีแนวทางดังนี้
นายบัญชา เชาวรินทร์ ผู้ว่าราชการจังหวัดนครนายก กล่าวเพิ่มเติมว่า จากข้อมูลการสำรวจของสำนักงานสถิติแห่งชาติปี พ.ศ.2564 พบว่า อัตราการสูบบุหรี่ของประชากรไทยอายุ 15 ปีขึ้นไปล่าสุด เท่ากับ ร้อยละ 17.4 มีจำนวนผู้สูบบุหรี่เท่ากับ 9.9 ล้านคน หากมองภาพรวมของประเทศลดลงจากรอบสำรวจที่ผ่านมา แต่ที่ยังน่าเป็นห่วง คือ ยังมีปัญหาการแพร่ระบาดของบุหรี่ไฟฟ้าขยายวงกว้างไปอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับกลุ่มเด็กและเยาวชน ซึ่งมีความเสี่ยงสูงที่เด็กและเยาวชนที่สูบบุหรี่ไฟฟ้า จะเกิดการเสพติดนิโคตินสารเสพติดตัวเดียวกันกับที่มีอยู่ในบุหรี่ธรรมดาไปตลอดชีวิต
ถึงแม้ว่าขณะนี้ ประเทศไทยได้มีประกาศกระทรวงพาณิชย์ เรื่อง กำหนดให้บารากู่และบารากู่ไฟฟ้าหรือบุหรี่ไฟฟ้าเป็นสินค้าที่ต้องห้ามในการนำเข้ามาในราชอาณาจักร พ.ศ.2557 และ ประกาศของคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค คำสั่งที่ 9/2558 เรื่อง ห้ามขายหรือห้ามให้บริการสินค้า “บารากู่ บารากู่ไฟฟ้าหรือบุหรี่ไฟฟ้า หรือตัวยาบารากู่ น้ำยาสำหรับเติมบารากู่ไฟฟ้าหรือบุหรี่ไฟฟ้า” แต่อย่างไรก็ตาม เนื่องจากการบังคับใช้กฎหมายดังกล่าวยังมีปัญหาทำให้บุหรี่ไฟฟ้าสามารถเข้าถึงได้ง่ายทั้งทางตรงและออนไลน์ และที่สำคัญอุตสาหกรรมยาสูบได้พยายามอย่างมากในการวิ่งเต้นผ่านผู้กำหนดนโยบายเพื่อให้ยกเลิกกฎหมายข้างต้น ซึ่งบทเรียนจากหลายประเทศที่ไม่ได้ห้ามขายบุหรี่ไฟฟ้า ต้องประสบปัญหาอัตราการสูบบุหรี่ไฟฟ้าในกลุ่มเด็กและเยาวชนเพิ่มสูงขึ้นอย่างน่าเป็นห่วง จนเป็นสาเหตุให้หลาย ๆ ประเทศต้องออกกฎหมายห้ามบุหรี่ไฟฟ้า ซึ่งจากข้อมูลผลการสำรวจของสำนักงานสถิติแห่งชาติ ปี 2564 พบว่า ประชากรไทยที่สูบบุหรี่ไฟฟ้า มีจำนวน 78,742 คน คิดเป็นอัตรา 0.14% ของประชากรอายุ 15 ปีขึ้นไป ที่มีจำนวนทั้งหมด 57 ล้านคน เป็นคนที่สูบทุกวัน 40,724 คน และสูบแบบไม่ทุกวัน 38,018 คน โดยผู้ที่สูบบุหรี่ไฟฟ้า 24,050 คน อายุระหว่าง 15-24 ปี ในขณะที่สถานการณ์การสูบบุหรี่ไฟฟ้าในเด็กและเยาวชนเริ่มแพร่ระบาดอย่างหนัก เด็กและเยาวชนเริ่มสูบบุหรี่ไฟฟ้ากันอย่างเปิดเผยดังที่กล่าวข้างต้น ซึ่งหากมีการยกเลิกกฎหมายห้ามขายบุหรี่ไฟฟ้า จะทำให้การแพร่ระบาดของบุหรี่ไฟฟ้าในเด็กและเยาวชนยิ่งรุนแรงมากขึ้น
ด้าน ศ.นพ.ประกิต วาทีสาธกกิจ ประธานมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ กล่าวว่า การสัมมนาเรื่อง “คนภาคกลาง ภาคตะวันออก ภาคตะวันตก ไม่เอาบุหรี่ไฟฟ้า” วันนี้ มีตัวแทนภาคีเครือข่ายควบคุมยาสูบจากทุกภาคส่วนในภาคกลาง ตะวันออก และตะวันตก เข้าร่วม อาทิ ผศ.ดร.ลักขณา เติมศิริกุลชัย ผอ.ศูนย์พัฒนาศักยภาพกำลังคนด้านการควบคุมยาสูบ, ผศ.นพ.สุทัศน์ รุ่งเรืองหิรัญญา เลขาเครือข่ายวิชาชีพสุขภาพเพื่อสังคมไทยปลอดบุหรี่, พญ.อรรัตน์ จันทร์เพ็ญ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดนครนายก,พ.ต.อ.ประสงค์ ศิริทิพย์วานิช รองผู้บังคับการตำรวจภูธรจังหวัดนครนายก,นพ.พงศ์เทพ วงศ์วัชรไพบูลย์ ผอ.การสำนักสนับสนุนการพัฒนาระบบสุขภาพ (สสส),นางจารุวรรณ บุญโต ผอ.สนง.เขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษาปราจีนบุรี นครนายก,ดร.ณัชญานุช สุดชาดี ผอ.สนง.เขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษานครนายก,ผศ.ดร.ไพญาดา สังข์ทอง รองคณบดีฝ่ายพัฒนาศักยภาพนิสิต มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ, ตัวแทนสื่อมวลชนศูนย์ข่าวปลอดควัน, ตัวแทนเครือข่ายครูเพื่อโรงเรียนปลอดบุหรี่, ตัวแทนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นปลอดบุหรี่,ตัวแทนเยาวชน Gen Z Gen Strong เลือกไม่สูบ, ตัวแทนโรงเรียนอนุบาลและศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก ตัวแทนผู้รับผิดชอบงานด้านควบคุมยาสูบจังหวัดต่าง ๆ ดังนั้น ตนจึงขอเชิญชวนทุกท่าน ร่วมกันสื่อสารให้ประชาชนมีความรู้ ความเข้าใจในอันตรายของการเสพติดบุหรี่ไฟฟ้า และแสดงเจตจำนงในการร่วมกันปกป้องเด็ก เยาวชน และคุ้มครองสุขภาพของคนภาคกลาง ตะวันออก และตะวันตก ให้ปลอดพ้นจากการเสพติดบุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้า
หากต้องการข้อมูลเพิ่มเติมกรุณาติดต่อ 02-278-1828