คอลัมน์ : จับกระแส
ผศ.ดร.นพ.วิชช์ เกษมทรัพย์ ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและจัดการความรู้เพื่อการควบคุมยาสูบ (ศจย.) กล่าวในงานเสวนาวิชาการ ณ ห้องเจ้าพระยา ศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร ในหัวข้อ “ข้อเสนอแนะ คนกรุงเทพฯไม่เอาบุหรี่ไฟฟ้า” ในวันที่ 10 พฤษภาคม 2566 ว่า
ปัจจุบันข้อมูลจากทั่วโลกบ่งชี้ว่า บุหรี่ไฟฟ้าก่อให้เกิดผู้เสพติดนิโคตินในกลุ่มเยาวชนเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ดังผลสำรวจของสำนักสถิติแห่งชาติ พ.ศ.2564 พบว่ามีผู้ที่สูบบุหรี่ไฟฟ้า 78,742 คน ในจำนวนนี้ 30% เป็นกลุ่มเยาวชน อายุ 15-24 ปี ซึ่งการสำรวจพฤติกรรมการสูบบุหรี่ การดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ และสารเสพติดอื่นๆ พ.ศ.2565 จากนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 1 ทั่วประเทศ 6,045 ราย พบว่า เยาวชนที่สูบบุหรี่ไฟฟ้ามีแนวโน้มลองสูบบุหรี่ธรรมดาเพิ่มขึ้น 5 เท่า และมีแนวโน้มที่สูบทั้งบุหรี่ไฟฟ้าและบุหรี่ธรรมดาเพิ่มขึ้นถึง 7 เท่า ซึ่งเป็นการย้ำว่าบุหรี่ไฟฟ้าเป็นประตูสู่การสูบบุหรี่ธรรมดาและสารเสพติดชนิดอื่นๆ
การตลาดล่าเหยื่อมุ่งเป้าที่เยาวชนเช่นนี้ ยิ่งทำให้เกิดวิกฤติซ้ำเติม เพราะนอกจากบุหรี่ไฟฟ้าจะเป็นอันตรายต่อทุกระบบของร่างกายแล้ว สิ่งที่สำคัญคือทำลายสมองเยาวชนจนอายุ 25ปี ซึ่งกำลังพัฒนา จึงเป็นการทำลายอนาคตของชาติโดยตรง นอกจากนี้การสำรวจความคิดเห็นต่อนโยบายของพรรคการเมืองต่างๆ ที่เกี่ยวกับพฤติกรรมและปัจจัยเสี่ยงต่อสุขภาวะของประชาชนและสังคม เก็บข้อมูลจากประชาชนอายุ 18 ปีขึ้นไป จำนวน 2,679 ราย ใน 12 จังหวัดทั่วทุกภูมิภาคของประเทศ ระหว่าง 27 กุมภาพันธ์ – 3 มีนาคม พ.ศ.2566 พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่ 63% ไม่เห็นด้วยกับข้อเสนอที่ให้รัฐควรปลดล็อกบุหรี่ไฟฟ้าให้ขายได้ถูกกฎหมาย มีประชาชนเพียง 2% จะเลือกพรรคการเมืองที่เสนอให้มีการปลดล็อกบุหรี่ไฟฟ้าให้ถูกกฎหมาย “ศจย. ตระหนักดีว่าเสรีภาพของเด็กและเยาวชนเป็นหลักการที่สำคัญ แต่ไม่ควรถูกอุตสาหกรรมบุหรี่ไฟฟ้าหลอกล่อโดยการตลาดล่าเหยื่อให้เป็นนักสูบหน้าใหม่ จากผลิตภัณฑ์ที่เป็นพิษอย่างบุหรี่ไฟฟ้า
จึงขอเรียกร้องให้ภาคการเมือง ภาคอุตสาหกรรม และภาคพาณิชย์ ให้ความสำคัญกับการคุ้มครองสุขภาพเยาวชนไทยจากบุหรี่ไฟฟ้า มากกว่าผลกำไรและภาษี ดังนี้
1) ขอให้คงมาตรการห้ามนำเข้าและห้ามขายบุหรี่ไฟฟ้า เพราะจากการทบทวนมาตรการของประเทศต่างๆ พบว่าเป็นมาตรการที่มีประสิทธิภาพสูงสุดในการปกป้องเยาวชนนักสูบหน้าใหม่
2) ให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัดและไม่เรียกรับผลประโยชน์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเร่งเข้าร่วมการลงนามในพิธีสาร ว่าด้วยการขจัดการการค้าผลิตภัณฑ์ยาสูบผิดกฎหมาย ขององค์การอนามัยโลก
3) เฝ้าระวังกลยุทธ์การตลาดล่าเหยื่อ และการแทรกแซงรูปแบบต่างๆ ของอุตสาหกรรมบุหรี่ไฟฟ้า
4) เร่งรณรงค์และให้ความรู้ที่ถูกต้องแก่ทุกภาคส่วน โดยบรรจุเข้าเป็นหลักสูตรการเรียนสำหรับนักเรียนตั้งแต่ประถมศึกษาจนถึงอุดมศึกษา รวมทั้งในสื่อออนไลน์”
ข้อมูลโดย : ศูนย์วิจัยและจัดการความรู้เพื่อการควบคุมยาสุบ (ศจย.)
11 พฤษภาคม 2566