592,727 เสียงประชาชน
ถึงรัฐบาลและรัฐสภา “คนไทยไม่เอาบุหรี่ไฟฟ้า”
วันนี้ 8 ธันวาคม 2567 ณ ลานคนเมืองกรุงเทพมหานคร เครือข่ายควบคุมยาสูบ ประกอบด้วย สมาพันธ์เครือข่ายแห่งชาติเพื่อสังคมไทยปลอดบุหรี่ มูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ ศูนย์วิจัยและจัดการความรู้เพื่อการควบคุมยาสูบ เครือข่ายเยาวชน เครือข่ายครู เครือข่ายผู้ปกครอง เครือข่ายอาสาสมัครสาธารณสุข และเครือข่ายวิชาชีพด้านสุขภาพ 16 เครือข่าย 1,200 คน ได้ร่วมจัดเวที “รวมพลังคนไทยไม่เอาบุหรี่ไฟฟ้า” ยื่นรายชื่อคนไทยไม่เอาบุหรี่ไฟฟ้า 592,727 รายชื่อ ต่อ ท่านประธานรัฐสภา ประธานคณะกรรมาธิการการสาธารณสุข ประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษากฎหมายและมาตรการควบคุมกำกับบุหรี่ไฟฟ้าในประเทศไทย หัวหน้าพรรคการเมือง และรัฐมนตรีว่าการสำนักนายกรัฐมนตรี เพื่อเรียกร้องให้ “คงกฎหมายห้ามนำเข้าและห้ามขายบุหรี่ไฟฟ้า” รวมทั้ง “เร่งบังคับใช้กฎหมายอย่างเร่งด่วนจริงจัง” เพื่อปกป้องเด็กและเยาวชนไทย จากบุหรี่ไฟฟ้าที่ระบาดอย่างหนักในขณะนี้
ศ.พญ.สมศรี เผ่าสวัสดิ์ ประธานสมาพันธ์เครือข่ายแห่งชาติเพื่อสังคมไทยปลอดบุหรี่ กล่าวว่า บุหรี่ไฟฟ้ามีการแพร่ระบาดอย่างรุนแรงและรวดเร็ว โดยเฉพาะในกลุ่มเด็กและเยาวชน ซึ่งการสำรวจในปี 2565 พบว่า เยาวชนไทยอายุน้อยกว่า 15 ปี สูบบุหรี่ไฟฟ้ามากถึง 17.6% เพิ่มขึ้นจาก 3.3% เมื่อปี 2558 โดยสัดส่วนที่เพิ่มมากที่สุดคือเด็กหญิง คือเพิ่มขึ้นถึง 7.9 เท่า ส่วนเด็กชายเพิ่มขึ้น 4.3 เท่า ทั้งนี้งานวิจัยทางการแพทย์ล้วนยืนยันว่า การสูบบุหรี่ไฟฟ้าของประชาชนทุกเพศทุกวัยไม่ปลอดภัยต่อสุขภาพ ซึ่งนิโคตินและสารเคมีอื่นๆ ในน้ำยาบุหรี่ไฟฟ้า มีผลเสียต่อสมองของเด็กและเยาวชนมากขึ้นกว่าบุหรี่แบบเดิม ทำให้เด็กและเยาวชนมีพัฒนาการที่ช้าด้อยคุณภาพลง ทำให้เกิดโรคหัวใจและหลอดเลือด โรคหลอดเลือดสมองตีบและแตก โรคถุงลมโป่งพอง มะเร็งปอด โรค NCD รวมทั้งโรคอุบัติใหม่ ปอดอักเสบรุนแรงเฉียบพลัน (EVALI) ส่วนด้านจิตใจ มีความสัมพันธ์กับภาวะซึมเศร้าและการฆ่าตัวตาย ในด้านเศรษฐกิจ ทำให้ภาคครัวเรือนและภาครัฐต้องสิ้นเปลืองค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพสูงขึ้นหลายเท่า และในด้านสังคม ทำให้เด็กเรียนหนังสือแย่ลง รวมทั้งเป็นประตูนำสู่สิ่งเสพติดอื่นๆ เกิดปัญหาความรุนแรง อาชญากรรม ฯลฯ
บาทหลวงเอกรัตน์ หอมประทุม เลขาธิการสภาการศึกษาคาทอลิกแห่งประเทศไทย กล่าวว่า สภาการศึกษาคาทอลิกแห่งประเทศไทย ซึ่งดูแลโรงเรียนในเครือ จำนวน 387 แห่งทั่วประเทศไทย นักเรียนนักศึกษากว่า 4 แสนคน รวมถึงการทำงานกับครอบครัว ได้ตระหนักถึงภาวะการณ์ในปัจจุบันที่เด็กและเยาวชนไทยกำลังถูกคุกคามจากบุหรี่ไฟฟ้าอย่างน่าเป็นห่วง ทั้งนี้จากการสำรวจในเดือนมิถุนายน พ.ศ.2567 ในนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 4-6 จำนวน 2 หมื่นคน พบว่า เด็กนักเรียน 16.7 % เคยลองและสูบบุหรี่ไฟฟ้าทั้งชายและหญิง แต่ที่น่าตกใจอย่างมากคือ เด็กที่เคยสูบบุหรี่ไฟฟ้าพบอายุต่ำสุดที่เคยลองอยู่ชั้น ป.1 (อายุ 7 ขวบ) เพราะความรู้เท่าไม่ถึงการณ์และความอยากลอง โดยได้บุหรี่ไฟฟ้ามาจากเพื่อน ซื้อจากสื่อออนไลน์และร้านค้าที่แอบขายอย่างผิดกฎหมาย แสดงถึงสถานการณ์และสิ่งแวดล้อมที่ไม่ปลอดภัยสำหรับเด็ก ดังนั้นสภาการศึกษาคาทอลิก จึงขอเสนอให้ ยังคงกฎหมายห้ามนำเข้าและห้ามขายบุหรี่ไฟฟ้า และบังคับใช้กฎหมายอย่างเร่งด่วนจริงจัง เพื่อปกป้องเด็กและเยาวชนไทยจากบุหรี่ไฟฟ้า
นางสาวศิริวรรณ แก้วบริสุทธิ เครือข่ายครอบครัวปลอดบุหรี่ กล่าวว่า ในนามพ่อแม่ผู้ปกครอง ขอขอบคุณ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) ทั้งฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้าน ที่เห็นความสำคัญมาร่วมงานนี้ โดยหวังว่า สส. ที่ประชาชนเลือกมา จะส่งเสริมมาตรการใช้กฎหมายเพื่อปกป้องเด็ก เยาวชน ลูกหลานเราทุกคน จากบุหรี่ไฟฟ้า พ่อแม่ผู้ปกครองทุกคนไม่อยากเห็นบุหรี่ไฟฟ้าทำร้ายลูกหลานของเรา ประเทศไทยมีกฎหมายห้ามบุหรี่ไฟฟ้าซึ่งเป็นเรื่องที่ดีและก้าวหน้ามากกว่าประเทศอื่นๆ อยู่แล้ว บทเรียนจากประเทศที่เคยให้บุหรี่ไฟฟ้าถูกกฎหมาย ในขณะนี้กำลังได้รับผลกระทบทั้งด้านสุขภาพ และการเข้าถึงบุหรี่ไฟฟ้าจนเสพติดของเยาวชน ดังนั้นขอให้ สส. ของประชาชน คำนึงถึงสิทธิทางสุขภาพ เลือกทางเลือกที่ดีต่อลูกหลานของเรา ขอให้บุหรี่ไฟฟ้าเป็นสิ่งผิดกฎหมายต่อไป และบังคับใช้กฎหมายที่มีอยู่ให้มีประสิทธิภาพ
นายภษิณ ทัดพลภัทรรัต แกนนำนักเรียน GenZ โรงเรียนนวมินทราชินูทิศ สตรีวิทยา ๒ กล่าวว่า เครือข่ายเด็กและเยาวชนไม่เอาบุหรี่ไฟฟ้า ได้แก่ เครือข่ายเยาวชน GenZ เครือข่ายนักสื่อสารรุ่นใหม่ สถาบันยุวทัศน์แห่งประเทศไทย สหพันธ์นิสิตนักศึกษาแพทย์แห่งประเทศไทย สมาพันธ์นิสิตนักศึกษาสาธารณสุขศาสตร์และวิทยาศาสตร์สุขภาพแห่งประเทศไทย สภาเด็กและเยาวชนแห่งประเทศไทย เครือข่ายเยาวชนโตไปไม่สูบ และศูนย์สร้างสรรค์สื่อเพื่อเด็กเยาวชนและครอบครัว ขอเรียกร้อง รัฐบาลและสภาผู้แทนราษฎร ในการปกป้องเด็กและเยาวชนให้ปลอดภัยจากบุหรี่ไฟฟ้า ดังนี้ 1. ขอให้รัฐบาล คงกฎหมายห้ามนำเข้าและห้ามขายบุหรี่ไฟฟ้า เพิ่มการกำกับดูแล รวมถึงป้องกันการแทรกแซงนโยบายของบริษัทบุหรี่และผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง 2. ขอให้ภาครัฐและผู้มีอำนาจหน้าที่ตามกฎหมายดำเนินการตรวจสอบและบังคับใช้กฎหมาย จับกุมร้านค้าหรือผู้ที่ลักลอบขายบุหรี่ไฟฟ้าอย่างต่อเนื่อง และเพิ่มบทลงโทษให้สูงขึ้น รวมถึงเฝ้าระวังและควบคุมการเผยแพร่ข้อมูลอันเป็นเท็จของอุตสาหกรรมยาสูบ 3. ขอให้รัฐบาลและทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาการศึกษา ครอบครัวและชุมชน เร่งสร้างความรับรู้เกี่ยวกับอันตรายของบุหรี่ไฟฟ้าแก่เด็ก เยาวชน และประชาชน และ 4. ขอให้ภาครัฐและกระทรวงที่เกี่ยวข้องสนับสนุนการดำเนินงานด้านการวิจัย และการจัดทำข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับผลกระทบของบุหรี่ไฟฟ้าต่อสุขภาพของเด็กและเยาวชน รวมถึง นำผลการวิจัยและผลกระทบของบุหรี่ไฟฟ้าต่อสุขภาพของเด็กเยาวชนและประชาชน ไปใช้ในการปรับปรุงนโยบายและกฎหมายควบคุมบุหรี่ไฟฟ้า
รายละเอียดติดต่อ: สมาพันธ์เครือข่ายแห่งชาติเพื่อสังคมไทยปลอดบุหรี่ 02-716-6961