มาทำงานบุหรี่ ผมต้องแลกกับงานสอนที่ผมรักที่สุด




 

 

มาทำงานบุหรี่  ผมต้องแลกกับงานสอนที่ผมรักที่สุด

ผมเป็นคนชอบสอน เพื่อนหมอรุ่นน้อง บอกว่า พี่ประกิตเป็น “จอมติว” ให้แก่นักศึกษารุ่นน้อง ตั้งแต่อยู่เตรียมแพทย์ที่ติวให้เพื่อน และตลอดช่วงเรียนแพทย์ที่ติวให้รุ่นน้อง

ก่อนรับทำงานควบคุมยาสูบ ผมมีความสุขกับการสอน การรักษาคนไข้มาก เป็นคนดูแลเรสซิเดนท์ เทรนนิ่ง ของภาควิชา ต่อมาไปช่วยของราชวิทยาลัยอายุรแพทย์ ผมเป็นคนเริ่ม morning report (การรายงานประจำวันตอนเช้า ในผู้ป่วยที่รับเข้าอยู่โรงพยาบาล) จน ต่อมาเปลี่ยนเวลารายงานเป็น noon report  ที่ภาควิชาอายุรศาสตร์

เมื่อเริ่มมาทำงานยาสูบ เป็นเวลาเดียวกับที่ผมขึ้นเป็นหัวหน้าภาควิชา งานยาสูบช่วงนั้น ต้องเข้าไปช่วยกระทรวงสาธารณสุข ที่เขาขาดนักวิชาการด้านนี้ ประกอบกับเป็นปัญหาสำคัญของประเทศ ที่ผมต้องทุ่มเทเวลามาก ๆ

บทบาทการเรียนการสอน นักศึกษาแพทย์ แพทย์ประจำบ้าน ทั้งที่หน่วยโรคปอด รวมถึงการรักษาคนไข้ จึงถูกลดลง ๆ อย่างไม่มีทางหลีกเลี่ยง ทั้ง ๆ ที่การสอน การรักษาคนไข้ เป็นงานที่ผมชอบมากที่สุด

แต่ผมก็ต้องตัดใจลดบทบาทงานที่ผมรัก เพื่อให้เวลากับเรื่องที่ใหญ่กว่า (งานควบคุมยาสูบ) เพราะเรื่องการสอน อาจารย์พูนเกษม เจริญพันธุ์ อาจารย์สุมาลี เกียรติบุญศรี ทำหน้าที่ได้ดีมาก ผมไม่ต้องเป็นห่วง ขณะที่เรื่องบุหรี่ ต้องบอกว่า ช่วงนั้นมีคนทำน้อยมาก โดยเฉพาะงานด้านผลักดันนโยบาย การเปิดโปงพฤติกรรมแย่ ๆ ของบริษัทบุหรี่

จากหัวหน้าภาควิชา เป็นคณบดีต่อ ได้พยายามทำหน้าที่คณบดีให้ดีที่สุด งานบุหรี่ช่วงนั้น คือพยายามตั้งกองทุนเพื่อสนับสนุนงานควบคุมยาสูบของประเทศ เพราะกระทรวงสาธารณะสุขของบประมาณแล้ว ไม่ได้รับการจัดสรร เพราะนักการเมืองไม่เห็นความสำคัญ จะเอาแต่งบประมาณไปรักษาโรคที่เกิดจากการสูบบุหรี่ ประกอบกับบริษัทบุหรี่ ทั้งไทยและต่างประเทศ ไม่ต้องการให้มีการทำงานควบคุมยาสูบ ส่งอิทธิพลผ่านฝ่ายการเมือง

ช่วงที่เป็นคณบดี ได้ร่วมกับหลาย ๆ ฝ่าย ผลักดันให้มีกฎหมายจัดตั้งกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ จากภาษีสุราและยาสูบ (สสส.) นำมาสนับสนุนงานส่งเสริม ป้องกันปัญหาสุขภาพเรื่องอื่น ๆ นอกเหนือจากบุหรี่ อาทิ ปัญหาจากสุรา อุบัติเหตุจราจร และโรคไม่ติดต่ออื่น ๆ ที่ไม่มีงบประมาณในการรณรงค์ป้องกันเหมือนกับยาสูบ

การอยู่ในตำแหน่งคณบดีรามาธิบดี มีส่วนสำคัญที่ทำให้การวิ่งเต้น ผลักดันกฎหมาย สสส. ผ่านสภาผู้แทนราษฎรออกมาได้

เกือบ 40 ปีผ่านไป แม้ผมจะเสียดาย ที่ต้องทิ้งงาน / บทบาทที่ผมรัก ทั้งการสอนและการรักษาคนไข้ 

แต่ถามว่า ถ้าย้อนเวลากลับไป ผมจะเลือกอย่างที่ผมได้เลือกมาแล้วหรือไม่

คำตอบคือ ผมจะเลือก เหมือนกับที่ได้ทำมาแล้ว

ในฐานะหมอโรคปอด ผมสะท้อนใจทุกครั้ง ที่เห็นคนสูด สูบ อะไรต่อมิอะไรเข้าสู่ปอด ผมสงสารปอด / ร่างกายของเขา  ผมจึงอุทิศเวลาให้กับการป้องกัน ไม่ให้เกิดนักสูบหน้าใหม่ ไม่ว่าจะเป็นบุหรี่  บุหรี่ไฟฟ้า ผ่านการทำงานด้านชี้แนะและผลักดันนโยบาย สนับสนุนค่านิยมไม่สูบบุหรี่ทุกชนิด

การสูบบุหรี่ลดลงไปมากแล้ว แต่บริษัทบุหรี่ผลิตบุหรี่ไฟฟ้ามาทดแทนเพื่อต่ออายุธุรกิจ ผมจึงขอเชิญชวนพวกเราร่วมกันคนละไม้คนละมือ ในการแก้ปัญหาควบคุมยาสูบ / การแพร่ระบาดของการเสพติดบุหรี่ไฟฟ้าต่อไป

 

ศ.นพ.ประกิต วาทีสาธกกิจ 21 มีนาคม 2566

ข้อมูลที่เกี่ยวข้อง

  • 2568/01/07 ความสำคัญของการชี้แนะผลักดันนโยบายผ่านสื่อ
  • 2567/03/09 - บุหรี่ไฟฟ้าปลอดภัยจริงไหม
  • 2566 จะลดภาระงานหมอ รัฐต้องสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพจริงจัง เพื่อลดจำนวนคนที่จะป่วย
  • มาทำงานบุหรี่ ผมต้องแลกกับงานสอนที่ผมรักที่สุด
  • 2565 อุดมการณ์ที่หยัดยืนของ ศ.นพ.ประกิต วาทีสาธกกิจ
  • 2565 เปิดเผยถึง​ กลยุทธ์​ 12 ข้อ​ ที่เครือข่ายบุหรี่ไฟฟ้า​ บิดเบือนข้อเท็จจริง​ในการส่งเสริมการสูบ​บุหรี่​ไฟฟ้า
  • 2564 กว่า 100 เหตุผลที่ต้องเลิกสูบบุหรี่
  • 2564 ประวัติการเกิด APACT เครือข่ายรณรงค์ไม่สูบบุหรี่เอเซียแปซิฟิก
  • 2563 ความสําคัญของการขับเคลื่อนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นปลอดบุหรี่
  • 2563 กลยุทธ์ของอุตสาหกรรมยาสูบ
  • 2563 พิษภัยยาสูบต่อสุขภาพ บุหรี่มือสอง บุหรี่มือสาม
  • 2563 ประวัติการควบคุมยาสูบของประเทศไทย
  • 2562 แลกเปลี่ยนเรียนรู้เพื่อพัฒนางานควบคุมยาสูบในพื้นที่ กทม - 5 เม.ย.62
  • 2562 เส้นทางสู่สังคมไทยปลอดบุหรี่ ชนะหลายศึก แต่หนทางยังอีกยาวไกล
  • ความสำคัญของการรักษาให้เลิกสูบบุหรี่ ในผู้ป่วยที่เข้ารับการผ่าตัด