คอลัมน์นานาทัศนะ
กรมสรรพสามิต เพิ่งประกาศผลการจัดเก็บรายได้ล่าสุด ตัวเลขจัดเก็บภาษียาสูบ 10 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2560 ที่อยู่ที่ 6.5 หมื่นล้านบาท ต่ำกว่าประมาณการราวหมื่นล้านบาท หรือประมาณ 15.26% ต่ำกว่าเป้าประมาณการที่ตั้งไว้กว่า 15.2% หรือกว่า 10,000 ล้านบาท
ถ้าดูเผินๆ เหมือนน่าจะดีเพราะเก็บภาษีได้น้อยลงแสดงว่าคนสูบน้อยลงตตามไปด้วย แต่ปรากฎการณ์ ไปไม่ถึงดวงดาวและพลาดเป้าจัดเก็บ หลัก ๆ ก็เพราะสิงห์อมควันลงไปเล่นของถูกกันหมด อันไหนแพง จ่ายไม่ไหวก็หาตัวถูกประทังไปก่อน
นี่คือสิ่งที่เกิดขึ้นจริงในตลาด บางรายก็ไปยาเส้นเลย ตัวหลังนี่ยิ่งถูกเพราะแทบจะเป็นสินค้าปลอดภาษีไปแล้ว เนื่องจากจัดเก็บภาษีบุหรี่ที่เอื้อต่อการบริโภคยาสูบราคาถูก ผู้ประกอบการยิ่งสามารถทำราคาบุหรี่ให้ถูกได้มากเท่าไหร่ ยิ่งลดภาระภาษียาสูบลงได้มากเท่านั้น กลายเป็นว่ารัฐส่งเสริมตลาดบุหรี่ราคาถูกไปโดยปริยาย แต่สุดท้ายรายได้ภาษีที่คืนมากลับไปสมน้ำสมเนื้อกัน ที่สำคัญแทนที่คนส่วนใหญ่จะเลิกบุหรี่ได้เพราะบุหรี่ราคาแพงขึ้นกลับกลายเป็นมีบุหรี่ราคาถูกจากโรงงานยาสูบ และจากบริษัทบุหรี่ต่างประเทศออกมาทำให้การขึ้นภาษีไม่มีประสิทธิภาพอย่างที่ควรจะเป็น
องค์การอนามัยโลก (WHO) จึงสนับสนุนการเก็บภาษีเพื่อเป็นเครื่องมือในการลดการบริโภคบุหรี่โดยระบุว่า "ควรให้น้ำหนักกับภาษีตามปริมาณให้มากขึ้น เพราะจะช่วยเพิ่มประสิทธิผลของภาษียาสูบในด้านสาธารณสุขด้วยการลดช่องว่างราคาระหว่างแบรนด์พรีเมียมกับตัวเลือกที่ราคาถูกกว่า ซึ่งจะช่วยจำกัดโอกาสที่ผู้ใช้จะหันไปหาแบรนด์ที่ราคาถูกกว่าได้"
ขณะเดียวกัน มูลนิธิเพื่อสังคมอาเซียนปลอดบุหรี่ (SEATCA) เพิ่งออกรายงานล่าสุดเมื่อเดือนที่ผ่านมา แนะนำให้ประเทศที่ประสบปัญหาจากการที่คนหันมาสูบบุหรี่ราคาถูก เนื่องจากมีช่องว่างของราคา "ควรจะใข้ภาษีตามปริมาณแบบอัตราเดียว หรือระบบผสมที่มีการกำหนดภาษีปริมาณขั้นต่ำ และเก็บภาษียาสูบทุกประเภทในทางเดียวกันเช่น บรูไน มาเลเซีย และสิงคโปร์"
การแก้ปัญหาเชิงโครงสร้างเป็นเรื่องยากแต่ต้องทำด้วยการมองไปข้างหน้า และมองดูนานาประเทศว่าเขาไปถึงไหนกันแล้ว การนำหลักภาษีตามปริมาณมาใช้และลดความสำคัญของภาษีตามมูลค่าลง และที่สำคัญคือ ให้บุหรี่ทั้งหมดต้องเสียภาษีในอัตราเดียวกันโดยไม่มีการแบ่งชั้นภาษีว่าบุหรี่ราคาถูกเสียภาษีอัตราต่ำกว่าบุหรี่ราคาแพงน่าจะเป็นทางแก้ของปัญหานี้ เพราะมิเช่นนั้นก็จะกลับมาสู่ปัญหาเดิม ปฏิรูปภาษีไม่ได้ช่วยอะไร บริษัทบุหรี่จะพากันปรับลดราคาสินค้าหรือไม่ก็แห่ออกสินค้าใหม่ราคาถูกเพื่อจะได้เสียภาษีน้อยที่สุดในขั้นอัตราภาษีต่ำสุด รัฐก็ขึ้นภาษีไป คนไทยก็ยังมีของราคาถูกให้สูบเหมือนเดิม สุดท้ายคนสูบบุหรี่ก็ไม่ได้ลดลงอย่างที่ตั้งใจ แถมไม่อาจปกป้องเด็ก และเยาวชนที่จะกลายเป็นนักสูบหน้าใหม่ได้
เรื่องแบบนี้กระทรวงการคลังน่าจะรู้ดี แต่จะกล้าทำหรือไม่ขึ้นกับรัฐมนตรีเจ้ากระทรวงผู้ตัดสินใจ อยากเห็นคุณหมอนักรณรงค์ และเครือข่ายพันธมิตรทั้งหลายออกมาส่งเสียงเรียกร้องดัง ๆ ถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังเป็นครั้งสุดท้าย ก่อนที่คณะรัฐมนตรีจะเคาะอัตราและโครงสร้างภาษียาสูบใหม่ในอีก 2-3 อาทิตย์ข้างหน้านี้ ปี 2560 จะเป็นปีที่ต้องจารึกไว้ว่าเราได้ช่วยกันปกป้องลูกหลานไทยให้ห่างไกลจากการตกเป็นทาสของบุหรี่ได้อีกหลายแสนคน เขียนโดย : กะบังลม ผู้จัดการรายวัน 360 ํ
ข้อมูลโดย : กองบรรณาธิการ วันที่ 7 กันยายน 2560