คอลัมน์ "เปิดโปงและเฝ้าระวังอุตสาหกรรมยาสูบ"
จากสถิติในช่วง 4-5 ปีที่ผ่านมา พบว่า บริษัทบุหรี่ข้ามชาติใหญ่ๆ เพิ่มการลงทุนในกิจกรรมเพื่อสังคมมากขึ้น โดยมุ่งเน้นที่กลุ่มประเทศกำลังพัฒนา อย่างเอเซียตะวันออกเฉียงใต้ แอฟริกา และลาตินอเมริกา เป็นต้น เป็นที่ทราบกันดีว่า กิจกรรมเพื่อสังคมเป็นเพียงฉากหน้าของการโฆษณาผลิตภัณฑ์พิษของบริษัทบุหรี่ดำเนินกิจกรรมเพื่อสังคมทุกประเภท"
นี่เป็นส่วนหนึ่งของรายงาน เรื่อง Tobacco Advertising Promotion and Sponsorship Index : 2016 ASEAN Report on Implementation of WHO Framework Conventio on Tobacco Article 13 จัดทำโดย Southeast Asia Tobacco Control Alliance (SEATCA) รายงานนี้ได้รวบรวมประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการโฆษณาประชาสัมพันธ์บุหรี่ในรูปแบบต่างๆ ทั้งทางตรงและทางอ้อมไว้อย่างครบถ้วน รวมทั้งการนำเสนอข้อกฎหมายและนโยบายควบคุมยาสูบของแต่ละประเทศในภูมิภาคอาเซียน ตลอดจนข้อเสนอแนะและแนวทางการปฎิบัติที่ประเทศต่างๆ สามารถนำไปปรับใช้เพื่อยกระดับมาตรการควบคุมยาสูบภายในประเทศให้ดียิ่งขึ้น ประเทศไทยและสิงคโปร์ อนุญาตให้บริษัทบุหรี่สามารถดำเนินกิจกรรมเพื่อสังคมได้ แต่ห้ามการโฆษณาประชาสัมพันธ์กิจกรรมนั้นต่อสาธารณะ
นโยบายดังกล่าวเท่ากับปิดโอกาสในการสร้างภาพของบริษัทบุหรี่อย่างสิ้นเชิง ทำให้จำนวนเงินที่ลงทุนไปกับกิจกรรมเพื่อสังคมในทั้งสองประเทศน้อยกว่าในประเทศอื่นๆ ที่ยังไม่มีนโยบายห้ามการโฆษณากิจกรรมเพื่อสังคมของบริษัทบุหรี่อย่างเป็นรูปธรรม ปฏิกิริยาของบริษัทบุหรี่ ก็ได้แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่า แท้จริงแล้วพ่อค้ายาพิษเหล่านี้ มิได้ต้องการให้ความช่วยเหลือสังคมอย่างที่อวดอ้างแต่อย่างใด เพียงแต่ต้องการเผยแพร่ภาพลักษณ์ให้สังคมเข้าใจผิดว่าบริษัทของตนเป็นธุรกิจที่ดีและปลอดภัยดังเช่นธุรกิจประเภทอื่นๆ
ข้อมูลโดย วรวรรณ จิรธนาพิวัฒน์