คอลัมน์ : จับกระแส
องค์การอนามัยโลก ได้กำหนดประเด็นการรณรงค์เนื่องในวันงดสูบบุหรี่โลก ปี 2565 คือ "Tobacco : Threat to our envirobnment หรือ "บุหรี่ทำลายสิ่งแวดล้อม" ได้สรุปข้อมูลจากการสัมมนาจากวิทยากรทั้ง 5 ท่าน ดังนี้
แพทย์หญิง โอลิเวีย นีเวอราส ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคไม่ติดต่อ องค์การอนามัยโลกประจำประเทศไทย กล่าวว่า “บุหรี่ทำลายสิ่งแวดล้อม ตั้งแต่การปลูกต้นยาสูบ การผลิต จัดจำหน่าย การสูบ และขยะจากบุหรี่ ซึ่งก่อให้เกิดความเสียหายทั้งแก่สิ่งแวดล้อม และเศรษฐกิจของประเทศ ซึ่งประมาณการว่าความสูญเสียทางสุขภาพและเศรษฐกิจที่เกิดจากการสูบบุหรี่นั้น มีมูลค่าสูงถึง 3.5 แสนล้านบาทต่อปี ซึ่งเทียบเท่ากับ ร้อยละ 2.1 ของ GPD ดังนั้น มาตรการควบคุมการสูบบุหรี่จึงดีต่อทั้งสุขภาพ เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อม”
รองศาสตราจารย์ ดร.เนาวรัตน์ เจริญค้า ภาควิชาวิศวกรรมสุขาภิบาล คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล, สถาบันส่งเสริมสุขภาพไทย มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ หนึ่งในวิทยากรที่ร่วมงาน ได้เปิดเผยผลการสำรวจพฤติกรรมการทิ้งขยะพบว่า ประมาณร้อยละ 65 ของผู้สูบบุหรี่ทิ้งก้นบุหรี่อย่างไม่เหมาะสม (เช่น บนทางเท้า ชายหาด ฯลฯ) ก้นบุหรี่ซึ่งเป็นเศษของตัวกรองบุหรี่พลาสติกเป็นรูปแบบของขยะยาสูบที่มีสารก่อมลพิษและเป็นพิษอันดับต้น ๆ ที่พบในแหล่งน้ำต่าง ๆ ซึ่งก้นบุหรี่เหล่านี้ต้องใช้เวลาประมาณ 10 ปีในการย่อยสลาย และเป็นขยะที่ถูกทิ้งมากที่สุดในโลก โดยก้นบุหรี่ทั่วโลกจำนวน 4.5 ล้านล้านชิ้นถูกทิ้งทุกปี และขยะจากก้นบุหรี่ประมาณ 2.5 พันล้านชิ้นต่อปีถูกพบในประเทศไทย ผลกระทบเฉียบพลันต่อสิ่งแวดล้อมของขยะก้นบุหรี่ ได้แก่ การปนเปื้อนจากขยะยาสูบที่เป็นพิษ ด้านกระบวนการเพาะปลูก แต่ละปีในทำการเพาะปลูกและบ่มใบยาสูบต้องแผ้วถางพื้นที่ประมาณ 200,000 เฮกตาร์ (1.25 ล้านไร่) ต้องสูญเสียพื้นที่เพาะปลูก ยาสูบมีส่วนทำให้เกิดความไม่มั่นคงทางด้านอาหารและปัญหาด้านโภชนาการ ขั้นตอนการเพาะปลูกยาสูบต้องใช้น้ำ ในปริมาณเท่ากับคนหนึ่งคนใช้น้ำตลอดทั้งปี วัฏจักรทั้งหมดของบุหรี่หนึ่งมวนนับตั้งแต่การปลูก การผลิต การกระจายผลิตภัณฑ์ การใช้และการกำจัดนั้น จะต้องใช้น้ำประมาณ 3.7 ลิตร
นายอภิชัย เอกวนากุล รองอธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เปิดเผยว่า “ประเทศไทยตระหนักถึงปัญหาขยะทางทะเล จึงได้สำรวจปริมาณและประเภทของขยะ พบก้นกรองบุหรี่กระจายเกลื่อนชายหาดเป็นจำนวนมาก ซึ่งชายหาดแต่ละแห่งมีก้นกรองบุหรี่ตกค้างมากกว่า 1 แสนชิ้น จึงคิดโครงการชายหาดปลอดบุหรี่ขึ้นมาโดยนำร่อง 24 ชายหาด 15 จังหวัดชายฝั่งทะเล ที่มีชื่อเสียง เป็นแหล่งท่องเที่ยวยอดนิยม เช่น หาดบางแสน จังหวัดชลบุรี หาดป่าตอง จังหวัดภูเก็ต และหาดหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ และเอาผิดกับผู้ที่ฝ่าฝืนสูบบุหรี่และทิ้งก้นกรองบุหรี่ไม่เป็นที่เป็นทาง โดยมีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี ปรับไม่เกิน 1 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ”
รองศาสตราจารย์ ดร.นิภาพรรณ กังสกุลนิติ ภาควิชาวิศวกรรมสุขาภิบาล คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล, สถาบันส่งเสริมสุขภาพไทย มูลนิธิสาธารณสุขแห่งชาติ เปิดเผยว่า “จากการทำวิจัยโครงการศึกษาการได้รับสัมผัสควันบุหรี่มือสองของผู้ที่พักผ่อนในบริเวณชายหาด 2 แห่ง ที่มีชื่อเสียงของเมืองไทย ในปี 2558 โดยการตรวจวัดปริมาณฝุ่นขนาดเล็ก 2.5 ไมครอน ซึ่งเป็นตัวชี้วัดถึงการได้รับสัมผัสควันบุหรี่มือสองที่บริเวณพักผ่อนใต้ร่มและเก้าอี้ผ้าใบ โดยจุดตรวจวัดอยู่ใกล้กับผู้สูบบุหรี่ในทิศทางใต้ลมของผู้สูบบุหรี่ พบว่า ผลการตรวจวัดใน 2 ชายหาด ได้พบปริมาณฝุ่นขนาดเล็กมีค่าเฉลี่ย 260 และ 504 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร และพบค่าสูงสุดถึง 716 และ 1,335 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร และเมื่อเปรียบเทียบกับมาตรฐานคุณภาพอากาศของประเทศไทย ซึ่งกำหนดปริมาณฝุ่นขนาดเล็กไว้ที่ 50 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร พบว่ามีปริมาณฝุ่นขนาดเล็กสูงกว่ามาตรฐานกำหนดหลายเท่า หรือสูงถึงประมาณ 27 เท่า ดังนั้น คุณภาพอากาศในบริเวณดังกล่าวจึงไม่เหมาะสมกับการเป็นชายหาดมีชื่อเสียงซึ่งผู้คนมาพักผ่อน และที่สำคัญเป็นการแสดงถึงการได้รับสัมผัสควันบุหรี่มือสองอย่างมาก”
รองศาสตราจารย์ นายแพทย์ชยนันท์ สิทธิบุศย์ ผู้อำนวยการกองงานคณะกรรมการควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ กระทรวงสาธารณสุข กล่าวถึง นโยบายควบคุมยาสูบเพื่อสิ่งแวดล้อมปลอดบุหรี่ว่า “คณะกรรมการควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบแห่งชาติ ได้ตระหนักถึงภัยคุกคามต่อสิ่งแวดล้อมที่เกิดจากผลิตภัณฑ์ยาสูบ รวมถึงได้เล็งเห็นถึงความสำคัญในการให้หน่วยงานภาครัฐ เอกชนและภาคประชาสังคม เข้ามามีส่วนร่วมและขับเคลื่อนการดำเนินการ เกี่ยวกับประเด็นการรณรงค์เนื่องในวันงดสูบบุหรี่โลก ประจำปี พ.ศ. 2565 โดยที่ประชุมคณะกรรมการควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบแห่งชาติ โดยขอความร่วมมือจากทุกภาคส่วน ร่วมกันดูแล ปกป้องสิ่งแวดล้อมให้ปลอดบุหรี่ ซึ่งไม่ใช่เพียงแค่ปกป้องทุกคนในสังคม แต่ยังหมายรวมถึงสิ่งมีชีวิตต่าง ๆ ธรรมชาติ และสิ่งแวดล้อมที่อยู่รอบตัวเราอีกด้วย”
ในช่วงของการแถลงข่าววันงดสูบบุหรี่โลก ประจำปี 2565 ช่วงกิจกรรม Call for Action : ร่วมกันรักษ์โลก สร้างสิ่งแวดล้อม ให้อากาศปราศจากควันบุหรี่ นำโดย เต้ สุผจญ กลิ่นสุวรรณ พิธีกรในงาน และดาราจากช่อง 7HD มีสทีนไทยแลนด์ วงศิลปินวัยรุ่น วง DAISY DAISY และวง Cm Cafe มาร่วมพูดคุยด้วย
ที่มา : สุขสันต์ เสลานนท์
งานแถลงข่าววันงดสูบบุหรี่โลก 17 พฤษภาคม 2565 #บุหรี่ทำลายสิ่งแวดล้อม