มูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่
ACTION ON SMOKING AND HEALTH FOUNDATION
Press Release
ศูนย์ข่าว มูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่
วันนี้ (26 พฤษภาคม 2566) มูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ ร่วมกับ ภาคีองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จัดเวทีสรุปบทเรียน ประกาศเป้าหมาย และนโยบายเพื่อมุ่งสู่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นปลอดบุหรี่ ภายในปี 2567 โดยองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น 86 แห่ง ใน 36 จังหวัดจาก 4 ภูมิภาคในประเทศไทย มีเป้าหมายร่วมกัน ในการดำเนินงานเพื่อช่วยคนให้เลิกสูบบุหรี่ ทำบ้านปลอดบุหรี่ และร้านค้ากับสถานที่สาธารณะในพื้นที่ปฏิบัติตามกฎหมาย 100% อันจะนำไปสู่การปกป้องคนในชุมชนจากการสูบบุหรี่ บุหรี่ไฟฟ้า
นายชัยวัฒน์ ชื่นโกสุม รองปลัดกระทรวงมหาดไทยในฐานะประธานเปิดงาน กล่าวว่า การรณรงค์ การส่งเสริมสุขภาพ เป็นกิจกรรมที่ต้องขับเคลื่อนร่วมกันหลายภาคส่วน โดยเฉพาะการสูบบุหรี่ เป็นภัยต่อความมั่นคงด้านสุขภาพและเศรษฐกิจของครัวเรือน โดยประชากรที่จนที่สุด (มีรายได้เฉลี่ย 1,000 บาทต่อเดือน) เกือบ 5 แสนคน ใช้เงินซื้อบุหรี่เดือนละ 629 บาท ประชากรที่จน (มีรายได้ 3,185 บาทต่อเดือน) 5 แสนคน ใช้เงินซื้อบุหรี่เดือนละ 520 บาท และประชากรที่มีฐานะปานกลาง (มีรายได้เฉลี่ย 6,532 บาทต่อเดือน) มากกว่า 1 ล้านคน ใช้เงินซื้อบุหรี่เดือนละ 625 บาท นอกจากนั้น การสำรวจของสำนักงานสถิติแห่งชาติปี 2564 พบว่า ในทุก 10 ครัวเรือน จะมี 5 ครัวเรือนที่มีคนสูบบุหรี่ ในจำนวนนี้มี 3 ครัวเรือนมีคนสูบบุหรี่ที่สูบในบ้าน ดังนั้น หากนับรวมจำนวนเด็กอายุต่ำกว่า 15 ปี ที่ได้รับควันบุหรี่มือสองในบ้านด้วย จะมีจำนวนไม่ต่ำกว่า 5 ล้านคนเป็นอย่างน้อย ซึ่งกระทรวงมหาดไทยมีส่วนสำคัญในการสนับสนุนการบังคับใช้พระราชบัญญัติควบคุมการบริโภคยาสูบ พ.ศ.2560 โดยเฉพาะการเพิ่มสมรรถนะการควบคุมยาสูบระดับจังหวัด จะเป็นกลไกสำคัญที่ลดจำนวนคนสูบบุหรี่ซึ่งมีอยู่สูงในภูมิภาค
ศ.นพ.ประกิต วาทีสาธกกิจ ประธานมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ กล่าวเพิ่มเติมว่า ในระดับประเทศ แต่ละปี มีคนไทยเสียชีวิตด้วยโรคจากการสูบบุหรี่ถึง 70,953 คน ค่ารักษาพยาบาลคนที่เจ็บป่วยจากโรคที่เกิดจากการสูบบุหรี่สูงถึง ปีละ 80,000 ล้านบาท และหากรวมความสูญเสียจากการขาดรายได้และเสียชีวิตก่อนเวลาจะเป็นความสูญเสีย ปีละเกือบ 180,000 ล้านบาท องค์การอนามัยโลก ได้เสนอแนะไว้ว่าประเทศไทยจะลดปัญหาด้านสุขภาพเกี่ยวกับโรคเรื้อรังได้ ด้านการควบคุมยาสูบต้องเร่งดำเนินการใน 3 ประเด็น คือ 1) การเพิ่มสมรรถนะการควบคุมยาสูบระดับจังหวัด 2) ภาษียาสูบโดยเฉพาะภาษียาเส้น และ 3) การบังคับใช้กฎหมายห้ามสูบบุหรี่ในที่สาธารณะ ซึ่งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจะเป็นกลุ่มที่มีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนงานให้เกิดเป็นรูปธรรม
ดร.สุปรีดา อดุลยานนท์ ผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า การควบคุมและลดการสูบบุหรี่ เพื่อปกป้องสุขภาพประชาชนให้ปลอดภัยจากควันบุหรี่ ถือเป็นหนึ่งในพันธกิจหลักของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ หรือ สสส. ซึ่ง สสส. ตระหนักถึงบทบาทสำคัญขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ที่จะมีส่วนร่วมในการควบคุมยาสูบตั้งแต่ระดับชุมชน ควบคู่ไปกับการพัฒนานโยบายและการบังคับใช้กฎหมายควบคุมยาสูบในประเทศไทยอย่างต่อเนื่องตลอดมา
ด้าน นายเพลิน วรพงศ์วัฒนา นายกเทศมนตรีตำบลหนองล่อง อ.เวียงหนองล่อง จ.ลำพูน ในฐานะตัวแทนภาคีเครือข่ายองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นปลอดบุหรี่ จำนวน 86 แห่ง กล่าวว่า องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นหลายแห่งขับเคลื่อนการควบคุมยาสูบต่อเนื่อง ตั้งแต่ปี พ.ศ.2560 มาจนถึงปัจจุบัน ปัจจุบันมีจำนวนเครือข่ายที่ทำกิจกรรมรณรงค์ไม่สูบบุหรี่ในพื้นที่มากกว่า 1,000 แห่ง และมีองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่ดำเนินกิจกรรมอย่างเข้มแข็ง มีการเก็บข้อมูลเชิงลึก จำนวน 86 แห่ง ใน 32 จังหวัด ครอบคลุม 4 ภูมิภาคของประเทศไทย ตั้งแต่ปี 2563 เป็นต้นมา เครือข่ายได้เริ่มเรียนรู้การทำงานโดยใช้ข้อมูลเป็นฐาน มีการวางแผนการทำงานอย่างเป็นระบบเพื่อแก้ปัญหาการสูบบุหรี่ของคนในชุมชน ในวันนี้จึงขอประกาศฉันทามติที่เป็นเป้าหมายร่วมกันระหว่างองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทั้ง 86 แห่ง ดังนี้
นายเพลิน วรพงศ์วัฒนา กล่าวเพิ่มเติมว่า ด้วยศักยภาพขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ประกอบกับการสนับสนุนจากทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ ภาคประชาสังคม สื่อมวลชน จะเป็นแรงสนับสนุนที่สำคัญในการขับเคลื่อนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นปลอดบุหรี่ ภายใต้ยุทธศาสตร์ 5 ด้าน ได้แก่ การสร้างนโยบาย สร้างสิ่งแวดล้อมปลอดบุหรี่ สร้างความเข้มแข็งในชุมชน สร้างทักษะส่วนบุคคล และปรับระบบบริการสุขภาพเพื่อช่วยคนให้เลิกบุหรี่ จะนำไปสู่การปกป้องคนในชุมชนจากการสูบบุหรี่ บุหรี่ไฟฟ้า รวมถึงการได้รับควันบุหรี่มือสองใน 1,045 ชุมชน มากกว่า 490,000 ครัวเรือน ครอบคลุมประชากรไม่ต่ำกว่า 800,000 คน
นายแพทย์ดิเรก ขำแป้น รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า การกำหนดเป้าหมายการขับเคลื่อนงานควบคุมการบริโภคยาสูบขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเป็นส่วนสำคัญของการขับเคลื่อนมิติสุขภาพของประชาชนทั้งประเทศ สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติด้านการควบคุมการบริโภคยาสูบที่วางไว้ ขณะที่ ว่าที่ร้อยตรีขรรค์ไชย ทันธิมา หัวหน้าผู้ตรวจราชการกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กระทรวงมหาดไทย ได้กล่าวเพิ่มเติมว่า กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ยินดีจะสนับสนุนให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นขับเคลื่อนนโยบาย การผลักดันให้การทำงานควบคุมการบริโภคยาสูบ เข้าไปอยู่ในการประเมินประสิทธิภาพขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (Local Performance Assessment : LPA) ด้านงานส่งเสริมคุณภาพชีวิต หมวดงานด้านสาธารณสุข เป็นนโยบายที่จะดำเนินงานอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้เพื่อสนับสนุนให้เป้าหมายองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นปลอดบุหรี่เกิดขึ้นจริง
งานวันนี้จัดโดย มูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ ด้วยการสนับสนุนจาก สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) มีภาคีเครือข่ายเข้าร่วมจำนวน 198 คน และได้รับการสนับสนุนจากพหุภาคีในการดำเนินงานองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นปลอดบุหรี่อย่างยั่งยืน ประกอบด้วย กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กระทรวงมหาดไทย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) สมาคมองค์การบริหารส่วนจังหวัดแห่งประเทศไทย (ส.จ.ท.) สมาคมสันนิบาตเทศบาลแห่งประเทศไทย (ส.ท.ท.) สมาคมองค์การบริหารส่วนตำบลแห่งประเทศไทย (ส.ต.ท.) รวมถึง โครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (UNDP) ณ โรงแรมมิราเคิลแกรนด์ คอนเวนชั่น
หากต้องการข้อมูลเพิ่มเติมกรุณาติดต่อ นางสาวอุรพี จุลิมาศาสตร์ 0866558284 / 02-278-1828