คอลัมน์ : สารเยาวชน
โดย นายสุรเชษฐ์ โพธิ์แสง รองเลขาธิการสถาบันยุวทัศน์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า สถาบันยุวทัศน์แห่งประเทศไทย (ยท.) ได้สำรวจทัศนคติของเด็กและเยาวชนไทยที่มีต่อบุหรี่ไฟฟ้าและสถานการณ์เด็กและเยาวชนไทยกับการรับข้อมูลและวาทกรรมสร้างความเข้าใจผิดเกี่ยวกับบุหรี่ไฟฟ้า ประจำปี 2565
โดยสำรวจในกลุ่มตัวอย่าง 400 คน อายุระหว่าง 13-25 ปี ทั่วประเทศ ระหว่างเดือนเมษายน-พฤษภาคม ปี 2565 กลุ่มตัวอย่างระบุว่า ในภาพรวม 1 สัปดาห์ เด็กและเยาวชน ได้รับข้อมูลข่าวสารที่เกี่ยวกับบุหรี่ไฟฟ้า เฉลี่ย 3 ครั้งต่อสัปดาห์ ผ่านช่องทางสื่อสังคมออนไลน์ต่าง ๆ โดยเด็กและเยาวชนเปิดรับข้อมูลจากช่องทาง ที่ให้ข้อมูลเกี่ยวกับบุหรี่ไฟฟ้าในทางที่ผิดเป็นประจำและบ่อยครั้งสูงถึงร้อยละ 33.9 และร้อยละ 38.5 รับรู้วาทกรรมความเชื่อที่ผิดเกี่ยวกับบุหรี่ไฟฟ้า เช่น สูบบุหรี่ไฟฟ้าแล้วสุขภาพดีขึ้นกว่าการสูบบุหรี่แบบมวน หรือบุหรี่ไฟฟ้าสูบแล้วปลอดภัยเนื่องจากสามารถเลือกปริมาณนิโคตินเองได้ เป็นต้น “ที่น่าตกใจคือ กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 12.5 เป็นเด็กและเยาวชนที่ใช้บุหรี่ไฟฟ้า ในจำนวนนี้ แบ่งเป็น 3 กลุ่ม คือ กลุ่มที่สูบบุหรี่มวนคู่กับบุหรี่ไฟฟ้า ร้อยละ 36 กลุ่มที่เลิกสูบบุหรี่มวนเปลี่ยนมาสูบ บุหรี่ไฟฟ้าแทน ขณะที่อีกร้อยละ 34 กลุ่มที่สูบบุหรี่ไฟฟ้าเป็นครั้งแรกโดยไม่เคยสูบบุหรี่มวนมาก่อน ร้อยละ 30 ที่น่าเป็นห่วงคือ เด็กและเยาวชนมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับบุหรี่ไฟฟ้าในระดับปานกลาง ถึงร้อยละ 72 และไม่มีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับบุหรี่ไฟฟ้าสูงถึงร้อยละ 19
จากสถานการณ์ข้างต้นนับว่ามีความน่าเป็นห่วงเป็นอย่างยิ่ง เนื่องจากปัจจุบันผู้จำหน่ายบุหรี่ไฟฟ้าพยายามให้ข้อมูลอันเป็นเท็จบนสื่อสังคมออนไลน์อย่างต่อเนื่อง ซึ่งจะเป็นการเพิ่มโอกาสการใช้งานบุหรี่ไฟฟ้าของเด็กและเยาวชนในอนาคตอย่างแน่นอน จึงอยากเสนอไปยังหน่วยงานบังคับใช้กฎหมายให้เร่งรัดจับกุมผู้ลักลอบจำหน่ายบุหรี่ไฟฟ้าผ่านสื่อสังคมออนไลน์ รวมถึงจับกุม ผู้นำเข้าข้อมูลอันเป็นเท็จบนระบบคอมพิวเตอร์ที่เกี่ยวกับข้อดีของบุหรี่ไฟฟ้า และเป็นกำลังใจให้รัฐบาลในการยืนหยัดมาตรการห้ามจำหน่ายบุหรี่ไฟฟ้าภายในประเทศไทยเช่นเดียวกับอีกหลายประเทศทั่วโลกที่มีมาตรการห้ามจำหน่ายบุหรี่ไฟฟ้า
ที่มา สถาบันยุวทัศน์แห่งประเทศไทย
Smartnews เผยแพร่ 23/06/2565