คอลัมน์: สารเยาวชน
สถาบันยุวทัศน์แห่งประเทศไทย (ยท.) และมหาวิทยาลัยนำร่อง 5 แห่ง ได้แก่ มหาวิทยาลัยนอร์ทกรุงเทพ มหาวิทยาลัยธุรกิจบัณฑิตย์ มหาวิทยาลัยสยาม มหาวิทยาลัยรังสิต และมหาวิทยาลัยเกษมบัณฑิต โดยมี ดร.นพ.ไพโรจน์ เสาน่วม ผู้ช่วยผู้จัดการกองทุน สสส. และผู้แทนกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ร่วมลงนามเป็นสักขีพยาน
ดร.สาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ในฐานะรองประธานกรรมการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ คนที่ 1 กล่าวว่า “จากสถานการณ์ปัญหาต่าง ๆ ที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของเด็กและเยาวชนไทยในปัจจุบัน มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น โดยเฉพาะปัญหาการสูบบุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้าของเด็กและเยาวชน ซึ่งข้อมูลจากแผนงานควบคุมยาสูบ ปี 2560-2564 ระบุว่าการสูบบุหรี่ของเด็กอายุระหว่าง 15-18 ปี มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นจากร้อยละ 6.58 เป็นร้อยละ 8.25 ซึ่งข้อมูลของมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ ที่ระบุด้วยว่า ปัจจุบันมีเยาวชนอายุต่ำกว่า 18 ปี ติดบุหรี่แล้ว 400,000 คน ซึ่งในจำนวน 10 คนที่ติดบุหรี่ 7 คนจะเลิกไม่ได้และติดไปตลอดชีวิต ยังไม่นับรวมการสูบบุหรี่ไฟฟ้าที่มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น
จากกลยุทธ์ของอุตสาหกรรมยาสูบที่พยายามโฆษณาหลอกล่อเด็กและเยาวชนอีกด้วย” “เช่นเดียวกับสถานการณ์ปัญหาการเล่นพนันออนไลน์ของเด็กและเยาวชน มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นเช่นเดียวกัน องค์การอนามัยโลก (WHO) ระบุว่า จะส่งผลกระทบต่อสุขภาพทางกาย สุขภาพจิต และส่งผลกระทบต่อระบบสมอง ซึ่งไม่แตกต่างจากการเสพยาเสพติด จากการวิจัยเรื่องการลดผลกระทบจากการพนันออนไลน์ต่อเด็กและเยาวชนไทย ปี 2562 ระบุว่า กลุ่มที่เล่นการพนันออนไลน์ที่มีอายุตั้งแต่ 15 ปีขึ้นไปมากที่สุดคือ กลุ่มนักเรียนนักศึกษา ซึ่งเพศชายเฉลี่ยอายุต่ำสุดที่เข้าถึงการพนันครั้งแรกมีอายุ 7 ขวบ และเพศหญิงเฉลี่ย 10 ขวบ โดยปัจจุบันมีเด็กและเยาวชนติดการพนันแล้วกว่า 207,000 คน และสถานการณ์ปัญหาอุบัติเหตุ ในกลุ่มเด็กและเยาวชนนั้นก็มีความรุนแรงไม่ต่างกัน ข้อมูลจากศูนย์วิชาการเพื่อความปลอดภัยทางถนน (ศวปถ.) ระบุว่า เด็กและเยาวชนที่ได้รับบาดเจ็บรุนแรง 100 คน จากอุบัติเหตุ จะกลายเป็นผู้พิการ 5 คน และทั้งปีจะมีเด็กและเยาวชนกลายเป็นผู้พิการกว่า 2,000 คน
จากข้อมูลปัญหาทั้งหมดนี้ จึงนับว่าเป็นหน้าที่ของทุกภาคส่วนตั้งแต่ระดับนโยบาย ส่วนราชการ ภาคประชาสังคม และเจ้าของปัญหาอย่างเด็กและเยาวชน ที่ต้องมาจับมือร่วมกันในการแก้ไขปัญหาเพื่อลดผลกระทบจากปัจจัยเสี่ยงด้านสุขภาพ” ดร.สาธิตกล่าว นายพชรพรรษ์ ประจวบลาภ เลขาธิการสถาบันยุวทัศน์แห่งประเทศไทย (ยท.) กล่าวว่า ในฐานะองค์กรขับเคลื่อนงานด้านเด็กและเยาวชนมาอย่างต่อเนื่องกว่า 10 ปี จึงมีแนวคิดจับมือกับสถาบันอุดมศึกษา
พื้นที่นำร่อง 5 แห่ง ภายใต้ความร่วมมือด้านการพัฒนาศักยภาพนักศึกษาเพื่อรู้เท่าทันปัญหาปัจจัยเสี่ยงด้านสุขภาพ โดยมุ่งเน้นสร้างเครือข่ายสถาบันอุดมศึกษา และเครือข่ายนักศึกษาในสถาบันอุดมศึกษา ในการดำเนินกิจกรรมรณรงค์ป้องกันด้านปัจจัยเสี่ยงทางด้านสุขภาพ ซึ่งหลังจากนี้ ยท. จะสนับสนุนทรัพยากรให้แกนนำนักศึกษาในมหาวิทยาลัยไปดำเนินกิจกรรมในรูปแบบต่าง ๆ ตั้งแต่การรณรงค์ วิทยากรผู้เชี่ยวชาญ ทักษะทางวิชาการ ไปจนถึงการผลักดันให้เกิดกระบวนการแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ในมหาวิทยาลัยและชุมชนโดยรอบอย่างยั่งยืน ภายใต้แนวคิด “เด็กคิด เด็กทำ เด็กนำ ผู้ใหญ่หนุน”
ข้อมูล : สถาบันยุวทัศน์แห่งประเทศไทย (ยท.)
Smartnews เผยแพร่ 27 มิถุนายน 2563