คอลัมน์ :โรงเรียนปลอดบุหรี่
แม้ว่ายอดผู้ติดเชื้อโควิด - 19 ยังคงมีแนวโน้มที่สูงขึ้นในแต่ละวัน แต่การรณรงค์เรื่องบุหรี่ ก็ยังคงต้องสร้างกระแสและรณรงค์ควบคู่กันไปอย่างต่อเนื่อง เพราะว่า องค์การอนามัยโลกระบุชัดว่า "การสูบบุหรี่ทำให้เสี่ยงติดโควิดสูง" เมื่อวันที่ 7 สิงหาคม 2564
เครือข่ายครูเพื่อโรงเรียนปลอดบุหรี่ จัดอบรมพัฒนาศักยภาพนักเรียน สังกัด สพม.เขต 1 และ เขต 2 ในกรุงเทพมหานคร.สร้างนักเรียนขับเคลื่อนงานรณรงค์ เพื่อโรงเรียนปลอดบุหรี่ เป็นการอบรมแบบออนไลน์ ผ่านโปรแกรม ZOOM เริ่มเชคอินกันในเวลา 9 โมงเช้า สมาชิกกว่า 100 คน จาก 29 โรงเรียน
เมื่อครบแล้วเริ่มด้วย คุณครูสุวิมล จันทร์เปรมปรุง ประธานเครือข่ายครูเพื่อโรงเรียนปลอดบุหรี่ กล่าวทักทายบอกเล่าถึงความสำคัญของการอบรมในวันนี้ และพาไปรู้จักกับต้นกำเนิดของบุหรี่ รวมถึงปลุกพลังนักรณรงค์ที่มีอยู่ในคนรุ่นใหม่ และพร้อมจะร่วมกันขับเคลื่อนงานรณรงค์เพื่อโรงเรียนปลอดบุหรี่ โดยยึดหลักคติที่ว่า "แม้อุปสรรค์จะยิ่งใหญ่แค่ไหน หากว่าเราร่วมมือกัน ก็จะแก้ไขปัญหานั้นให้ลุล่วงไปได้"
จากนั้น (พี่อ้อย) คุณชวาลา ภวภูตานนท์ ณ มหาสารคาม หัวหน้าทีม GenZ ได้มาพูดถึงบทบาทของ Gen Z ในการเป็นนักขับเคลื่อนงานรณรงค์แบบเป็นทีม โดยการจัดตั้งเป็นชมรม Gen Z ภายในโรงเรียน เพื่อจะได้ร่วมกันคิด ร่วมกันทำภาระกิจนักรณรงค์ ด้วยการดำเนินกิจกรรมการรณรงค์ในโรงเรียนของตนเอง และชุมชนรอบข้างโรงเรียน ในรูปแบบ online ให้เป็นไปอย่างต่อเนื่องและเป็นรูปธรรม เป็นการขับเคลื่อนภายใต้การเป็นสมาชิก Gen Z Gen strong ของมูลนิธิรณรงค์ฯ มาทำความรู้จักกับบุหรี่ไฟฟ้า บุหรี่ไฟฟ้าคือบุหรี่ธรรมดาที่บริษัทบุหรี่จับมาแปลงร่าง ให้ดูทันสมัย เหมาะกับวัยรุ่น บริษัทบุหรี่พยายามออกผลิตภัณฑ์รูปแบบใหม่ๆ เพื่อให้เข้าถึงกลุ่มเยาวชน แต่มีอันตรายเทียบเท่าบุหรี่ธรรมดานั่นเอง
โดยคุณครูอนงค์ พัวตระกูล เครือข่ายครูส่วนกลาง ได้มาตีแผ่ถึงที่มาของบุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้าที่ควรรู้ ในบทบาทของ Gen Z เราจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องรู้ เพื่อปกป้องตนเองและเพื่อนๆ จากการตกเป็นเหยื่อของบริษัทบุหรี่ จากนั้นมาทำความเข้าใจกับ "บ้านปลอดบุหรี่" เพื่อที่จะสามารถเชิญชวนไม่ให้คนที่สูบบุหรี่ สูบในบ้าน เพราะว่าควันบุหรี่เป็นอันตรายต่อคนใกล้ชิด และสามารถช่วยเหลือหากต้องการเลิกสูบ โดยคุณครูวราภรณ์ หงษ์ดิลกกุล
ปิดท้ายด้วย เทคนิก "การสร้างแคมเปญรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่" ผ่านช่องทางออนไลน์อย่างไร ให้โดน ให้ปัง ไม่ว่าจะเป็น facebook, Line, Twitter, podcast, clubhouse เป็นต้น สิ่งที่ต้องคำนึงคือ สื่อจะเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายได้อย่างไร และกลุ่มเป้าหมายจะเข้าถึงสื่อที่เราสื่อสารออกไปอย่างไร กับทุกๆ ช่องทาง ซึ่ง อาจารย์ (เก่ง) มนัสวี พัวตระกูล จากมหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา ได้มาแนะนำเทคนิกต่าง ๆ ตั้งแต่การเขียนคอนเทนท์ การติดแฮทแท็ก รูปแบบสื่อที่เหมาะสมกับแต่ละช่องทาง
ได้รับการตอบรับจากน้องๆ ทุกคน เพราะเป็นเรื่องที่ใกล้ตัวและทำอยู่แล้ว เชื่อแน่ว่า หลังจากการอบรมในครั้งนี้ บรรดา Gen Z Gen strong จะเป็นคนรุ่นใหม่ที่ไม่สูบบุหรี่ และจะเป็นพลังสำคัญในการขับเคลื่อนงานรณรงค์ เพื่อโรงเรียนปลอดบุหรี่ สู่สังคมไทยปลอดบุหรี่ได้อย่าง Strong แน่นอน
ข้อมูลโดย SmartNews
เผยแพร่ 10 สิงหาคม 2564