คอลัมน์ : จับกระแส
สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับภาคีเครือข่าย จัดเวที “Virtual Talk แรงบันดาลใจจากเครือข่ายงานรณรงค์เหล้าบุหรี่” เพื่อถอดบทเรียนคนทำงานรณรงค์เหล้า-บุหรี่ เปิดมุมมองแง่คิดสู่การสร้างแรงบันดาลใจ กลายเป็นจุดเปลี่ยนสู่ความสำเร็จ
น.ส.รุ่งอรุณ ลิ้มฬหะภัณ รักษาการผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงหลัก สสส. กล่าวว่า สสส.พยายามอย่างยิ่งในการร่วมมือกับเครือข่ายต่างๆ เพื่อรณรงค์ให้ประชาชนลด ละ เลิกปัจจัยเสี่ยงที่มีผลกระทบต่อสุขภาพ ไม่ว่าจะเป็นเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ บุหรี่ สารเสพติดต่างๆ เพราะปัจจัยเสี่ยงเหล่านี้ไม่ได้ส่งผลกระทบเพียงผู้บริโภคโดยตรงเท่านั้น แต่ยังมีผลกระทบทางอ้อมกับบุคคลอื่น และทำลายสุขภาพคนใกล้ชิด ดังนั้นจึงเป็นเรื่องที่ทุกฝ่ายต้อง ช่วยกันรณรงค์ลด ละ เลิกปัจจัยเสี่ยงด้านสุขภาพเหล่านี้ลงให้ได้ เพื่อเป็นการปกป้องสุขภาพของคนในสังคมโดยรวม
ศ.นพ.ประกิต วาทีสาธกกิจ เลขาธิการมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ กล่าวว่า การรณรงค์ให้คนเลิกสูบบุหรี่ 34 ปีที่ผ่านมา ต้องทำงานกันหนักมากเพราะเป็นการต่อสู้กับสิ่งเสพติด และธุรกิจที่มีมูลค่ามหาศาล โดยมีอุปสรรค 4 ข้อ คือ
1.บริษัทบุหรี่จะขัดขวางนโยบาย ขัดขวางการขึ้นภาษี กฎหมายต่าง ๆ ที่จะมาควบคุมการบริโภคยาสูบ มีการวิ่งเต้นกับฝ่ายการเมืองทำให้สิ่งที่เราเสนอไม่สามารถทำได้ หรือทำได้ยาก จนถึงทุกวันนี้ก็ยังคงเป็นปัญหาหมายเลขหนึ่งอยู่ เช่น ตั้งแต่ปี 2535 เราผลักดันกฎหมายห้ามไม่ให้เติมสารใดๆ อย่างเช่น เมนทอล เพราะทำให้เด็กติดและเลิกยากจนป่านนี้ก็ยังออกกฎนี้ไม่ได้
2.ความไม่แน่นอนของการเมืองบางรัฐบาลก็เอาจริงแต่หลายรัฐบาลก็ไม่สนใจเรื่อง การควบคุมยาสูบ เช่น มีกฎหมายแต่ก็ไม่สนับสนุนให้เกิดการบังคับใช้กฎหมาย
3.ขาดการมีส่วนร่วมของภาคส่วนต่างๆ โดยเฉพาะหน่วยงานภาครัฐ เช่น การส่งเสริมให้หน่วยงานปลอดบุหรี่ ยิ่งกระทรวงการคลังไม่ได้ขึ้นภาษีบุหรี่ ยาเส้น อย่างมีประสิทธิภาพ
ขณะที่ในภาคองค์กรเอกชน ภาคประชาชนก็เข้ามามีส่วนร่วมน้อย โดยเฉพาะ 17 ปีแรกที่ยังไม่มีงบประมาณจาก สสส. ภาคีภาคประชาชนที่ทำงานอย่างต่อเนื่องยังมีน้อยมาก แม้ว่าทุกคนจะบอกว่า การควบคุมยาสูบเป็นเรื่องสำคัญ และเห็นด้วยที่จะมีการรณรงค์ แต่เนื่องจากขาดงบประมาณสนับสนุน จึงยังไม่มีใครมาร่วมทำงานด้วย 4.งบประมาณไม่เพียงพอ ในส่วนที่ สสส. ให้มา 300 กว่าล้านบาทต่อปี รวมกระทรวงสาธารณสุขประมาณ 400 ล้านบาทต่อปี ถือว่าน้อยมากในการทำงานควบคุมยาสูบทั่วประเทศ ถ้าเทียบกับอังกฤษใช้ปีละ 1.2 หมื่นล้านบาทต่อปี “นับเป็นอุปสรรค 4 ข้อ ที่ทำให้การลดละเลิกการสูบบุหรี่เป็นไปได้อย่างช้ากว่าที่ควรจะเป็น ซึ่งเป็นกันแบบนี้ทั่วโลก
อย่างไรก็ตาม การทำงานอย่างหนักตลอด 34 ปีของเราก็ให้ผลที่ดีพอสมควรเมื่อเทียบกับประเทศในระดับการพัฒนาเท่ากัน ถือว่าเราค่อนข้างดี คือลดเปอร์เซ็นต์การสูบบุหรี่ในประชากรอายุ15 ปีขึ้นไป ลงจาก32% ในปี 2534 เหลือ 19% ในปี 2560 หรือลดลงไป 40% ขณะนี้ไทยถือว่าดีเป็นอันดับ 3 ในอาเซียนรองจากสิงคโปร์ และบรูไน จริงๆ เรามีกฎหมายที่ค่อนข้างดี แต่สอบตกเรื่องการบังคับใช้ และปัญหาคือรัฐบาลยังไม่ได้ให้สิทธิการรักษาเลิกบุหรี่อยู่ในชุดสิทธิประโยชน์ ประกันสังคมและบัตรทองนี่คือจุดอ่อนหลักๆ" นพ.ประกิต กล่าว
ศ.นพ.ประกิต ได้ฝากถึงเรื่องนี้ ให้ทุกฝ่ายต้องช่วยกันสร้างค่านิยมไม่สูบบุหรี่ และช่วยกันสนับสนุนกฎระเบียบเกี่ยวกับการไม่สูบในที่สาธารณะ และช่วยกันป้องกันไม่ให้เด็กเข้าไปติด ในที่สุดแล้วบุหรี่จะ End Game คือ ประเทศต่างๆ ตั้งเป้าลดอัตราการสูบให้ต่ำกว่า 5% ให้ได้เร็ว ๆ นี้ ซึ่งวันนี้ของไทยอัตราการสูบอยู่ที่ 19% การจะเดินทางไปถึง 5% อาจจะต้องใช้เวลานานกว่า 30 ปี เพราะทุกวันนี้เราลดลงเพียงปีละ 0.4% หลัง ๆ มานี้แทบจะไม่ลดลงเลย เพราะบริษัทบุหรี่แข่งขันกันและลดราคา ทางฝ่ายรัฐเราเองก็ไม่ได้ลงแรงมากนัก
ที่มา : สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ สสส.
Smartnews เผยแพร่วันที่ 19 สิงหาคม 2563