คอลัมน์: อสม.ช่วยคุณเลิกได้
การสำรวจในปี พ.ศ.2554 พบว่า ชายไทยสูบบุหรี่ร้อยละ 46.6 หญิงไทยร้อยละ 2.6 นั่นหมายความว่า โดยเฉลี่ยในสิบครัวเรือนที่ อสม. แต่ละคนรับผิดชอบจะมีสี่ครัวเรือนที่มีคนสูบบุหรี่ โอกาสที่ อสม. จะช่วยให้คนในครัวเรือนที่รับผิดชอบเลิกสูบบุหรี่จึงมีมาก หน้าที่หลักข้อหนึ่งของ อสม. คือการติดตามดูแลผู้ป่วยโรคเรื้อรังที่อยู่ในครัวเรือนที่ อสม.แต่ละคนรับผิดชอบ โรคเรื้อรังที่คนไทยเป็นกันมากคือ โรคความดันสูง โรคเบาหวาน โรคอัมพาตหรือ อัมพฤกษ์ โรคเส้นเลือดหัวใจ โรคถุงลมปอดโป่งพอง
ในจำนวนคนไทยที่เป็นโรคเรื้อรังเหล่านี้ 14.9 ล้านคน มีถึง 2.5 ล้านคนที่ยังสูบบุหรี่อยู่ โดยเป็นเพศชาย 2.35 ล้านคน (ข้อมูล พ.ศ.2552) การสูบบุหรี่จะทำให้การรักษาโรคเหล่านี้ยากขึ้น เกิดโรคแทรกเร็วขึ้น และจะเสียชีวิตเร็วขึ้น แม้ว่าจะสามารถคุมเบาหวาน คุมความดันด้วยยาได้ดีก็ตาม การช่วยให้คนที่มีโรคประจำตัวเลิกสูบบุหรี่ มีโอกาสสำเร็จสูงกว่าช่วยคนที่ไม่มีโรคประจำตัวให้เลิกบุหรี่
หลักสำคัญ 3 ประการของการควบคุมยาสูบ
1.ช่วยให้คนเลิกยาสูบ เพื่อสุขภาพที่ดีขึ้น ลดความเสี่ยงจากการเกิดโรคและจะได้ไม่เป็นตัวอย่างที่ไม่ดีต่อสุขภาพ ให้เด็กและวัยรุ่นเห็น
2.ป้องกันเด็กและเยาวชนจากการเริ่มสูบบุหรี่ โดยไม่มีการสูบบุหรี่ในบ้าน และไม่มีตัวอย่างคนสูบบุหรี่ให้เห็น
3.การป้องกันคนไม่สูบบุหรี่จากควันบุหรี่มือสอง โดยการสร้างค่านิยมสังคมไม่สูบบุหรี่ โดยทำบ้านให้ปลอดบุหรี่ ช่วยกันดูแลไม่ให้มีการสูบบุหรี่ในบ้าน ที่ทำงาน และสถานที่ห้ามสูบตามกฎหมาย เช่น วัด โบสถ์ มัสยิด โรงเรียน สถานเลี้ยงเด็ก ห้องสุขาสาธารณะ สนามกีฬา รถโดยสารสาธารณะเป็นต้น การห้ามสูบบุหรี่ทำให้หาที่สูบบุหรี่ยาก สังคมรังเกียจจะทำให้เลิกบุหรี่ง่ายขึ้น และทำให้เด็กๆ เกิดค่านิยมไม่สูบบุหรี่ขึ้นอีกด้วย
ข้อมูลโดย : ผศ.กรองจิต วาทีสาธกกิจ จากหนังสือ " 1 อสม.ช่วย 1 คนเลิกยาสูบ"