มูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่
ACTION ON SMOKING AND HEALTH FOUNDATION
Press Release
ศูนย์ข่าว มูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่
วันที่ 30 ตุลาคม 2567
วันที่ข่าวตีพิมพ์ : สามารถเผยแพร่ได้ทันที
เวทีเชิดชูเกียรติโรงเรียนปลอดบุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้า พื้นที่กรุงเทพมหานคร
วันนี้ (30 ตุลาคม 2567) เครือข่ายครูเพื่อโรงเรียนปลอดบุหรี่ มูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ สนับสนุนโดย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ จัด “เวทีเชิดชูเกียรติโรงเรียนปลอดบุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้า พื้นที่กรุงเทพมหานคร” เพื่อเป็นการเชิดชูเกียรติโรงเรียนที่เป็นศูนย์การเรียนรู้โรงเรียนปลอดบุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้า และ โรงเรียนต้นแบบปลอดบุหรี่ บุหรี่ไฟฟ้า กัญชา และเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ในพื้นที่กรุงเทพฯ รวมถึงสนับสนุนให้เกิดการแลกเปลี่ยนบทเรียนการดำเนินงานเพื่อขับเคลื่อนงานโรงเรียนปลอดบุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้า
ศ.นพ.ประกิต วาทีสาธกกิจ ประธานมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ เปิดเผยว่า จากการสำรวจ การบริโภคผลิตภัณฑ์ยาสูบในเยาวชนไทย (Global Youth Tobacco Survey : GYTS) ปี 2565 โดยกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข ร่วมกับ คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล องค์การอนามัยโลกประจำประเทศไทย และศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคแห่งสหรัฐอเมริกา ในกลุ่มนักเรียนอายุ 13-15 ปี จำนวน 6,752 คน จากโรงเรียน 87 แห่งทุกภูมิภาค พบว่า การสูบบุหรี่ไฟฟ้าของเด็กและเยาวชนเพิ่มเป็น 17.6% ในปี 2565 จากเดิมอยู่ที่ 3.3% ในปี 2558 เทียบเท่ากับเพิ่มขึ้น 5.3 เท่า ที่สำคัญยังพบว่า มีผู้เริ่มใช้บุหรี่ไฟฟ้าอายุน้อยที่สุดอยู่ที่ 7 ปี จากกลยุทธ์การตลาดของบริษัทผู้ผลิตที่มุ่งเป้าเยาวชน สร้างภาพลักษณ์ให้บุหรี่ไฟฟ้าเหมือนของเล่น มีกลิ่นหอม และเยาวชนหญิงสูบบุหรี่ไฟฟ้าเพิ่มมากขึ้น อีกทั้ง จากข้อมูลผลการสำรวจของ รศ.ดร.จักรพันธ์ เพ็ชรภูมิ อาจารย์และหัวหน้าหน่วยปฏิบัติการวิจัยและวิชาการด้านการควบคุมยาสูบภาคเหนือ คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร เรื่อง “การใช้บุหรี่ไฟฟ้าของนักเรียนมัธยมศึกษา และการปรับตัวในการจัดการเรียนการสอนเกี่ยวกับพิษภัยของบุหรี่ในสถานการณ์การแพร่ระบาดของบุหรี่ไฟฟ้าของครูในโรงเรียน” ระหว่างเดือนพฤษภาคม – สิงหาคม 2566 โดยกลุ่มตัวอย่าง คือ นักเรียนมัธยมศึกษาปีที่ 1 – 6 จำนวน 6,147 คน จาก 16 จังหวัด ครอบคลุมทุกภูมิภาคของประเทศไทย ซึ่งผลการศึกษาพบว่า 39.3% ไม่เชื่อว่าการใช้บุหรี่ไฟฟ้าทำให้เป็นโรคหัวใจและหลอดเลือด 35.8% ไม่เชื่อว่าการใช้บุหรี่ไฟฟ้าทำให้ปอดอักเสบรุนแรง (EVALI) และ 34.2% ไม่เชื่อว่าการสูบบุหรี่ไฟฟ้าส่งผลเสียต่อสมองและการเรียนรู้ ดังนั้นการปกป้องเด็กและเยาวชนให้รู้เท่าทันภัยบุหรี่ไฟฟ้าจึงเป็นสถานการณ์ที่ต้องดำเนินการเร่งด่วน
นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และ ประธานคณะกรรมการควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบกรุงเทพมหานคร (คผยจ.กรุงเทพฯ) กล่าวว่า กรุงเทพมหานคร ตระหนักถึงความสำคัญของการแพร่ระบาดของบุหรี่ไฟฟ้า ที่มุ่งเป้าไปยังกลุ่มเด็กและเยาวชนในขณะนี้ ซึ่งนับเป็นปัญหาระดับชาติเร่งด่วนที่ทุกภาคส่วนต้องให้ความสำคัญสื่อสารสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องถึงอันตรายของการเสพติดบุหรี่ไฟฟ้า โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับกลุ่มเยาวชนที่อยู่ในช่วงวัยที่ควรได้รับการพัฒนาให้รอบด้าน ทักษะด้านการศึกษาและสังคม ในขณะเดียวกันต้องให้ความสำคัญ ในการพัฒนาของสมองที่กำลังเจริญเติบโต ไม่ให้ได้รับอันตรายจากนิโคตินในบุหรี่มวนและบุหรี่ไฟฟ้า จนเกิดการเสพติดไปตลอดชีวิต ดังนั้น การจัดให้เด็กอยู่ในพื้นที่ที่ปลอดภัยจึงมีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง และสถานศึกษาควรเป็นหนึ่งในสถานที่สำคัญที่จะปลูกฝังค่านิยมให้เยาวชนปลอดภัยจากบุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้า โดยในส่วนของกรุงเทพมหานคร ได้มีนโยบายในการปกป้องเยาวชนจากบุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้า มีการออกประกาศ 2 เรื่อง คือ
1) ประกาศกรุงเทพมหานคร เรื่องแนวทางปฏิบัติ เพื่อการป้องกันและควบคุมบุหรี่ไฟฟ้า น้ำยา หรืออุปกรณ์ต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับบุหรี่ไฟฟ้าในโรงเรียนสังกัดกรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ 31 พฤษภาคม 2567 ที่ผ่านมา ที่ทุกโรงเรียนและทุกเขตต้องปฏิบัติ เพื่อให้โรงเรียนเป็นเขตปลอดบุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้าอย่างชัดเจนเป็นรูปธรรม
2) ประกาศคณะกรรมการควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบกรุงเทพมหานคร เรื่องแนวทางปฏิบัติเพื่อการควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบกรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2567 ก็ได้กำหนดไว้ชัดเจนว่า ให้ โรงเรียน/สถานศึกษา ทุกแห่งในพื้นที่กรุงเทพมหานคร เป็นเขตปลอดบุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้า เพื่อเป็นการสร้างพื้นที่ปลอดภัยรอบสถานศึกษาเพื่อป้องกันการเข้าถึงบุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้าที่ทุกภาคส่วนต้องมีส่วนร่วม
กิจกรรม “เวทีเชิดชูเกียรติโรงเรียนปลอดบุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้า พื้นที่กรุงเทพมหานคร” ในวันนี้ นับเป็นรูปธรรมของความสำเร็จขั้นหนึ่ง ที่โรงเรียนในพื้นที่กรุงเทพฯ จะเป็นต้นแบบในการขยายผลการดำเนินงานโรงเรียนปลอดบุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้าให้ครอบคลุมพื้นที่ อย่างกว้างขวางและยั่งยืน ต่อไปในอนาคต
ด้านนางอนงค์ พัวตระกูล รองประธานคณะกรรมการบริหารเครือข่ายครูเพื่อโรงเรียนปลอดบุหรี่ กล่าวว่า เครือข่ายครูเพื่อโรงเรียนปลอดบุหรี่ มูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ โดยการสนับสนุนจาก สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ ได้ขับเคลื่อนงานโรงเรียนปลอดบุหรี่มาตั้งแต่ปี พ.ศ.2548 และดำเนินงานมาอย่างต่อเนื่อง โดยมีเป้าหมายเพื่อปกป้องเด็กและเยาวชนจากบุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้า โดยกรุงเทพมหานครเป็นพื้นที่ดำเนินงาน ประสานความร่วมมือกับองค์กรต้นสังกัดของโรงเรียน ได้แก่ สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษากรุงเทพมหานคร ทั้ง เขต 1 และ เขต 2, สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษากรุงเทพมหานคร, สำนักการศึกษา กรุงเทพมหานคร และสำนักอนามัย กรุงเทพมหานคร
ในปี พ.ศ. 2565-2566 เครือข่ายครูเพื่อโรงเรียนปลอดบุหรี่ มูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ขับเคลื่อนงานในบทบาท “จุดจัดการเพื่อโรงเรียนปลอดบุหรี่กรุงเทพมหานคร” สนับสนุนให้เกิดเครือข่ายโรงเรียนปลอดบุหรี่ จำนวนทั้งหมด 426 แห่ง ซึ่งจากจำนวนนี้ มีโรงเรียนที่ผ่านกระบวนการประเมินพัฒนาเป็น “ศูนย์การเรียนรู้โรงเรียนปลอดบุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้า” และ “โรงเรียนต้นแบบ ปลอดบุหรี่ บุหรี่ไฟฟ้า กัญชา และเครื่องดื่มแอลกอฮอล์” และเพื่อเป็นการเชิดชูเกียรติให้กับ “โรงเรียน” และ “ครูผู้ขับเคลื่อนงาน” ดังกล่าว เครือข่ายครูเพื่อโรงเรียนปลอดบุหรี่ มูลนิธิรณรงค์เพื่อการ ไม่สูบบุหรี่ จึงได้จัดกิจกรรมมอบโล่รางวัล “ศูนย์การเรียนรู้โรงเรียนปลอดบุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้า” จำนวน 1 และ “โรงเรียนต้นแบบ ปลอดบุหรี่ บุหรี่ไฟฟ้า กัญชา และเครื่องดื่มแอลกอฮอล์” จำนวน 19 โรงเรียน และจะมีการขยายโรงเรียนต้นแบบปลอดบุหรี่และบุหรี่ไฟฟ้าเพิ่มมากขึ้นต่อไป
หากต้องการข้อมูลเพิ่มเติมกรุณาติดต่อ มูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ 02-278-1828