ในปี พ.ศ. 2539 ผมได้สรุปบทเรียนการทำงานรณรงค์ไม่สูบบุหรี่เป็นเอกสารวิจัยของนักศึกษา วปอ. รุ่น 399 ว่าการรณรงค์ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการสูบบุหรี่ของสังคม เรามีขบวนการทำงานอย่างไรบ้าง สรุปเป็นประเด็นได้ ดังนี้
กลยุทธ์ในการรณรงค์ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการสูบบุหรี่
เมื่อวิเคราะห์ถึงกลยุทธ์ในการรณรงค์ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการสูบบุหรี่ ของโครงการรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ พบว่า กลยุทธ์หลักที่ใช้ คือ
- การรณรงค์โดยให้ข้อมูลข่าวสาร ซึ่งสามารถแบ่งออกได้ 3 ระดับ คือ
- การให้ข้อมูลทางสื่อสารมวลชน (Mass Communication)
- การให้ข้อมูลแบบเจาะเฉพาะกลุ่ม (Selective Communication)
- การให้ข้อมูลรายบุคคล (Personal Communication)
กลยุทธ์ดังกล่าว นับเป็นกลยุทธ์หลักในการรณรงค์ เนื่องจากเป็นกลไกสำคัญในการกระจายข้อมูลข่าวสารไปถึงประชาชน
- การชักชวนกลุ่มหรือบุคคล (Mobilizing Influence Groups) ซึ่งมีอิทธิพลในสังคมให้เข้ามามีบทบาทและมีส่วนร่วมในการรณรงค์ เช่น ดารา นางสาวไทย นักการเมือง คอลัมนิสต์ ตลอดจนผู้ป่วยจากการสูบบุหรี่
- การสร้างการมีส่วนร่วมของสังคมในการร่วมรณรงค์ (Public Participation) โดยผ่านกิจกรรมต่างๆ เช่น การประกวดคำขวัญ ประกวดภาพวาด การร่วมในกิจกรรมต่างๆ ซึ่งจัดขึ้นเป็นระยะๆ
- การใช้มาตรการกฎหมายและกระบวนการทางการเมือง (Political and Legal Action) โดยการผลักดันให้รัฐบาลออกกฎหมายออกมา 2 ฉบับ ซึ่งเป็นกลไกสำคัญในการจัดระเบียบของสังคมในเรื่องการสูบบุหรี่ และได้อาศัยกระบวนการทางการเมือง ในการผลักดันให้รัฐขึ้นภาษีสรรพสามิตบุหรี่จนเป็นผลสำเร็จ ซึ่งเป็นมาตรการที่สำคัญในการลดอัตราการสูบบุหรี่ในหมู่เยาวชนได้
- การใช้กระบวนการด้านการตลาดเพื่อสังคม (Social Marketing) ในการดำเนินกิจกรรมเฉพาะต่างๆ โดยมีการกำหนดเป้าหมายเฉพาะกำหนดประเด็นที่ชัดเจนและจัดทำสื่อ และกระจายสื่อให้สอดคล้องกับประเด็นและกลุ่มเป้าหมาย
- การสร้างค่านิยมที่ไม่สูบบุหรี่โดยผสมผสานเข้าไปในระบบการเรียนการสอนของโรงเรียน (Comprehensive school program) โดยเฉพาะอย่างยิ่งตั้งแต่วัยอนุบาล เพื่อเป็นการสร้างภูมิคุ้มกันแก่เด็ก ตั้งแต่เยาว์วัย และบ่มเพาะค่านิยมที่ไม่สูบบุหรี่
ปัจจัยสำคัญที่ทำให้รณรงค์ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการสูบบุหรี่ประสบผลสำเร็จ
- การสร้างเครือข่ายการรณรงค์กับวงการต่างๆ ทั้งภาครัฐและภาคเอกชน ตั้งแต่สื่อมวลชน ศิลปิน วงการกีฬา องค์กรสตรี บริษัทต่างๆ โดยเน้นการประสานงานและการสร้างเครือข่ายกับบุคคลต่างๆ ซึ่งทำให้การรณรงค์ขยายไปสู่ประชากรกลุ่มต่างๆ อย่างมีประสิทธิภาพ ที่สำคัญมีการสร้างเสริมให้เกิดความภูมิใจและความปิติในหมู่ผู้มีส่วนร่วมในการรณรงค์ ซึ่งทำให้เครือข่ายการรณรงค์ขยายไปกว้างขวางยิ่งขึ้น
- การสามารถชี้ให้สังคมเห็นว่า การรณรงค์ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการสูบบุหรี่มิใช่เป็นหน้าที่วงการแพทย์และสาธารณสุขเพียงหน่วยงานเดียว แต่เป็นความรับผิดชอบร่วมกันของทุกฝ่าย
- การใช้กลยุทธ์ด้านบวก ในการนำเสนอและแก้ไขปัญหา ซึ่งทำให้การรณรงค์ได้รับการยอมรับทั้งจากผู้สูบบุหรี่และผู้ไม่สูบบุหรี่
- ข้อมูลที่เชื่อถือได้ มีความถูกต้อง ชัดเจน และมีการนำเสนอในมิติที่เกี่ยวข้องกับผู้รับข้อมูล มิใช่เฉพาะด้านการแพทย์ แต่นำเสนอด้านสังคมและวัฒนธรรมด้วย
- คณะทำงานประกอบด้วยผู้ที่มีความรู้จากสาขาต่างๆ ทั้งด้านการแพทย์ สื่อมวลชน สังคมศาสตร์ และอื่นๆ
- มีแผนการดำเนินงานที่เป็นระบบ และมีการกำหนดกิจกรรมอย่างชัดเจน
- มีเงินทุนจำนวนหนึ่ง แม้จะไม่มากแต่ประเด็นสำคัญ คือ ความคล่องตัวในการใช้งาน
- กระบวนการดำเนินงานมีความครอบคลุมในทุกระดับ ทั้งระดับการกำหนดนโยบายระดับหน่วยย่อยของชุมชน และระดับปัจเจกชน
- กระแสรณรงค์ในเรื่องนี้ในระดับโลกที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง มีผลอย่างมากในการทำให้การรณรงค์ในประเทศไทยก้าวไปข้างหน้าอย่างรวดเร็ว
ข้อเสนอแนะต่อการนำกลยุทธ์การรณรงค์ไปประยุกต์ใช้ในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสังคมอื่นๆ
- การมีองค์กรที่ดูแลรับผิดชอบและดำเนินงานรณรงค์ในเรื่องหนึ่งเรื่องใดเป็นการเฉพาะอย่างจริงจังและต่อเนื่อง นับว่ามีความจำเป็นอย่างยิ่ง ต่อการพัฒนาองค์ความรุ้และกลวิธีการดำเนินงานในการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมสังคม
- รัฐต้องจัดสรรงบประมาณเพื่อการดำเนินงานขององค์กรที่กล่าวแล้ว ทั้งองค์กรของภาครัฐและเอกชน
- กระบวนการดำเนินงานและการบริหารงานการรณรงค์ปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ต้องมีความคล่องตัวว่องไว ทันสถานการณ์ไม่ติดกับระบบระเบียบที่ยุ่งยากหรือซับซ้อน
- ในการดำเนินงาน ต้องให้ความสำคัญต่อกระบวนการใช้สื่อ และให้ความสำคัญต่อความละเอียดอ่อนของข้อมูลข่าวสารที่เผยแพร่ออกไป
- วัตถุประสงค์และเป้าหมายของการรณรงค์ต้องมีความโปร่งใส ปลอดการแทรกแซงทางการเมือง หรือไม่ตกเป็นช่องทางในการแสวงหาประโยชน์ขององค์กรใดหรือบุคคลใดบุคคลหนึ่ง
- ในการดำเนินงานต้องให้ความสำคัญและมีความพร้อมด้านข้อมูลข่าวสาร ซึ่งจะต้องมีความทันสมัยและทันสถานการณ์ และควรมีการวิจัยในเรื่องนั้นเป็นการเฉพาะอย่างเป็นระบบ เพื่อให้เกิดความรอบรู้อย่างถ่องแท้และทันกับสถานการณ์จริงที่เกิดขึ้น
- การมีผู้นำทางความคิดในการรณรงค์ในแต่ละเรื่อง นับว่ามีความจำเป็นอย่างยิ่ง ที่จะทำให้การรณรงค์สัมฤทธิ์ผล
- รัฐต้องสนับสนุนให้มีมาตรการทางกฎหมายที่เกี่ยวข้อง เพื่อเป็นกลไกทางสังคมในการควบคุมพฤติกรรมต่างๆ
- รัฐควรร่วมกับองค์กรพัฒนาเอกชนในการดำเนินงานรณรงค์ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมในเรื่องต่างๆ เพราะในบางบทบาทรับมีข้อจำกัดในการดำเนินงาน ขณะที่องค์กรพัฒนาเอกชนเองไม่สามารถทำงานที่ครอบคลุมกลุ่มเป้าหมายได้กว้างขวางเท่าภาครัฐ
- สิบปีผ่านไป ผมคิดว่าเอกสารวิเคราะห์วิจัยชิ้นนี้ยังทันสมัยและสามารถนำไปปรับใช้กับการแก้ปัญหาพฤติกรรมสังคมอื่นๆ สิ่งที่เปลี่ยนไป คือ ในการทำงานช่วงก่อน มีข้อจำกัดเรื่องไม่มีแหล่งงบประมาณสนับสนุนการดำเนินงาน แต่ปัจจุบันนี้โชคดีที่มีสสส.เข้ามาสนับสนุน ในส่วนของประเด็นอื่น ผมคิดว่าทุกข้อมีความสำคัญและควรจะดำเนินการให้ครบวงจรถึงจะเกิดประสิทธิภาพสูงสุด