Gen Z Academy : Young media producer“คลิปแบบไหน โดนใจ GenZ ใคร ๆ ก็ Like ใคร ๆ ก็แชร์”
เมื่อวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2560 นายปิยบุตร เฉลิมวงศ์ รองนายแพทย์สาธารณาสุขจังหวัดลำพูน นักวิชาการสาธารณสุขเชี่ยวชาญด้านการส่งเสริมพัฒนา ให้เกียรติเป็นประธานในการเปิดการอบรมเชิงปฏิบัติการ การผลิตสื่อรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ Gen Z Academy : Young media producer“คลิปแบบไหน โดนใจ GenZ ใคร ๆ ก็ Like ใคร ๆ ก็แชร์” ซึ่งจัดโดย มูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ ระหว่างวันที่ศุกร์ที่ 17 – วันอาทิตย์ที่ 19 กุมภาพันธ์ 2560 ณ ห้องประชุมเทพประทาน โรงแรม เฮือนดาหลารีสอร์ท ตำบลป่าสัก อำเภอเมือง จ.ลำพูน
การอบรมดังกล่าว จัดขึ้นเพื่อ” เพื่อพัฒนาศักยภาพเยาวชนในจังหวัดลำพูน ให้เป็นผู้นำด้านการคิด การผลิตสื่อ Social Media ในประเด็น รณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ด้วยตัวเอง เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น โดยมีนักเรียนแกนนำเยาวชน GenZ Gen Strong จากจังหวัดลำพูน จำนวน 30 คน จาก 5 วิทยาลัยอาชีวะและ 10 โรงเรียนมัธยม และ 1 สำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบ และการศึกษาตามอัธยาศัยจังหวัดลำพูน ได้แก่
- วิทยาลัยเทคนิคลำพูน อ.เมือง
- วิทยาลัยเทคโนโลยีชรินรัตน์ลำพูน อ.เมือง
- วิทยาลัยการอาชีพบ้านโฮ่ง อ.บ้านโฮ่ง
- วิทยาลัยเทคโนโลยีหมู่บ้านครูภาคเหนือ อ.บ้านธิ
- วิทยาลัยเทคโนโลยี และการจัดการ องค์การบริหารส่วนจังหวัดลำพูน อ.ลี้
- โรงเรียนวัดหนองซิว อ.เมือง
- โรงเรียนธีรกานท์บ้านโฮ่ง อ.บ้านโฮ่ง
- โรงเรียนบ้านป่าตึง อ.บ้านธิ
- โรงเรียนนาทรายวิทยาคม อ.ลี้
- โรงเรียนบ้านหนองเงือก อ.ป่าซาง
- โรงเรียนวชิรป่าซาง อ.ป่าซาง
- โรงเรียนบ้านทาป่าสัก อ.แม่ทา
- โรงเรียนบ้านปงแม่ลอบ อ.แม่ทา
- โรงเรียนทุ่งหัวช้างพิทยาคม อ.ทุ่งหัวช้าง
- โรงเรียนบ้านต้นผึ้ง อ.เวียงหนองล่อง
- สำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบ และการศึกษาตามอัธยาศัยจังหวัดลำพูน
พร้อมคุณครูผู้ดูแล จำนวน 20 ท่าน
นายปิยบุตร เฉลิมวงศ์ กล่าวว่า การแก้ปัญหาสุขภาพจากการสูบบุหรี่ ต้องให้ความสำคัญในการขับเคลื่อนอย่างต่อเนื่องใน 2 เรื่องคือ การช่วยเหลือผู้ที่ติดอยู่แล้วให้เลิกสูบบุหรี่ และรณรงค์ป้องกันไม่ให้เยาวชนไปเสพติดบุหรี่ ซึ่งจากการสำรวจของสำนักงานสถิติแห่งชาติพบว่า อัตราการสูบบุหรี่ของคนไทยลดลงอย่างต่อเนื่อง จากร้อยละ 59 เป็นร้อยละ 39 (เฉพาะเพศชาย) แต่เนื่องจากจำนวนประชากรที่เพิ่มขึ้น จำนวนคนไทยที่สูบบุหรี่ในปี พ.ศ.2556 จึงลดลงจากปี พ.ศ.2534 เพียงเล็กน้อย และที่น่าเป็นห่วงคือ แนวโน้มการสูบบุหรี่กลับสูงขึ้นในกลุ่มเยาวชนและสตรี ทั้งนี้ เนื่องจากบริษัทบุหรี่ได้พัฒนาเทคนิคการตลาด รวมทั้งมีผลิตภัณฑ์ยาสูบชนิดใหม่ ๆ ออกสู่ตลาด เพื่อหาลูกค้ารายใหม่ที่เฉลี่ยติดบุหรี่เมื่ออายุ 17.4 ปี จำนวนอย่างน้อย 100,000 คนในแต่ละปี ทดแทนผู้สูบบุหรี่ที่เลิกสูบหรือเสียชีวิต
ขณะนี้มีเยาวชนอายุ 15-18 ปี ติดบุหรี่แล้วถึง 353,898 คน ซึ่งเด็กไทยที่สูบบุหรี่ทุก ๆ 10 คนนั้น 7 คน จะติดบุหรี่ไปตลอดชีวิต นั่นคือ เด็กไทย 247,728 คน ที่ติดบุหรี่แล้ว จะติดไปตลอดชีวิต ซึ่งครึ่งหนึ่งหรือ 123,864 คน จะป่วยและเสียชีวิตจากโรคที่เกิดจากการสูบบุหรี่ในอนาคต จากสถิติที่พบว่า เยาวชนกลุ่มอายุ 15-18 ปี หรืออายุน้อยกว่านี้ มีแนวโน้มที่จะเข้าสู่วงจรการเสพติดบุหรี่ ดังนั้น การป้องกันนักสูบหน้าใหม่จึงเป็นมาตรการที่สำคัญยิ่ง
การจัดกิจกรรมในครั้งนี้ถือเป็นการเปิดโอกาสให้เด็กและเยาวชน โดยเฉพาะเยาวชนกลุ่ม GenZ ได้พัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพให้เป็นผู้นำด้านการผลิตสื่อรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น
ขณะที่ นางสาวชวาลา ภวภูตานนท์ ณ มหาสารคาม ผู้ช่วยผู้จัดการมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ กล่าวว่า การอบรมในครั้งนี้ ได้รับความร่วมมือและการประสานงานจาก นางพวงผกา สุริวรรณ นักวิชาการสาธารณสุขชำนาญการพิเศษ สำนักงานสาธารณาสุขจังหวัดลำพูน ซึ่งเป็นเครือข่ายผู้นำอบรมการควบคุมยาสูบ รุ่นที่ 5 โดยได้เชื่อบูรณาการเชื่อมนักเรียนแกนนำ และต่อยอดการทำงานจากโครงการอาชีวะลำพูนปลอดบุหรี่ เพื่อเติมเต็มกิจกรรมการป้องกันนักสูบหน้าใหม่ในจังหวัดลำพูน ให้เข้มแข็งและต่อเนื่องมากยิ่งขึ้น ทั้งนี้ โดยเนื้อหาหลักในการอบรมจะเป็นการเน้นให้น้อง ๆ นักเรียนแกนนำ ได้เรียนรู้เรื่อง ทักษะการการสื่อสารเบื้องต้น รู้จัก Content คิด เลือกให้คลิก คลิปเราจะเจ๋ง ทักษะทางนิเทศศิลป์ และ ทักษะการผลิตภาพยนตร์ หนังสั้น – รายการทีวี ซึ่งน้อง ๆ ทุกคนจะได้ปฏิบัติงานจริงสร้างผลงานจริงด้วยตัวเอง ผลงานที่น้อง ๆ ผลิตออกมาจากการอบรมจะนำเสนอและเผยแพร่ผ่านช่องทาง Facebaook page GenZ Gen Strong : เลือกไม่สูบ