บุหรี่ไฟฟ้า...อันตรายมากกว่าที่คุณคิด

มูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่                    

ACTION  ON  SMOKING  AND  HEALTH  FOUNDATION

                                                                                                

 PressRelease 

ศูนย์ข่าว มูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ 

วันที่ 11  มกราคม  2560

วันที่ข่าวตีพิมพ์ สามารถเผยแพร่ได้ทันที

 

 

บุหรี่ไฟฟ้า...อันตรายมากกว่าที่คุณคิด

วันนี้ (11 มกราคม 2560) มูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ จัดเสวนาสื่อมวลชน เรื่อง “บุหรี่ไฟฟ้า...อันตรายมากกว่าที่คุณคิด”  เพื่อนำเสนอข้อมูล การรายงานของ US Surgeon General 2016:  THE FACTS on E-Cigarette Use Among Youth and Young  Adults  และข้อเท็จจริงเรื่องอันตรายจากบุหรี่ไฟฟ้า รูปแบบต่าง ๆ รวมถึงข้อมูลเกี่ยวกับมาตรการต่าง ๆ ในการควบคุมป้องกัน และปกป้องเยาวชนจากบุหรี่ไฟฟ้า ณ ห้องประชุมกรมประชาสัมพันธ์ ถนนพระราม 6 

รศ.นพ.สุริยเดว ทรีปาตี  ผู้อำนวยการสถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว มหาวิทยาลัยมหิดล  ได้เปิดเผยข้อมูลเอกสาร THE FACTS on E-Cigarette Use Among Youth and Young  Adults ของกระทรวงสาธารณสุขสหรัฐอเมริกา (US Surgeon General : 2016) พบว่า บุหรี่ไฟฟ้า หรือ E-Cigarettes เป็นอุปกรณ์รูปแบบใหม่ที่จะส่งผ่านสารนิโคตินเข้าสู่ร่างกายในรูปแบบละอองฝอยโดยไม่ต้องมีการเผาไหม้หรือการลุกไหม้  ด้วยบรรจุภัณฑ์ที่สวยหรู ดึงดูดใจและทันสมัย คล้ายซิการ์ ปากกา สีสันสวยงาม ปรุงรสชาติต่าง ๆ เช่น รสเชอร์รี่ ช็อกโกแลต วานิลลา  ซึ่งใน 2-3 ปีมานี้ วัยรุ่นของสหรัฐอเมริกา มีอัตราการใช้บุหรี่ไฟฟ้า (E-Cigarettes) เพิ่มขึ้นหลายเท่าตัวในกลุ่มเยาวชน ระดับชั้นประถมปลายและมัธยม และใช้อย่างต่อเนื่องในระยะ 30 วัน ที่ผ่านมา ด้วยเหตุผลหลักคือ ความอยากรู้อยากเห็น ชอบรสชาติ และเข้าใจว่าละอองฝอยปลอดภัยเมื่อเทียบกับการสูบบุหรี่ อีกทั้งอุตสาหกรรมยาสูบได้ใช้เทคนิคที่ล่อตา ล่อใจ รวมถึงการสร้างค่านิยมวัยรุ่นแบบใหม่ ซึ่งจริง ๆ แล้วการใช้บุหรี่ไฟฟ้า มีสารพิษต่าง ๆ เทียบเท่ากับการสูบบุหรี่ปกติ ส่งผลกระทบต่อสุขภาพ โดยสารนิโคตินหากเข้าในกระแสเลือดของแม่ที่สูบบุหรี่ในขณะตั้งครรภ์สามารถผ่านรกมาส่งผลต่อทารกในครรภ์ ซึ่งมีผลกระทบต่อทารกมากมายรวมไปจนถึงการเสียชีวิตกะทันหัน นอกจากนี้ ยังส่งผลต่อสมองและระบบประสาทด้านการได้ยิน น้ำหนัก ที่อาจทำให้ทารกตัวเล็กกว่าปกติ

รศ.นพ.สุริยเดว กล่าวเพิ่มเติมว่า ในรายงานนี้ระบุว่า ต้องมีการติดตามอย่างใกล้ชิด เรื่องการได้รับสารนิโคตินในวัยรุ่นที่ใช้บุหรี่ไฟฟ้าเพราะทำให้วัยรุ่นเกิดการเสพติดได้อย่างง่ายดาย และส่งผลทำลายสมองส่วนคิดชั้นสูงของวัยรุ่น  และสารต่าง ๆ ที่รับเข้าไปโดยเฉพาะระบบทางเดินหายใจ ซึ่งองค์การอาหารและยาระบุว่า สารที่ก่อให้เกิดละอองฝอยจากการใช้บุหรี่ไฟฟ้า เป็นสารที่ใช้ในอาหารเพื่อรสชาติ สีสัน ทั้งในการผลิตยาหรือ

 

เวชภัณฑ์เครื่องสำอางค์  หากสัมผัสสารนี้ในระยะสั้นก่อให้เกิดการระคายเคืองระบบทางเดินหายใจและ ระคายเคืองตา และหากสัมผัสในระยะยาว ก็จะทำให้เกิดโรคระบบทางเดินหายใจ เช่น หอบหืด เป็นต้น

รศ.นพ.สุริยเดว กล่าวในตอนท้ายว่า  บุหรี่ไฟฟ้าไม่ได้เป็นสารทดแทนในการเลิกสูบบุหรี่แต่อย่างใด แต่เป็นจุดเริ่มตั้งต้นในการเสพติดบุหรี่หรือสารเสพติดประเภทอื่น ๆ ในเด็กและเยาวชน ด้วยรูปลักษณ์และองค์ประกอบทำให้สร้างความยั่วยวนใจในวัยรุ่นให้หันมาสูบบุหรี่ไฟฟ้า และเกิดกระแสในวงกว้างในหมู่วัยรุ่นอย่างรวดเร็ว  อีกทั้งเยาวชนยังขาดความรู้เท่าทันกลยุทธ์ของบริษัทผู้ผลิต  รวมทั้งภาครัฐยังขาดการจัดการเชิงกฎหมายเพื่อปกป้องประชาชน โดยเฉพาะเด็กและเยาวชน

พญ.ปานทิพย์ โชติเบญจมาภรณ์  ผู้อำนวยการสำนักควบคุมการบริโภคยาสูบ  กรมควบคุมโรค  กระทรวงสาธารณสุข  กล่าวว่า  จากผลสำรวจการบริโภคยาสูบในเยาวชนไทย อายุ 13-15 ปี  ครั้งล่าสุดในปี 2558 สำรวจพบว่า เยาวชนชายสูบบุหรี่ไฟฟ้าถึงร้อยละ 4.7 และเยาวชนหญิงสูบบุหรี่ไฟฟ้าถึง ร้อยละ 1.9 ซึ่งมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ด้วยเหตุนี้รัฐบาลปัจจุบัน จึงมีนโยบายให้กระทรวงพาณิชย์ ออกประกาศกระทรวงพาณิชย์ กำหนดให้บารากู่ บารากู่ไฟฟ้า และบุหรี่ไฟฟ้าเป็นสินค้าต้องห้ามในการนำเข้ามาในราชอาณาจักร ซึ่งมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 27 ธันวาคม 2557 ซึ่งหากมีผู้ฝ่าฝืนนำเข้าบุหรี่ไฟฟ้าเข้ามายังประเทศไทย จะมีโทษจำคุกไม่เกิน 10 ปี ปรับเป็นเงิน 5 เท่าของราคาสินค้า หรือทั้งจำทั้งปรับ และให้ริบสินค้าเหล่านั้นรวมถึงพาหนะที่ใช้บรรทุกสินค้านั้นด้วย  นอกจากนี้สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค (สคบ.) ได้ออกคำสั่งคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค ฉบับที่ 9/2558 ห้ามขาย และห้ามให้บริการบารากู่ บารากู่ไฟฟ้า บุหรี่ไฟฟ้า และตัวยาสำหรับเติมบุหรี่ไฟฟ้า ซึ่งมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 18 กุมภาพันธ์  2558 กรณีพบผู้ฝ่าฝืนต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 5 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และหากผู้ขายหรือให้บริการเป็นผู้ผลิต ผู้สั่งนำเข้ามาขาย ต้องรับโทษเพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่า นอกจากนี้ในที่ประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาว่าด้วยการควบคุมยาสูบ ครั้งที่ 7 (COP7) ซึ่งจัดขึ้นเมื่อวันที่ 7-12 พฤศจิกายน 2559 ​ณ ประเทศอินเดีย มีมติร่วมกันเรียกร้องให้ประเทศภาคี 180 ประเทศ ให้ความสำคัญและดำเนินการออกกฎเกณฑ์มาตรการเพื่อควบคุมบุหรี่ไฟฟ้าโดยเร็ว  

ขณะที่ ผศ.ดร.ลักขณา เติมศิริกุลชัย  ผู้อำนวยการศูนย์พัฒนาศักยภาพกำลังคนด้านการควบคุมยาสูบ กล่าวว่า เมื่อต้นเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา ถ้าเราติดตามข่าวเกี่ยวกับบุหรี่  คงได้เห็นความพยายามของบริษัทบุหรี่ในการดิสเครดิตรัฐบาลไทย โดยกล่าวหาว่าผู้แทนจากประเทศไทย ถูกที่ประชุมอนุสัญญาว่าด้วยการควบคุมการบริโภคยาสูบ ซึ่งจัดประชุมที่ประเทศอินเดีย ระหว่างวันที่ 7-12 พฤศจิกายน เชิญให้ลงจากเวที เนื่องจากไม่พอใจที่ผู้แทนไทยปลุกระดมประเทศสมาชิกให้ออกมาต่อต้านการใช้บุหรี่ไฟฟ้า โดยไม่มีเหตุผลทางวิทยาศาสตร์รองรับ และต่อมา นพ.สุเทพ เพชรมาก รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข  ได้ออกมาชี้แจงว่า ข้อมูลดังกล่าวไม่เป็นความจริงแต่ประการใด

ในขณะนี้ ประเทศต่าง ๆ ทั่วโลกถึง 55 ประเทศ มีกฎหมายห้ามขายบุหรี่ไฟฟ้าในประเทศของตน มี 17 ประเทศ ที่กำหนดให้บุหรี่ไฟฟ้าเป็นผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์ และอีก 26 ประเทศกำหนดให้บุหรี่ไฟฟ้า

 

เป็นผลิตภัณฑ์ยาสูบรูปแบบหนึ่ง มี 4 ประเทศที่กำหนดว่าภาชนะบรรจุนิโคตินในบุหรี่ไฟฟ้าเป็นสารพิษ ทั้งนี้ 1/4 ของประเทศในอาเซียนคือ ประเทศบรูไน กัมพูชา สิงคโปร์ และไทย ได้ห้ามไม่ให้มีการจำหน่าย บุหรี่ไฟฟ้าแล้ว

ในขณะที่มีบริษัทยาสูบข้ามชาติ 4 บริษัทยักษ์ใหญ่ ที่ลงทุนในธุรกิจบุหรี่ไฟฟ้า และทำการตลาดบุหรี่ไฟฟ้าในหลายประเทศ  โดยสร้างวาทกรรมว่าเป็นบุหรี่ที่มีอันตรายน้อย  ทั้งนี้ บริษัท ฟิลิป มอริส ผลิตบุหรี่ไฟฟ้ายี่ห้อ  “iQQS”บริษัท บริทิช อเมริกัน โทแบบโค ผลิต ยี่ห้อ “Vype EPe” บริษัท Japan Tobacco International ผลิตยี่ห้อ “E-lites” และ “Ploom Tech”  สำหรับบริษัท Imperial Group  ผลิตยี่ห้อ “Puritane”   

ทั้งนี้หน่วยงานด้านบุหรี่ไฟฟ้าของบริษัทบุหรี่ ได้โฆษณาชวนเชื่อว่าบุหรี่ไฟฟ้าเป็นบุหรี่ทางเลือกที่ปลอดภัยกว่า และจัดเป็นผลิตภัณฑ์ช่วยเลิกบุหรี่  โดยมีองค์กรล็อบบี้ยิสต์ คือ Factasia.org และนักวิจัยตะวันตกหลายคนได้สนับสนุนให้มีการใช้บุหรี่ไฟฟ้า

แต่มีข้อมูลยืนยันจากองค์การอนามัยโลกที่ระบุว่า บุหรี่ไฟฟ้าไม่ได้ปลอดจากสารพิษ และไม่มีข้อพิสูจน์ว่า “ปลอดภัย” สำหรับผู้สูบ รวมทั้งข้อกล่าวอ้างที่ว่ามีประสิทธิภาพในการช่วยเลิกบุหรี่ ก็ยังไม่มีการประเมินผลอย่างเป็นวิทยาศาสตร์  แต่กลับพบว่า ควันหรือไอจากบุหรี่ไฟฟ้าสามารถทำให้เกิดมะเร็งได้ เพราะมีสารฟอร์มาลดีไฮด์ สูงถึง ๑๕ เท่าของบุหรี่ทั่ว ๆ ไป

นอกจากนั้น The US Surgeon General ได้เผยแพร่รายงานเมื่อไม่นานมานี้ว่า มีข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ที่เพียงพอจนสรุปได้ว่า บุหรี่ไฟฟ้าเป็นอันตรายต่อสุขภา โดยเฉพาะเด็กและเยาวชน โดยพบงานวิจัยที่แสดงถึงอันตรายดังกล่าว ยิ่งกว่านั้นนักวิจัยจากมหาวิทยาลัย Southern California พบว่า วัยรุ่นที่ลองสูบบุหรี่ไฟฟ้า จะกลายเป็นผู้สูบบุหรี่ประจำในที่สุด

ดังนั้น คำกล่าวอ้างใด ๆ ของบริษัทบุหรี่จึงเป็นเพียงการดิ้นอีกเฮือกหนึ่งของบริษัทบุหรี่ที่ต้องการให้การค้ากำไรอีกบนความตายของผู้บริโภคยังคงอยู่ต่อไปในสังคมไทย

ร่วมกันภาวนาให้ร่าง พ.ร.บ. ควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบฉบับใหม่ผ่านการพิจารณาของกรรมาธิการฯ และสนช.ในรัฐบาลชุดนี้เถิด เพื่อเยาวชนและลูกหลานไทยจะได้ไม่ตกเป็นเหยื่อของบริษัทบุหรี่และยาเสพติดอีกต่อไป

 

 

ต้องการรายละเอียดเพิ่มเติมกรุณาติดต่อ  คุณชวาลา  ภวภูตานนท์ฯ โทร.081-4585877