ยัน ไม่มีหลักฐานบุหรี่ไฟฟ้าปลอดภัยกว่า95%
มูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่
ACTION ON SMOKING AND HEALTH FOUNDATION
PressRelease
ศูนย์ข่าว มูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่
วันที่ 13 มกราคม 2560
วันที่ข่าวตีพิมพ์ : สามารถเผยแพร่ได้ทันที
ยัน ไม่มีหลักฐานบุหรี่ไฟฟ้าปลอดภัยกว่า95%
เผยข้อสรุปที่ว่าบุหรี่ไฟฟ้าปลอดภัยกว่าบุหรี่ธรรมดา 95% เป็นรายงานที่สนับสนุนทุนโดยบริษัทผู้แทนจำหน่ายบุหรี่ไฟฟ้า และหนึ่งในผู้วิจัยเป็นที่ปรึกษาบริษัทดังกล่าวด้วย
ตามที่ขณะนี้มีการโจมตีรัฐบาลไทยอย่างหนักในโซเชียลมีเดีย ถึงกรณีที่รัฐบาลได้ออกกประกาศห้ามนำเข้าและจำหน่ายบุหรี่ไฟฟ้า โดยมีการอ้างรายงานจากประเทศอังกฤษที่ว่าบุหรี่ไฟฟ้ามีอันตรายน้อยกว่าบุหรี่ธรรมดา 95% และหน่วยงานสาธารณสุข (Public Health England) ในสังกัดของกระทรวงสาธารณสุขประเทศอังกฤษได้ยอมรับงานวิจัยดังกล่าวนั้น
เกี่ยวกับเรื่องนี้ ศ.นพ.ประกิต วาทีสาธกกิจ เลขาธิการมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ กล่าวว่า วารสารทางการแพทย์ที่น่าเชื่อถือที่สุดของประเทศอังกฤษ แลนเซตฉบับเดือนสิงหาคม พ.ศ.2558 ได้ตีพิมพ์บทบรรณาธิการที่วิจารณ์หน่วยงานของกระทรวงสาธารณสุขอังกฤษว่า รีบด่วนยอมรับข้อสรุปของผู้เชี่ยวชาญกลุ่มหนึ่งภายหลังจากการประชุมปฏิบัติการเพียงสองวัน เมื่อเดือนกรกฎาคม 2556 ซึ่งสรุปว่าบุหรี่ไฟฟ้าปลอดภัยกว่าบุหรี่ธรรมดา 95 % โดยไม่มีการระบุที่มาที่ไปของคณะผู้เชี่ยวชาญที่สรุปความเห็นดังกล่าว อีกทั้งหนึ่งในผู้รายงานผลการวิจัยที่ชื่อ ริคาร์โด โพโลซา เป็นประธานที่ปรึกษาด้านวิทยาศาสตร์ของบริษัทแอลไอเอเอฟ ซึ่งเป็นผู้แทนจำหน่ายบุหรี่ไฟฟ้า ทั้งนี้บรรณาธิการวารสารยูโรเพียน แอดดิคชั่นรีเสริช ที่ตีพิมพ์รายงานดังกล่าว ได้ระบุในท้ายบทความด้วยการเตือนผู้อ่านว่า บทความดังกล่าวมีประเด็นปัญหาเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อน
ศ.นพ.ประกิต กล่าวต่อไปว่า ข้ออ้างที่ว่าบุหรี่ไฟฟ้าปลอดภัยกว่าบุหรี่ธรรมดา 95% ไม่ได้เป็นที่ยอมรับของนักวิชาการของประเทศอังกฤษ และในประเทศอื่นใดอีกเลย รวมทั้งรายงานของคณะผู้เชี่ยวชาญที่ได้รับมอบหมายให้ศึกษาข้อเท็จจริงเรื่องบุหรี่ไฟฟ้า ที่เสนอต่อที่ประชุมใหญ่ภาคีอนุสัญญาควบคุมยาสูบ องค์การอนามัยโลก เมื่อเดือนพฤศจิกายน พ.ศ.2559 ขณะที่รายงานของนายแพทย์ใหญ่สหรัฐอเมริกา ถึงปัญหาการใช้บุหรี่ไฟฟ้าในเยาวชน ที่เสนอต่อสภาคองเกรสเปิดเผยเมื่อเดือนธันวาคม พ.ศ.2559 สรุปว่าการใช้บุหรี่ไฟฟ้าในเด็กและเยาวชนแพร่ระบาด
อย่างรวดเร็ว และเป็นปัญหาสาธารณสุขที่น่าเป็นห่วง เนื่องจากการติดตามเยาวชนที่ใช้บุหรี่ไฟฟ้าต่อมาได้เปลี่ยนไปสูบบุหรี่ และยาสูบรูปแบบอื่น ๆ สรุปว่าบุหรี่ไฟฟ้าเข้าข่ายเป็น “ยาหรือสิ่งเสพติดเริ่มต้น” หรือ “Gateway drug” อีกทั้ง
นิโคตินเป็นอันตรายโดยเฉพาะต่อการพัฒนาของสมองของเด็ก และบุหรี่ไฟฟ้ามีการเติมสารเคมีหลาย ๆ ชนิดที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ ที่ยังไม่ทราบผลกระทบในระยะยาว ที่สำคัญมีการส่งเสริมการขายบุหรี่ไฟฟ้าโดยการเติมสารเคมี ปรุงแต่งกลิ่นรสที่เย้ายวน มีการใช้กลยุทธ์และช่องทางการตลาดต่าง ๆ เพื่อเข้าถึงเด็กและเยาวชนโดยเฉพาะ รายงานเสนอให้ทุกหน่วยงานเฝ้าระวังการระบาดและควบคุมการใช้บุหรี่ไฟฟ้าในเด็กและเยาวชนอย่างเข้มงวดและใกล้ชิด
ศ.นพ.ประกิต เปิดเผยต่อไปว่าข้อมูลการสำรวจที่ทำโดยกระทรวงสาธารณสุข และองค์การอนามัยโลก ปี พ.ศ.2558 พบว่า เด็กไทยอายุ 13-15 ปี มีอัตราการใช้บุหรี่ไฟฟ้า 3.3% เป็นเพศชาย 4.9% และเพศหญิง 1.8% ซึ่งเมื่อคำนวณแล้วจะได้จำนวนเด็กอายุ 13-15 ปี ประมาณหนึ่งแสนคนเฉพาะในวัยนี้ที่มีการใช้บุหรี่ไฟฟ้า ดังนั้นหากเปิดให้มีการขายบุหรี่ไฟฟ้าอย่างเสรี จำนวนเด็กที่ติดบุหรี่ไฟฟ้า จะยิ่งเพิ่มขึ้นกว่านี้อย่างแน่นอน จากการเข้าถึงได้ง่ายขึ้น และกลยุทธ์การตลาดของบริษัทบุหรี่ จึงขอให้รัฐบาลยืนหยัดในนโยบายที่ห้ามนำเข้าและขายบุหรี่ไฟฟ้าอย่างเสรีต่อไป
ต้องการสอบถามข้อมูลและรายละเอียดเพิ่มเติม กรุณาติดต่อ มูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่
โทร. 0-2278-1828