“หนุนสื่อ 4 ภาค ลดการสูบบุหรี่ในชนบท”

มูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่                    

ACTION  ON  SMOKING  AND  HEALTH  FOUNDATION

Press Release

ศูนย์ข่าว มูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่

วันที่ 3  เมษายน 2560

วันที่ข่าวตีพิมพ์  :  สามารถเผยแพร่ได้ทันที

 

“หนุนสื่อ 4 ภาค ลดการสูบบุหรี่ในชนบท”

 

วันนี้ (3  เมษายน 2560) ภาคีเครือข่ายสื่อท้องถิ่นจาก 4 ภาค หนุนประเด็น “บุหรี่ : ภัยคุกคามต่อการพัฒนา”  เนื่องในวันงดสูบบุหรี่โลก 2560 

ศ.นพ.ประกิต  วาทีสาธกกิจ  เลขาธิการมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ กล่าวว่า  วันที่ 31 พฤษภาคมของทุกปี องค์การอนามัยโลกและภาคีต่าง ๆ จะร่วมกันจัดกิจกรรมเนื่องในวันงดสูบบุหรี่โลกขึ้น เพื่อมุ่งเน้นถึงความเสี่ยงด้านสุขภาพที่เกิดจากการสูบบุหรี่  และสนับสนุนให้มีการกำหนดนโยบายที่มีประสิทธิภาพเพื่อลดการบริโภคยาสูบ สำหรับวันงดสูบบุหรี่โลกในปี พ.ศ. 2560 นี้ องค์การอนามัยโลก  ได้กำหนดคำขวัญว่า “Tobacco : a threat to development”  “บุหรี่ : ภัยคุกคามต่อการพัฒนา”  เพื่อแสดงถึงภัยคุกคามที่ธุรกิจยาสูบมีต่อการพัฒนาที่ยั่งยืนของทุกประเทศ ในด้านสุขภาพ เศรษฐกิจ และสุขภาวะของประชาชน  รวมทั้งเพื่อเสนอมาตรการที่รัฐบาลและภาคประชาชนควรจะดำเนินการเพื่อส่งเสริมสุขภาพและการพัฒนา  โดยการเผชิญหน้ากับภาวะวิกฤตที่เกิดจากยาสูบ

ทั้งนี้  การสำรวจโดยสำนักงานสถิติแห่งชาติ พ.ศ.2557 พบว่า จำนวนประชากรกลุ่มที่ จนที่สุดจำนวน 1,336,073 คน  และจำนวนประชากรที่จนจำนวน 1,851,191  คนที่สูบบุหรี่  รวมแล้วใช้เงินเป็นค่าซื้อบุหรี่เท่ากับ 7,674  ล้านบาทต่อปี  ซึ่งเป็นเงินจำนวนมาก  อีกทั้ง คนไทยเสียชีวิตปีละกว่า 50,000  คน  จากโรคร้ายแรงที่เกิดจากการสูบุหรี่ เช่น โรคมะเร็ง โรคหัวใจและหลอดเลือด  โรคถุงลมปอดพอง  โดยแต่ละคนจะป่วยจนสูญเสียคุณภาพชีวิต (ป่วยจนถึงยังไม่ตายก็เหมือนตาย) คนละ 2 ปี และ อายุสั้นลงโดยเฉลี่ย 12 ปี และร้อยละ 30 หรือ 15,213 คนเสียชีวิตก่อนอายุ 60 ปี  ซึ่งการเจ็บป่วยด้วยโรคร้ายแรงเหล่านี้ ยิ่งเพิ่มภาระแก่ผู้สูบบุหรี่ที่ยากจน แม้จะไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายในการรักษา แต่ก็ต้องมีค่าใช้จ่ายอื่น ๆ และสูญเสียรายได้เพราะเจ็บป่วยทำงานไม่ได้  รวมถึงครอบครัวขาดรายได้เมื่อเสียชีวิต หากผู้สูบบุหรี่เป็นผู้ที่หาเลี้ยงครอบครัว  ซึ่งไม่เพียงผลกระทบที่ครอบครัวจะได้รับเท่านั้น ผู้สูบบุหรี่ที่เจ็บป่วยด้วยโรคร้ายแรงเหล่านี้ จะเข้า ๆ ออก ๆ จากหอผู้ป่วยหนักของโรงพยาบาลก่อนที่จะเสียชีวิต  เป็นการเพิ่มภาระแก่โรงพยาบาลที่มีผู้ป่วยล้นอยู่แล้ว  และเพิ่มภาระงบประมาณรักษาโรคที่มีอยู่จำกัด  โดยเฉพาะเมื่อโรคที่เกิดจากการสูบบุหรี่ เหล่านี้เป็นโรคที่ป้องกันได้ หากไม่สูบบุหรี่

ศ.นพ.ประกิต  กล่าวเพิ่มเติมว่า  ภาคีเครือข่ายสื่อมวลชนโดยเฉพาะอย่างยิ่งสื่อท้องถิ่น  มีบทบาทสำคัญในการให้ข้อมูลข่าวสารที่ถูกต้อง รวมถึงต้องส่งผ่านข้อมูลข่าวสารรอบด้านไปยังกลุ่มประชาชนในท้องถิ่นให้มากที่สุด  เพื่อให้ประชาชนทุกคนสามารถมีส่วนร่วมในการสร้างสังคมปลอดบุหรี่ที่ยั่งยืน  ทุกคนสามารถยืนหยัดที่จะไม่เริ่มใช้ยาสูบ  ผู้ที่ใช้ยาสูบอยู่แล้วสามารถที่จะเลิกสูบหรือหาความช่วยเหลือเพื่อเลิกสูบ  ซึ่งจะเป็นการปกป้องสุขภาพของตัวเขาเอง และคนอื่นจากควันบุหรี่มือสอง  รวมถึงเด็ก ๆ เพื่อน ๆ และคนในครอบครัว

ต้องการรายละเอียดเพิ่มเติมติดต่อ :  น.ส.วัลภา  แก้วศรี  โทร. 0-2278-1828