บุหรี่ไฟฟ้าเพิ่มความเสี่ยงกล้ามเนื้อหัวใจตาย
มูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่
ACTION ON SMOKING AND HEALTH FOUNDATION
Press Release
ศูนย์ข่าว มูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่
วันที่ 5 เมษายน 2560
วันที่ข่าวตีพิมพ์ : สามารถเผยแพร่ได้ทันที
บุหรี่ไฟฟ้าเพิ่มความเสี่ยงกล้ามเนื้อหัวใจตาย
ศ.นพ.ประกิต วาทีสาธกกิจ เลขาธิการมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ เปิดเผยรายงานวิจัยที่พบว่า การใช้ บุหรี่ไฟฟ้า เพิ่มความเสี่ยงกล้ามเนื้อหัวใจตาย 42% รายงานดังกล่าวเปิดเผยโดยนักวิจัย นาร์ดอส เทเมสเจน และคณะ จากจอร์จ วอชิงตัน ยูนิเวอร์ซิตี้ สหรัฐอเมริกา ที่ทำการวิเคราะห์ข้อมูลการสำรวจสุขภาพระดับประเทศ ปี 2557 ในกลุ่มตัวอย่าง 35,156 ราย ถึงความสัมพันธ์ระหว่างปัจจัยเสี่ยงต่าง ๆ เช่น อายุ เพศ น้ำหนักมวลกาย รายได้ ความดันสูง เบาหวาน ไขมันเลือดสูง การสูบบุหรี่ และการสูบบุหรี่ไฟฟ้ากับการเกิดโรคกล้ามเนื้อหัวใจตาย (Myocardial infarction)
ผลการวิเคราะห์พบว่า การสูบบุหรี่ไฟฟ้า เพิ่มความเสี่ยงการเกิดกล้ามเนื้อหัวใจตาย 42% โดยไม่เกี่ยวกับปัจจัยเสี่ยงอื่น ๆ ขณะที่ การสูบบุหรี่ทุกวัน ความเสี่ยงกล้ามเนื้อหัวใจตายเพิ่มขึ้น 175% สูบเป็นครั้งคราวความเสี่ยงเพิ่มขึ้น 139% ความดันโลหิตสูงความเสี่ยงเพิ่มขึ้น 172% ไขมันในเลือดสูง 119% และเบาหวานความเสี่ยงเพิ่มขึ้น 68% ศ.นพ.ประกิต เปิดเผยต่อไปว่า รายงานการทบทวนงานวิจัยที่มีการตีพิมพ์แล้วพบว่า การสูบบุหรี่ซิกาแรต และการสูบบุหรี่ไฟฟ้า ทำให้เกิดอนุมูลอิสระและทำให้เกิดความผิดปกติของเยื่อบุเส้นเลือด แม้ว่าบุหรี่ไฟฟ้าจะทำให้เกิดความผิดปกติที่รุนแรงน้อยกว่าก็ตาม ทั้งนี้ ควันบุหรี่ไฟฟ้าประกอบด้วยสารที่สามารถส่งผลต่อการทำงานของหัวใจ ได้แก่ สารนิโคติน สารออกซิแดนท์ ละอองฝอยขนาดเล็ก แอลดีไฮด์ และสารที่ปรุงแต่งกลิ่นรส ซึ่งมีหลักฐานว่า สารเหล่านี้ เร่งการแข็งตัวของเส้นเลือด นำไปสู่การเกิดกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลันได้ โดยเฉพาะในผู้ที่มีโรคเส้นเลือดหัวใจตีบ การเลิกสูบบุหรี่จึงเป็นทางเลือกที่ดีที่สุดสำหรับผู้ป่วยที่เป็นโรคเส้นเลือดหัวใจอยู่แล้ว
ต้องการสอบถามข้อมูลและรายละเอียดเพิ่มเติม กรุณาติดต่อ มูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ โทร. 0-2278-1828