เยาวชนอาเซียนประกาศก้องไม่สูบบุหรี่
มูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่
ACTION ON SMOKING AND HEALTH FOUNDATION
Press Release
ศูนย์ข่าว มูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่
วันที่ 29 พฤษภาคม 2560
วันที่ข่าวตีพิมพ์ : สามารถเผยแพร่ได้ทันที
เยาวชนอาเซียนประกาศก้องไม่สูบบุหรี่
ตัวแทนเยาวชนไทยร่วมกับเยาวชนจากประเทศอาเซียนกว่า 80 คน ร่วมประกาศเจตนารมณ์ไม่ยุ่งเกี่ยวกับบุหรี่ ได้แก่ กัมพูชา อินโดนีเซีย ลาว พม่า มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ เวียดนาม สิงคโปร์ และไทย เนื่องในโอกาสวันงดสูบบุหรี่โลก 2560 นี้
วันนี้ (29 พฤษภาคม 2560) นางสาวบังอร ฤทธิภักดี ผู้อำนวยการ มูลนิธิเพื่อสังคมอาเซียนปลอดบุหรี่กล่าวว่า ขณะนี้ทั่วโลกกำลังให้ความสำคัญกับการปกป้องเด็กจากการเริ่มสูบบุหรี่ และตั้งเป้าไว้ว่าในศตวรรษที่ 21 ประเทศต่าง ๆ จะมีคนสูบบุหรี่ต่ำกว่าร้อยละ 5 ทั้งนี้อันเป็นผลจากการที่เด็กรุ่นใหม่ไม่เข้าสู่วงจรการเสพติดบุหรี่ ขณะที่คนรุ่นเก่า กำลังทยอยเลิกสูบบุหรี่
จากข้อมูลล่าสุดของเครือข่ายควบคุมการบริโภคยาสูบในอาเซียน พบว่ามีผู้สูบุหรี่ในอาเซีย จำนวน 122.4 ล้านคน คิดเป็น 10 % ของผู้ที่สูบบุหรี่ทั้งหมดทั่วโลก โดย ประเทศอินโดนีเซียมีผู้สูบบุหรี่อัตราสูงสุดถึง 66 % และประเทศสิงคโปร์ผู้สูบบุหรี่อัตราต่ำสุด 23.1% และจำนวนเยาวชนที่สูบบุหรี่สูงสุดก็ยังเป็นประเทศอินโดนีเซีย จำนวน 65,188,338 คนต่อปีคิดเป็น 36.3 % รองลงมา คือ ประเทศฟิลิปปินส์ จำนวน 16,500,000 คนต่อปี คิดเป็น 23.8 % และประเทศเวียดนามจำนวน 15,600,000 คนต่อปี คิดเป็น 22.5 % .ในขณะที่ประเทศไทย มีจำนวน 10,947,037 คนต่อปี คิดเป็น 19.9 % และต่ำสุด คือประเทศสิงคโปร์มีผู้สูบบุหรี่เพียง 375,000 คนต่อปี คิดเป็น 13.3 % ในขณะที่ ข้อมูลการเสียชีวิตจากการสูบบุหรี่ในประเทศอาเซียน รวมทั้งสิ้น 569,046 คน ต่อปี โดยประเทศอินโดนีเชียเสียชีวิตจากการสูบบุหรี่สูงสุดถึง 240,618 คนต่อปี รองลงมา คือ ประเทศฟิลิปปินส์ 81,247 คนต่อปี และเวียดนาม 66,305 คนต่อปี ส่วนประเทศไทยมีจำนวน 50,710 คนต่อปี และต่ำสุดคือประเทศบรูไนมีเพียง 200 คนต่อปี
ที่น่าเป็นห่วงคือ อัตราการสูบบุหรี่ในหลายประเทศไม่ลดลง ทำให้จำนวนผู้สูบบุหรี่ยังคงเพิ่มขึ้นมากกว่าภูมิภาคอื่นของโลก ตามจำนวนประชากรของอาเซียนที่เพิ่มขึ้น“เพื่อเปิดเวทีให้เยาวชนได้มีส่วนร่วมในการสร้างสังคมปลอดบุหรี่ และรณรงค์สร้างคนรุ่นใหม่ที่ไม่สูบบุหรี่ มูลนิธิรณรงค์ เพื่อการไม่สูบบุหรี่ ร่วมกับ มูลนิธิเพื่อสังคมอาเซียนปลอดบุหรี่ จึงจัดเวทีเยาวชนอาเซียนขึ้นในวันนี้ โดยได้เชิญตัวแทนเยาวชนจาก ประเทศต่าง ๆ ในอาเซียนมาร่วมระดมความคิด และเชื่อมเป็นเครือข่ายในการรณรงค์ป้องกันนักสูบหน้าใหม่ในระดับอาเซียน โดยได้ถือโอกาสวันงดสูบบุหรี่โลก 31 พฤษภาคม ที่จะถึงนี้ เป็นการประกาศเจตนารมณ์ร่วมกัน” นางสาวบังอร กล่าว
ด้าน น.ส.สว่างวงศ์ คงทองประเสริฐ หนึ่งในตัวแทนเยาวชนไทยที่ได้เข้าร่วมการประชุมจากโรงเรียนนวมินทราชินูทิศ สตรีวิทยา พุทธมณฑล กล่าวว่า ตนรู้สึกดีใจและภูมิใจอย่างยิ่ง ที่ได้เข้าร่วมกิจกรรมนี้ เพราะในส่วนของ ประเทศไทยเอง ได้มีการตั้งเครือข่าย “Gen Z Gen Strong : เลือกไม่สูบ” ขึ้น โดยการจัดอบรมพัฒนาศักยภาพเพื่อน ๆ Gen Z ในพื้นที่ต่าง ๆ เพื่อเป็นแกนนำเยาวชน และเพื่อไปช่วยบอกต่อเพื่อน ๆ ช่วยเพื่อน ๆ ไม่ให้ตกเป็นเหยื่อของบริษัทบุหรี่ ซึ่งในวันนี้ก็ มีเพื่อน ๆ Gen Z จากจังหวัดต่าง ๆ ได้แก่ แม่ฮ่องสอน พิษณุโลก ลำพูน ขอนแก่น สุรินทร์ อุบลราชธานี ชลบุรี และกรุงเทพมหานคร มาร่วมงานด้วย
น.ส.สว่างวงศ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า “วันนี้เราอยากเห็น Gen Z ลุกขึ้นมาโชว์สิ่งดี ๆ ไอเดียเจ๋ง ๆ เช่น การไม่สูบบุหรี่ Say No ทุกวันเลยค่ะ เราหวังว่าผู้ใหญ่ใจดี สังคมจะช่วยกันส่งเสริม และสนับสนุนโครงการนี้นะคะ”
ศ.นพ.ประกิต วาทีสาธกกิจ เลขาธิการ มูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ กล่าวว่า “จากการสำรวจ โดยสำนักงานสถิติแห่งชาติ พบว่า คนไทยที่ติดบุหรี่กว่าครึ่งเริ่มสูบก่อนอายุ 19 ปี เมื่อมีการเริ่มสูบและติดแล้ว มีเพียงร้อยละ 27 เท่านั้น ที่สามารถ เลิกได้ ส่วนอีกร้อยละ 73 จะติดไปตลอดชีวิต และข้อมูลการสำรวจ สถานการณ์การบริโภคยาสูบ ของประชากรไทยในช่วง 24 ปีที่ ผ่านมา (พ.ศ. 2534 – 2558) พบว่า จำนวนผู้สูบบุหรี่ลดลงจาก 12.2 ล้านคนในปี 2534 เป็น 10.9 ล้านคน ในปี 2558 ในจำนวนนี้ พบว่า เป็น Gen Z ที่มีอายุ 15-18 ปี จำนวน 3.1 แสนคน ซึ่งหากเราช่วยกันปกป้อง Gen Z จากการเริ่มสูบบุหรี่ได้สำเร็จ ก็จะสามารถลดนักสูบหน้าใหม่ได้ถึงร้อยละ 90
ดังนั้นหากเราสามารถช่วยกันป้องกันเด็กอายุต่ำกว่า 19 ปี ไม่ให้เริ่มสูบบุหรี่ ก็จะช่วยหยุดการเติมนักสูบบุหรี่หน้าใหม่ เข้าสู่วงจรการสูบ การป่วย และการตายจากบุหรี่ ยิ่งกว่านั้น หากเยาวชนตกเป็นทาสของการเสพติดบุหรี่แล้ว ก็จะเป็นด่านแรกของการก้าวไปสู่สิ่งเสพติดและอบายมุขที่ร้ายแรงชนิดอื่น ๆ ด้วย หากสังคมทุกภาคส่วนช่วยกันคนละไม้คนละมือ มีการสร้างปัจจัยเอื้อ ทั้งมาตรการทางสังคมและมาตรการทางกฎหมาย เพื่อป้องกันเด็ก Gen Z จากการเสพติดบุหรี่ ก็จะช่วยสร้างคนรุ่นใหม่ที่มีคุณภาพชีวิตที่ดี และในระยะยาวก็จะสามารถลดอัตราการสูบบุหรี่ของคนไทยลงได้”
ด้าน ดร.เรนู การ์ก ผู้แทนจาก องค์การอนามัยโลก ประจำประเทศไทย (Dr Renu Garg, Medical Adviser, Noncommunicable Diseases, WHO Country Office for Thailand) เปิดเผยคำขวัญวันงดสูบบุหรี่โลก ประจำปีนี้ว่า “Tobacco : a threat to development” หมายถึง บุหรี่เป็นภัยคุกคามต่อการพัฒนาประเทศในด้านต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นภัยคุกคามต่อการพัฒนาที่ยั่งยืนของทุกประเทศ รวมถึงสุขภาพ เศรษฐกิจ และสุขภาวะของประชาชน ทั้งนี้เพื่อเป็นมาตรการหนึ่งของการนำไปสู่การบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนภายในปี พ.ศ. 2573 (ค.ศ.2030) ทุกประเทศจะได้ประโยชน์จากการประสบความสำเร็จในการควบคุมการระบาดของยาสูบ เหนือสิ่งอื่นใดโดยการปกป้องประชาชนจากอันตรายของการใช้ยาสูบ และลดความสูญเสียทางเศรษฐกิจของประเทศ วาระของการพัฒนาที่ยั่งยืน และ 17 เป้าหมายระดับโลก ต้องการให้มั่นใจว่า “ไม่มีใครถูกทิ้งไว้ข้างหลัง” การควบคุมยาสูบได้รับการบรรจุในวาระของการพัฒนาที่ยั่งยืน เป็นหนึ่งในวาระที่มีประสิทธิภาพที่สุดในการที่จะบรรลุเป้าหมายที่ 3.4 ของการพัฒนาที่ยั่งยืน ที่ว่าด้วยการลดการเสียชีวิตก่อนเวลาจากโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง (NCDs) ลงหนึ่งในสามภายในปี พ.ศ. 2573 (ค.ศ.2030 ) ซึ่งได้แก่ โรคหัวใจและหลอดเลือด โรคมะเร็ง โรคถุงลมปอดพอง การเพิ่มความเข้มแข็งในการดำเนินการตามอนุสัญญาควบคุมยาสูบ องค์การอนามัยโลก เป็นอีกเป้าหมายหนึ่งที่จะนำทุกประเทศบรรลุการพัฒนาที่ยั่งยืน
ต้องการสอบถามข้อมูลและรายละเอียดเพิ่มเติม กรุณาติดต่อ มูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ โทร. 0-2278-1828