เยาวชนอาเซียนขอบคุณนายก ที่ปกป้องเด็กจากบุหรี่

มูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่                    

ACTION  ON  SMOKING  AND  HEALTH  FOUNDATION

                                                                                                      

Press Release 

ศูนย์ข่าว มูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ 

วันที่ 30 พฤษภาคม 2560

วันที่ข่าวตีพิมพ์ : สามารถเผยแพร่ได้ทันที

 

 

เยาวชนอาเซียนขอบคุณนายกที่ปกป้องเด็กจากบุหรี่

ตัวแทนเยาวชนไทยร่วมกับเยาวชนจากประเทศอาเซียน  เข้าพบเพื่อขอบคุณนายกและคณะรัฐบาล ที่ให้ความสำคัญในการกำหนดนโยบาย และสนับสนุนมาตรการต่าง ๆ ในการปกป้องเด็กและเยาวชน จากบุหรี่และสารเสพติดทุกชนิด  ณ ทำเนียบรัฐบาล

วันนี้ (30 พฤษภาคม 2560)  ดร.สุปรีดา อดุลยานนท์ ผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ(สสส.) นำตัวแทนเยาวชนอาเซียน เข้าพบ ฯพณฯ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า “เพื่อเปิดเวทีให้เยาวชนได้มีส่วนร่วมในการสร้างสังคมปลอดบุหรี่  และรณรงค์สร้างคนรุ่นใหม่ที่ไม่สูบบุหรี่

มูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่  ร่วมกับ  มูลนิธิเพื่อสังคมอาเซียนปลอดบุหรี่  โดยการสนับสนุนของกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.)  จึงจัดเวทีเยาวชนอาเซียนขึ้นระหว่างวันที่ 29 – 30 พฤษภาคม 2560 นี้ โดยได้เชิญตัวแทนเยาวชนจากประเทศต่าง ๆ ในอาเซียนมาร่วมระดมความคิด และเชื่อมเป็นเครือข่ายในการรณรงค์ป้องกันนักสูบหน้าใหม่ในระดับอาเซียน  ที่สำคัญการได้เข้าพบท่านนายกเพื่อ ขอบคุณท่านและคณะรัฐบาล และมอบสื่อรณรงค์เพื่อคนรุ่นใหม่ไม่สูบบุหรี่ จากเยาวชนอาเซียนปลอดบุหรี่ ที่ออกแบบเองเป็นภาษาแต่ละประเทศ 9 ประเทศ  ได้แก่  กัมพูชา  อินโดนีเซีย  ลาว  พม่า  มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ เวียดนาม สิงคโปร์ และไทย โดยได้ถือโอกาสวันงดสูบบุหรี่โลก 31 พฤษภาคม

ด้าน นางสาวบังอร  ฤทธิภักดี  ผู้อำนวยการมูลนิธิเพื่อสังคมอาเซียนปลอดบุหรี่ กล่าวว่า  “ขณะนี้ทั่วโลกกำลังให้ความสำคัญกับการปกป้องเด็กจากการเริ่มสูบบุหรี่ และตั้งเป้าไว้ว่าในศตวรรษที่ 21 ประเทศต่าง ๆ จะมีคนสูบบุหรี่ต่ำกว่าร้อยละ 5 ทั้งนี้อันเป็นผลจากการที่เด็กรุ่นใหม่ไม่เข้าสู่วงจรการเสพติดบุหรี่ ขณะที่คนรุ่นเก่า กำลังทยอยเลิกสูบบุหรี่  

จากข้อมูลล่าสุดของเครือข่ายควบคุมการบริโภคยาสูบในอาเซียน พบว่ามีผู้สูบบุหรี่ในอาเซียน จำนวน 122.4 ล้านคน คิดเป็น 10% ของผู้ที่สูบบุหรี่ทั้งหมดทั่วโลก โดย ประเทศอินโดนีเซียมีผู้สูบบุหรี่อัตราสูงสุดถึง  66%  และประเทศสิงคโปร์ผู้สูบบุหรี่อัตราต่ำสุด 23.1%  และจำนวนเยาวชนที่สูบบุหรี่สูงสุดก็ยังเป็นประเทศอินโดนีเซีย จำนวน  65,188,338 คนต่อปี      คิดเป็น  36.3 % รองลงมา คือ ประเทศฟิลิปปินส์ จำนวน  16,500,000  คนต่อปี คิดเป็น 23.8% และประเทศเวียดนามจำนวน  15,600,000 คนต่อปี  คิดเป็น  22.5% ในขณะที่ประเทศไทย มีจำนวน 10,947,037 คนต่อปี คิดเป็น 19.9 % และต่ำสุด คือประเทศสิงคโปร์มีผู้สูบบุหรี่เพียง  375,000 คนต่อปี  คิดเป็น 13.3% ในขณะที่ ข้อมูลการเสียชีวิตจากการสูบบุหรี่ในประเทศอาเซียน รวมทั้งสิ้น 569,046 คน ต่อปี โดยประเทศอินโดนีเซียเสียชีวิตจากการสูบบุหรี่สูงสุดถึง 240,618 คนต่อปี  รองลงมา คือ ประเทศฟิลิปปินส์ 81,247 คนต่อปี  และเวียดนาม 66,305 คนต่อปี ส่วนประเทศไทยมีจำนวน 50,710 คนต่อปี  และต่ำสุด คือประเทศบรูไนมีเพียง 200 คนต่อปี

ในขณะที่สถานการณ์การสูบบุหรี่ของคนไทยในช่วง 24 ปีที่ผ่านมา (พ.ศ. 2534 – 2558) พบว่า จำนวนผู้สูบบุหรี่ลดลงจาก 12.2 ล้านคนในปี 2534 เป็น  10.9 ล้านคนในปี 2558 ในจำนวนนี้พบว่าเป็นเด็กที่มีอายุ 15-18 ปี 3.1 แสนคน  ซึ่งหากเราช่วยกันปกป้องเด็กจากการเริ่มสูบบุหรี่ได้สำเร็จ ก็จะสามารถลดนักสูบหน้าใหม่ได้ถึงร้อยละ 90    

ที่น่าเป็นห่วงคือ อัตราการสูบบุหรี่ในหลายประเทศไม่ลดลง  ทำให้จำนวนผู้สูบบุหรี่ยังคงเพิ่มขึ้นมากกว่าภูมิภาคอื่นของโลก ตามจำนวนประชากรของอาเซียนที่เพิ่มขึ้น

ด้านข้อมูลการได้รับควันบุหรี่มือสองของเยาวชนในประเทศอาเซียน จากการสูบบุหรี่ของผู้ใหญ่ ทั้งในบ้านและนอกบ้าน ที่ประเทศอินโดนีเซียมีเยาวชน 68.8% ได้รับควันบุหรี่มือสองในบ้าน  และ 78.1% ได้รับควันบุหรี่มือสองนอกบ้าน สำหรับประเทศไทย เยาวชน 45.7% ได้รับควันบุหรี่มือสองในบ้าน  และ 67.6% ได้รับควันบุหรี่มือสองนอกบ้าน   และประเทศเวียดนาม มีเยาวชน 58.5% ได้รับควันบุหรี่มือสองในบ้าน และ 71.2% ได้รับควันบุหรี่มือสองนอกบ้าน” 

ด้าน น.ส.สว่างวงศ์   คงทองประเสริฐ  หนึ่งในตัวแทนเยาวชนไทยที่ได้เข้าร่วมการประชุมจากโรงเรียน นวมินทราชินูทิศ สตรีวิทยา พุทธมณฑล   กล่าวว่า  หนูรู้สึกดีใจและภูมิใจอย่างยิ่ง ที่ได้เข้าพบท่านนายกในวันนี้  และขอขอบพระคุณท่านนายก  และคณะรัฐบาล ที่มีความกรุณาออกกฎหมายปกป้องเด็กไทยไม่ให้ตกเป็นเหยื่อของบริษัทบุหรี่และยาเสพติดอื่น ๆ ค่ะ

 

ต้องการสอบถามข้อมูลและรายละเอียดเพิ่มเติม กรุณาติดต่อ มูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่   โทร. 0-2278-1828