“วิจัย : สูบบุหรี่ในบ้าน มหันตภัยสารพิษสู่ลูกน้อย”
มูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่
ACTION ON SMOKING AND HEALTH FOUNDATION
Press Release
ศูนย์ข่าว มูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่
วันที่ 9 สิงหาคม 2560
วันที่ข่าวตีพิมพ์ : สามารถเผยแพร่ได้ทันที
“วิจัย : สูบบุหรี่ในบ้าน มหันตภัยสารพิษสู่ลูกน้อย”
วิจัยพบสูบบุหรี่ในบ้าน ปัสสาวะเด็กมีสารพิษจากควันบุหรี่ สถิติเด็กป่วยเพิ่มขึ้นในบ้านที่มีการสูบบุหรี่ การสูบบุหรี่ในบ้านเพิ่มความเสี่ยงเด็กติดบุหรี่ 2-3 เท่า และเกือบครึ่งของหญิงตั้งครรภ์ได้รับควันบุหรี่มือสอง
ศ.นพ.ประกิต วาทีสาธกกิจ เลขาธิการมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ กล่าวว่า วันนี้ (วันที่ 9 สิงหาคม 2560) มูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ ร่วมกับ สมาพันธ์เครือข่ายแห่งชาติเพื่อสังคมไทยปลอดบุหรี่ มูลนิธิเพื่อนหญิง สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี โรงพยาบาลรามาธิบดี มูลนิธิเครือข่ายครอบครัว และภาคีเครือข่าย ได้จัดให้มีการแถลงข่าว เรื่อง “วิจัย : สูบบุหรี่ในบ้าน มหันตภัยสารพิษสู่ลูกน้อย” เพื่อนำเสนอข้อมูลที่สำคัญและเป็นประโยชน์ต่อประชาชน ในการที่ต้องดูแลสุขภาพของคนในครอบครัว และร่วมกันสร้างค่านิยมให้คนไทยไม่สูบบุหรี่ในบ้าน ซึ่งนอกจาก จะลดอันตรายของควันบุหรี่มือสองในบ้าน ยังทำให้เด็กในบ้านมีความเสี่ยงที่จะติดบุหรี่น้อยลง ผู้สูบบุหรี่จะสูบบุหรี่น้อยลงและเลิกสูบบุหรี่ได้ง่ายขึ้น
ศ.นพ.ประกิต กล่าวเพิ่มเติมว่า “ควันบุหรี่เมื่อถูกหายใจเข้าสู่ปอด สารพิษในควันบุหรี่จะถูกดูดซึมเข้าสู่กระแสเลือด ซึ่งจะไหลเวียนไปยังทุกอวัยวะของร่างกายในเวลาอันรวดเร็ว สารพิษซึ่งรวมสารก่อมะเร็งยังผ่านรกไปถึงทารกในครรภ์ได้ สารพิษเหล่านี้บางส่วนจะถูกทำลายโดยตับ ที่เหลือจะถูกขจัดออกทางปัสสาวะ การที่สารพิษและสารก่อมะเร็ง ถูกพาไปสัมผัสกับทุกอวัยวะ เป็นเหตุให้หลอดเลือดเสื่อม เกิดโรคกับอวัยวะทั่วร่างกาย รวมถึงมะเร็ง 12 ชนิด
ด้าน พญ.ปองทอง ปูรานิธี ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี เปิดเผยถึงการตรวจปัสสาวะเด็กแรกเกิดถึงอายุ 6 ขวบ ที่มีคนในครอบครัวสูบบุหรี่จำนวน 75 ครอบครัว พบว่า 57 รายหรือร้อยละ 76 ตรวจพบสารพิษจากควันบุหรี่ (โคตินิน) ในระดับซึ่งบ่งบอกถึงปริมาณที่มาจากสิ่งแวดล้อมรอบตัวเด็ก โดยพบว่าเด็กที่อาศัยในคอนโดมิเนียม อะพาร์ตเมนต์ และแฟลต มีสารพิษในปัสสาวะสูงกว่าเด็กในบ้านเดี่ยวหรือทาวน์เฮาส์ถึงสองเท่าตัว
ในขณะที่ พญ.นัยนา ณีศะนันท์ สถาบันสุขภาพเด็กแห่งชาติมหาราชินี กล่าวว่า การสำรวจผู้ปกครองที่ พาเด็กมาตรวจรักษาที่สถาบันสุขภาพเด็กฯ ระหว่างเดือน พ.ค.-ก.ย.2559 จำนวน 1,022 ครอบครัว โดยร้อยละ 96 ของเด็กได้รับการเลี้ยงดูที่บ้าน พบว่าร้อยละ 45.6 หรือ 456 ครอบครัวมีสมาชิกที่สูบบุหรี่ ในจำนวนนี้ 101 ครอบครัวหรือ 21.5% สูบในบ้าน โดยส่วนใหญ่เป็นพ่อแม่หรือปู่ย่าตายาย พบว่าเด็กที่อาศัยในบ้านที่มีคนสูบบุหรี่เป็นหวัดเจ็บคอบ่อย
268 คน เทียบกับ 205 คนในบ้านที่ไม่มีคนสูบบุหรี่ และมีอาการหอบเหนื่อยต้องพ่นยา 96 คน ในบ้านที่มีคนสูบบุหรี่ เทียบกับ 53 คนในบ้านที่ไม่มีคนสูบบุหรี่ เด็กที่อาศัยในบ้านที่มีผู้สูบบุหรี่ เกิดการเจ็บป่วยมากกว่าเด็กในบ้านที่ไม่มีการสูบบุหรี่ อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ
ด้าน ดร. จักรพันธ์ เพ็ชรภูมิ ภาควิชาอนามัยชุมชน คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร พิษณุโลก กล่าวว่า การสำรวจหญิงตั้งครรภ์ในอำเภอโกรกพระ จ.นครสวรรค์ จำนวน 115 คน พบว่า กลุ่มตัวอย่างร้อยละ 97.4 ไม่เคยสูบบุหรี่ และมี 3 คนที่ยังสูบบุหรี่ขณะตั้งครรภ์ แต่ร้อยละ 90.4 เคยได้รับควันบุหรี่มือสองในรอบ 30 วันที่ผ่านมา โดยเฉพาะช่วงเวลาหลัง 16.30 น. เป็นต้นไป โดยสถานที่ที่ได้รับควันบุหรี่ 54.3% จากตลาด 48.7% ในบ้านของตนเอง และ 9.6% ในที่ทำงาน ทั้งนี้หญิงตั้งครรภ์ 65.2% จะถอยห่างจากคนที่กำลังสูบบุหรี่ 59.1% จะหลีกเลี่ยงการเข้าไปในสถานที่ที่มักมีควันบุหรี่ และ 55.7% จะหลีกเลี่ยงเส้นทางที่ต้องผ่านบริเวณที่มีการสูบบุหรี่เป็นประจำ
ด้านมูลนิธิเพื่อนหญิง นำโดย คุณธนวดี ท่าจีน ผู้อำนวยการมูลนิธิเพื่อนหญิง ได้นำตัวแทนคุณแม่ที่กำลังตั้งครรภ์ร่วมงานแถลงข่าวในวันนี้ โดยทั้งสี่ท่านได้เรียกร้องกับพ่อบ้านที่ยังสูบบุหรี่ให้เลิกสูบบุหรี่ในบ้าน และมาช่วยกันทำให้บ้านเป็นเขตปลอดบุหรี่ เพื่อเห็นแก่ลูกน้อยที่กำลังจะออกมาดูโลกในอีกไม่ช้าให้ได้รับอากาศที่บริสุทธิ์ ลมหายใจสะอาด และที่สำคัญลูกน้อยของเราก็จะไม่เสียงที่จะเป็นโรคร้ายต่าง ๆ โดยเฉพาะโรคทางเดินหายใจ ภูมิแพ้ ซึ่งเด็กแรกเกิดเป็นกันมาก ตามที่คุณหมอทุกท่านกล่าวข้างต้น นอกจากนี้ การไม่สูบบุหรี่ในบ้านของพ่อบ้าน ยังช่วยปกป้องลูก ๆ ไม่ซึมซับ เลียนแบบพฤติกรรมสูบบุหรี่เมื่อเขาโตขึ้น
ด้าน รศ.นพ.สุริยเดว ทรีปาตี ผู้อำนวยการสถาบันแห่งชำติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า ผลการสำรวจในวัยรุ่นไทย 1,000 คน พบว่า วัยรุ่นที่อาศัยอยู่ในบ้านที่ห้ามสูบบุหรี่ทุกพื้นที่ สูบบุหรี่ 15.7% ที่อาศัยในบ้านที่ห้ามสูบบุหรี่เพียงบางพื้นที่สูบบุหรี่ 31.4 % และที่อาศัยในบ้านที่สูบบุหรี่ได้ทุกพื้นที่ มีอัตราการสูบบุหรี่เท่ากับ 51.8% ขณะที่รายงานจากองค์การอนามัยโลก พบว่า วัยรุ่นที่ได้รับควันบุหรี่มือสองในบ้าน มีโอกาสติดบุหรี่เพิ่มขึ้น 1.4 ถึง 2.1เท่า เมื่อเทียบกับวัยรุ่นที่ไม่ได้รับควันบุหรี่มือสองในบ้าน
ในขณะที่ คุณธนากร คมกฤส กรรมการมูลนิธิเครือข่ายครอบครัว ก็กล่าวสนับสนุนเห็นด้วยอย่างเต็มยิ่ง ที่จะทำให้บ้านปลอดบุหรี่ และขอเชิญชวนทุกคนในบ้านร่วมกันรวมพลังของคนในครอบครัวปกป้องลูกหลานจากควันบุหรี่และลดความเสี่ยงการเสพติดบุหรี่
ท้ายสุดนายแพทย์วันชาติ ศุภจัตุรัส ผู้แทนสมาพันธ์เครือข่ายแห่งชาติเพื่อสังคมไทยปลอดบุหรี่ กล่าวปิดท้ายว่า เนื่องในวโรกาสวันแม่แห่งชาติ 12 สิงหาคมที่จะถึงนี้ ขอเรียกร้องให้ผู้ใหญ่ใจดีทุกฝ่าย ไม่สูบบุหรี่ในบ้าน ไม่สูบบุหรี่ใกล้เด็กหรือหญิงตั้งครรภ์ เพื่อปกป้องลูกหลานของพวกเราทุกคนให้ปลอดภัยจากควันพิษของบุหรี่ทุกรูปแบบ และที่สำคัญอย่างยิ่งเพื่อถวายเป็นพระราชกุศลให้สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ 9 ด้วย
ต้องการสอบถามข้อมูลและรายละเอียดเพิ่มเติม กรุณาติดต่อ มูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ โทร. 0-2278-1828