สหประชาชาติคว่ำบาตรบริษัทบุหรี่

มูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่                    

ACTION  ON  SMOKING  AND  HEALTH  FOUNDATION

                                                                                                  

Press Release 

ศูนย์ข่าว มูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ 

วันที่ 15 กันยายน  2560

วันที่ข่าวตีพิมพ์ : สามารถเผยแพร่ได้ทันที

 

 

 

สหประชาชาติคว่ำบาตรบริษัทบุหรี่

 

      กรุงเทพ: 13 กันยายน พ.ศ. 2560: Southeast Asia Tobacco Control Alliance (SEATCA) ชื่นชมข้อตกลงโลกแห่งสหประชาชาติ หรือ United Nations Global Compact (UNGC) ที่มีมติไม่สนับสนุนให้บริษัทบุหรี่เข้าร่วมกับการดำเนินงานใด ๆ ของ UNGC โดยกำหนดให้บริษัทบุหรี่อยู่ในประเภทเดียวกับบริษัทที่ผลิตทุ่นระเบิด อาวุธนิวเคลียร์ อาวุธเคมี  และอาวุธชีวภาพ ซึ่งเป็นกลุ่มธุรกิจที่สหประชาชาติคว่ำบาตรและขึ้นบัญชีดำไว้ด้วยเหตุผลด้านจริยธรรม

UNGC ริเริ่มขึ้นในปี พ.ศ. 1999 โดยนายโคฟี่ อันนัน อดีตเลขาธิการองค์การสหประชาชาติ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสนับสนุนนโยบายความรับผิดชอบต่อสังคมและความยั่งยืนในภาคธุรกิจ หลักการของ UNGC ให้ความสำคัญกับหลักสิทธิมนุษยชน สิทธิแรงงาน การรักษาสิ่งแวดล้อม และการต่อต้านการทุจริตคอรัปชั่น ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในการสนับสนุนเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน หรือ Sustainable Development Goals (SDGs)    

น.ส.บังอร ฤทธิภักดี ผู้อำนวยการบริหาร  SEATCA กล่าวว่า “เห็นได้ชัดเจนว่าความพยายามของบริษัทบุหรี่ในการร่วมเป็นส่วนหนึ่งของ UNGC นั้นขัดแย้งกับวัตถุประสงค์ของ UNGC ในด้านการสนับสนุนเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนในกลุ่มองค์กรภาคธุรกิจ ธุรกิจบุหรี่นำมาซึ่งโรคร้าย ความตายและความสูญเสียต่อทั้งภาคสังคม เศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อมอย่างมหาศาล ซึ่งถือว่าไม่สอดคล้องอย่างยิ่งกับเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน ธุรกิจบุหรี่ไม่เหมือนธุรกิจอื่น ๆ ทั่วไป”

ธุรกิจบุหรี่นับเป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์และการพัฒนาอย่างยั่งยืน ด้วยเหตุนี้องค์กรสากลหลายแห่ง อาทิ องค์การอนามัยโลก ธนาคารโลก โครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (UNDP) องค์การการศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (UNESCO) และ คณะมนตรีเศรษฐกิจและสังคมแห่งสหประชาชาติ (ECOSOC) จึงปฏิเสธการเป็นพันธมิตรและเงินสนับสนุนจากบริษัทบุหรี่ ข้อมติ E/2017/L.21 ของคณะมนตรีเศรษฐกิจและสังคมแห่งสหประชาชาติ เมื่อเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2560 สนับสนุนให้หน่วยงานของสหประชาชาติพัฒนานโยบายเพื่อป้องกันการรุกรานของบริษัทบุหรี่

จากรายงานฉบับล่าสุดของ SEATCA ในชื่อ “Hijacking ‘Sustainability’ from the SDGs: Review of Tobacco-related CSR Activities in the ASEAN Region” พบว่ารัฐบาลในภูมิภาคอาเซียนเริ่มตระหนักถึงผลกระทบอันเลวร้ายของยาสูบ  และเพิ่มมาตรการเพื่อควบคุมบริษัทบุหรี่มากขึ้น ขณะที่บริษัทบุหรี่เองก็พยายามวางกลยุทธ์ ทางการตลาดเพื่อโฆษณาประชาสัมพันธ์บริษัท  และผลิตภัณฑ์ของบริษัทต่อกลุ่มผู้บริโภค โดยผ่านกิจกรรมเพื่อสังคมหรือ CSR เป็นสำคัญ เพื่อสร้างภาพลักษณ์อันดีแก่บริษัท และในบางครั้งยังพบว่าบริษัทบุหรี่จัดกิจกรรมร่วมกับหน่วยงานขององค์การสหประชาชาติบางหน่วยงานโดยมิได้รับการยินยอมจากหน่วยงานด้วย 

รายงานข่าวเชิงสืบสวนของ Reuters และ The Guardian ต่างก็เปิดเผยให้เห็นถึงความฉ้อฉลของบริษัทบุหรี่ยักษ์ใหญ่ อย่าง ฟิลลิปมอร์ริส อินเตอร์เนชั่นแนล (PMI) และบริติช อเมริกัน โบแบคโค (BAT) ที่ดำเนินโครงการโดยลับเพื่อลดทอนความสามารถในการปฏิบัติตามกรอบอนุสัญญาควบคุมยาสูบขององค์การอนามัยโลก (WHO FCTC) รวมทั้งความพยายามในการเจรจาต่อรองกับภาครัฐในระหว่างการประชุมประเทศภาคีของกรอบอนุสัญญาว่าด้วยการควบคุมยาสูบ

น.ส.บังอร กล่าวเพิ่มเติมว่า “SEATCA รู้สึกยินดีเป็นอย่างยิ่งในมติของ UNGC และการกระตุ้นเตือนหน่วยงานขององค์การสหประชาชาติ ตลอดจนองค์กรระหว่างประเทศอื่น ๆ ในการวางนโยบายที่จะไม่เข้าร่วมเป็นพันธมิตรกับบริษัทบุหรี่ไม่ว่าในกรณีใด ๆ ดังเช่นนโยบายของ WHO, UNDP และ UNESCO”  

การบริโภคยาสูบถือเป็นสาเหตุหลักในการเสียชีวิตก่อนวัยอันควรที่ป้องกันได้ ในภูมิภาคอาเซียนพบว่า กว่าครึ่งหนึ่งของประชากรชายสูบบุหรี่ ซึ่งมีจำนวนรวมกันกว่า 125 ล้านคนหรือคิดเป็นร้อยละ 10 ของจำนวนผู้สูบบุหรี่ที่ยังมีชีวิตอยู่ทั่วโลก ในแต่ละปี การสูบบุหรี่เป็นสาเหตุการเสียชีวิตของประชากรในภูมิภาคนี้กว่า 500,000 คนต่อปี

 

 

ข้อมูลเพิ่มเติม:

 

 

ต้องการสอบถามข้อมูลและรายละเอียดเพิ่มเติม กรุณาติดต่อ  มูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่  โทร. 0-2278-1828