หมอประกิตงัดเอกสารโต้ บุหรี่ไฟฟ้าพ่นพิษน้อยกว่าบุหรี่ธรรมดา 95% ไม่จริง

มูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่                    

ACTION ON SMOKING AND HEALTH FOUNDATION

                                                                                                                           

   Press Release 

ศูนย์ข่าว มูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ 

วันที่ 22  ธันวาคม  2560

วันที่ข่าวตีพิมพ์ : สามารถเผยแพร่ได้ทันที

 

 

หมอประกิตงัดเอกสารโต้

บุหรี่ไฟฟ้าพ่นพิษน้อยกว่าบุหรี่ธรรมดา 95% ไม่จริง

ศ.นพ. ประกิต วาทีสาธกกิจ เลขาธิการมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ เปิดโปงความไม่น่าเชื่อถือ        ที่ระบุว่า บุหรี่ไฟฟ้ามีอันตรายน้อยกว่าบุหรี่ธรรมดา 95% ที่มีกลุ่มเรียกร้องให้รัฐบาลไทยยกเลิกการห้ามนำเข้าและห้ามขายบุหรี่ไฟฟ้า โดยอ้างองค์กรพับบลิคเฮลธ์อิงแลนด์ (Public Health England) หน่วยงานในสังกัดกระทรวงสาธารณสุข ได้รับรองรายงานที่มอบหมายให้ผู้เชี่ยวชาญกลุ่มหนึ่งศึกษาจนออกมาเป็นรายงานฉบับดังกล่าวเมื่อปี 2558

ในทางตรงกันข้าม วารสารการแพทย์แลนเซท ของอังกฤษ ซึ่งเป็นวารสารวิชาการแพทย์ที่ทั่วโลกให้ความเชื่อถือ ได้ลงบทบรรณาธิการวิเคราะห์และวิจารณ์ถึงปัญหาความน่าเชื่อถือของขบวนการที่ทำให้ได้มาซึ่งข้อสรุปว่า บุหรี่ไฟฟ้าอันตรายน้อยกว่าบุหรี่ธรรมดา 95%  มีความไม่น่าเชื่อถือจากข้อสังเกต ดังนี้

  1. ความเห็นดังกล่าวที่เสนอต่อพับบลิคเฮลธ์อิงแลนด์ อ้างอิงอีกรายงานหนึ่งที่มาจากการประชุมของกลุ่มผู้เชี่ยวชาญ 12 คน ทำการประชุมเพียงครั้งเดียว ในเดือนกรกฎาคม 2556 ที่กรุงลอนดอน เพื่อประเมินอันตรายของผลิตภัณฑ์ยาสูบชนิดต่าง ๆ รวมทั้งบุหรี่ไฟฟ้า แต่ไม่มีการเปิดเผยหลักเกณฑ์และเงื่อนไข ที่ใช้คัดเลือกผู้เชี่ยวชาญที่เข้าร่วมประชุม ที่คลางแคลงใจกันมากคือจำนวนผู้เชี่ยวชาญนี้มีสองคนที่โยงใยกับอุตสาหกรรมผลิตบุหรี่ไฟฟ้า
  2. ในการให้ความเห็นของผู้เชี่ยวชาญที่ร่วมประชุม ใช้วิธีการให้คะแนนอันตรายของผลิตภัณฑ์ยาสูบชนิดต่าง ๆ โดยไม่มีการแสดงหลักฐานสนับสนุนความเห็นของแต่ละคน เพื่ออ้างอิง
  3. ที่สำคัญกลุ่มผู้เขียนผลการศึกษาเองได้ระบุชัดในรายงานยอมรับว่า ระเบียบวิจัยที่นำมาซึ่งข้อสรุปยังมีปัญหา และผู้ร่วมทำรายงานเกี่ยวพันมีผลประโยชน์ทับซ้อน แต่กลับไม่ระบุไว้ในผลรายงาน ที่เสนอต่อพับบลิคเฮลธ์          อิงแลนด์แต่อย่างใด

ทั้งนี้ นอกจากมีเพียงองค์กรพับบลิคเฮลธ์อิงแลนด์ที่รับรองรายงานชิ้นนี้แล้ว อีกสององค์กรคือ ราชวิทยาลัยอายุรแพทย์แห่งลอนดอน และองค์กรรณรงค์ไม่สูบบุหรี่แอช ยูเค (ASH UK) ให้การรับรองรายงานเพียงบางส่วน และยังขอให้ใช้ความระมัดระวังในการนำไปอ้างอิง ส่วนองค์กรสุขภาพอื่นทั้งในอังกฤษ สหรัฐอเมริกา รวมทั้งองค์กรนานาชาติยังไม่ยอมรับรายงานที่ยังมีปัญหานี้ ทั้งสมาคมแพทย์อังกฤษ คณะสาธารณสุขศาสตร์อังกฤษ ศูนย์ควบคุมและป้องกันโรค

 

 

สหรัฐอเมริกา สมาคมโรคปอดสหรัฐอเมริกา คณะกรรมาธิการสหภาพยุโรป และองค์การอนามัยโลก ซึ่งกลุ่มผู้ผลักดัน  ให้ยกเลิกการห้ามบุหรี่ไฟฟ้า ไม่ได้นำข้อเท็จจริงทั้งหมดมาเปิดเผยต่อสาธารณะ ถือเป็นการเสนอข้อมูลเพียงด้านเดียว

ศ.นพ.ประกิต  กล่าวต่อไปว่า รายงานที่เสนอต่อพับบลิคเฮลธ์อิงแลนด์  นอกจากมีปัญหาเรื่องระเบียบวิจัยและปัญหาผลประโยชน์ทับซ้อนแล้ว  ยังเป็นข้อสรุปของปี พ.ศ.2556 ซึ่งยังมีการใช้บุหรี่ไฟฟ้ากันไม่มาก  และงานวิจัยถึงผลกระทบต่อสุขภาพยังแทบจะไม่มีการทำกัน  ซึ่งการแพร่หลายของการใช้บุหรี่ไฟฟ้าเกิดขึ้นเมื่อไม่กี่ปีมานี้ จากผลสำรวจอัตราการใช้บุหรี่ไฟฟ้าในนักเรียนระดับมัธยมในอเมริกาเมื่อปี พ.ศ. 2554 พบ 1.5 % แต่ปี 2558 อัตราการใช้บุหรี่ไฟฟ้าในนักเรียนมัธยมเพิ่มถึง 16% หรือเพิ่มมากกว่า 10 เท่าเพียงไม่กี่ปี  ขณะที่รายงานการวิจัยในหนูทดลองพบว่าการสูบบุหรี่ไฟฟ้าส่งผลเสียต่อถุงลมปอด เหมือนกับหนูทดลองที่ได้รับควันบุหรี่ธรรมดา และเกิดผลเสียต่อเยื่อบุหลอดเลือดในคนเหมือนผู้ที่สูบบุหรี่อีกด้วย  รวมทั้งการทบทวนรายงานผลการศึกษาล้วนพบว่าวัยรุ่นที่สูบบุหรี่ไฟฟ้า เสี่ยงจะสูบบุหรี่ธรรมดาเพิ่มขึ้นหลายเท่า ซึ่งข้อมูลเหล่านี้ล้วนออกมาหลังรายงานที่ว่า บุหรี่ไฟฟ้าอันตรายน้อยกว่า 95% ที่เผยแพร่เมื่อ พ.ศ.2558 ทั้งสิ้น

 “ที่สำคัญองค์การอนามัยโลกจัดทำรายงานเกี่ยวกับบุหรี่ไฟฟ้า  โดยการทบทวนรายงานวิชาการทั้งหมด 175  รายงานที่มีการเผยแพร่จนถึงปี 2558 พบว่า  34%  หรือ 60 รายงาน เป็นรายงานที่มีปัญหาผลประโยชน์ทับซ้อน  โดยได้รับการสนับสนุนทุนหรือเกี่ยวพันกับธุรกิจยาสูบ  ซึ่งรายงานเหล่านี้ล้วนจะออกมาในทางที่บุหรี่ไฟฟ้ามีอันตรายน้อย  และรายงานสุดท้ายที่องค์การอนามัยโลกเสนอต่อที่ประชุมใหญ่ภาคีอนุสัญญาควบคุมยาสูบ ปีถัดมาในเดือนธันวาคม พ.ศ. 2559 ไม่มีการกล่าวถึงผลการศึกษาบุหรี่ไฟฟ้ามีอันตรายน้อยกว่าบุหรี่ธรรมดา 95% เลย ข้ออ้างว่าบุหรี่ไฟฟ้าอันตรายน้อยกว่าบุหรี่ธรรมดา 95% จึงเป็นความผิดพลาดของพับบลิคเฮลธ์อิงแลนด์  ที่รีบเร่งไปยอมรับรายงานที่ว่าตั้งแต่ต้น  โดยไม่ได้ศึกษารายละเอียดอย่างรอบคอบ เป็นเหตุให้อีกฝ่ายที่บุกตลาดขายบุหรี่ไฟฟ้านำมาเป็นข้อมูลอ้างอิง สร้างความสับสนให้แก่สังคม” ศ.นพ.ประกิตกล่าวในที่สุด

 

อ้างอิง

  •   Martin Mckee, Simon Capewell : Evidence about electronic cigarette : a foundation built on rock or sand? BMJ 2015:351:H4863
  •   Experts question the evidence underpinning e-cigarette recommendations. Concern over Public Health England’s recent support for e-cigarettes BMI,2015:h4863.
  •   Editorial : Public Health England’s evidence based confusion. the Lancet. August 29,2015

 

ต้องการสอบถามข้อมูลและรายละเอียดเพิ่มเติม กรุณาติดต่อ 0-2278-1828