สัญญาณอันตราย! เตือนวัยรุ่นหญิงสูบบุหรี่มากขึ้น

มูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่                    

ACTION  ON  SMOKING  AND  HEALTH  FOUNDATION

                                                                                                                              Press Release              

ศูนย์ข่าว มูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ 

วันที่ 6 มีนาคม 2561

วันที่ข่าวตีพิมพ์ : สามารถเผยแพร่ได้ทันที

 

 

สัญญาณอันตราย! เตือนวัยรุ่นหญิงสูบบุหรี่มากขึ้น

            วันนี้ 6 มีนาคม 2561 มูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ จัดการเสวนา เรื่อง พิษของบุหรี่ต่อสตรี ยิ่งมีมากกว่าบุรุษ ขึ้นเพื่อสร้างกระแสการรณรงค์ให้สังคมไทยมีความตื่นตัว และตระหนักถึงความสำคัญในการรณรงค์ป้องกันวัยรุ่นหญิงไทยจากการสูบบุหรี่  ณ โรงแรมเซ็นจูรี่พาร์ค ถนนราชปรารภ

            ศ.นพ.ประกิต  วาทีสาธกกิจ เลขาธิการมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่  เปิดเผยว่า  เนื่องจากการสำรวจของสำนักงานสถิติแห่งชาติ ปี พ.ศ. 2557 ระบุว่า ขณะนี้มีเยาวชนไทยอายุ 15-18 ปี  ติดบุหรี่แล้วถึง 353,898 คน ซึ่งทุก ๆ 7 คนใน 10 คน จะติดบุหรี่ ไปตลอดชีวิต หรือเท่ากับ 247,728 คน โดยครึ่งหนึ่งคือ 123,864  คน จะป่วยและเสียชีวิตด้วยโรคจากการสูบบุหรี่ในอนาคต แม้ว่าอัตราการสูบบุหรี่ของผู้หญิงไทยในปัจจุบันมีจำนวนไม่มากนัก เมื่อเปรียบเทียบกับอัตราการสูบบุหรี่ของผู้ชาย โดยสถิติการสูบบุหรี่ของผู้หญิงไทย เท่ากับ 2.2% ในขณะที่ผู้ชายไทยสูบบุหรี่ถึง 40.5%  แต่ผลการสำรวจถึงความชุกของการสูบบุหรี่ของนักเรียนไทย อายุระหว่าง 13-15 ปี พบว่าวัยรุ่นหญิงสูบบุหรี่เพิ่มขึ้น จาก 2% ในปี พ.ศ.2551 เป็น 5% ในปี พ.ศ.2558   ขณะที่ในนักเรียนชายอัตราการสูบบุหรี่คงที่อยู่ที่ 21% ประเด็นที่สังคมไทยต้องเป็นห่วงและเฝ้าระวังอย่างยิ่งในขณะนี้คือ การที่เยาวชนไทยหันมาใช้และสูบบุหรี่ไฟฟ้าเพิ่มมากขึ้น  ซึ่งถือเป็นสัญญาณอันตรายของแนวโน้มการสูบบุหรี่ของเยาวชนไทยมากขึ้นเพราะหลักฐานงานวิจัย                    จากต่างประเทศของเยาวชนที่สูบบุหรี่ไฟฟ้าติดตามต่อมากลายไปสูบบุหรี่ธรรมดา  และจากข้อมูลผลการสำรวจการบริโภคยาสูบ             ในเยาวชนระดับโลก  พบว่า  เยาวชนอายุระหว่าง 13–15 ปี ในประเทศไทย ปี พ.ศ. 2558 พบว่า มีการใช้หรือสูบบุหรี่ไฟฟ้า ร้อยละ 3.3 เป็นเยาวชนชาย ร้อยละ 4.7 และเยาวชนหญิง ร้อยละ 1.9  ซึ่งเยาวชนเหล่านี้มีความเข้าใจผิดและคลาดเคลื่อนเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ดังกล่าวว่ามีความปลอดภัย          

            ศ.นพ.ประกิต  กล่าวเพิ่มเติมว่า นอกจากนี้ผลการสำรวจของสำนักงานสถิติแห่งชาติปี พ.ศ. 2557 ระบุว่า ยังมีหญิงไทยจำนวนมาก  มีความรู้ไม่มากพอเรื่องอันตรายของการสูบบุหรี่ต่อคุณแม่ที่ตั้งครรภ์ โดยจากคำถามถึงการรับรู้ว่าบุหรี่เป็นสาเหตุ ของมารดาคลอดทารกก่อนกำหนด (28-34 สัปดาห์) มีคุณแม่ที่ไม่สูบบุหรี่ เพียง 54.3% รู้ว่ามีอันตราย ส่วนคุณแม่ที่สูบบุหรี่มีเพียง 39.5% เท่านั้นที่รู้ว่าการสูบบุหรี่มีอันตรายต่อทารกในครรภ์ 

            ศ.นพ.ภิเศก  ลุมพิกานนท์ ประธานราชวิทยาลัยสูตินรีแพทย์แห่งประเทศไทย กล่าวว่า ผู้หญิงที่สูบบุหรี่นอกจากจะเกิดโรคต่าง ๆ เช่นเดียวกับผู้ชายแล้ว ยังพบว่าการเกิดโรคจะเกิดเร็วกว่าผู้ชาย เช่น  มะเร็งปอด เนื่องจากเพศหญิงมีฮอร์โมนที่แตกต่างจากเพศชาย และผู้หญิงมีอวัยวะที่ผู้ชายไม่มีคือมดลูก และระบบเจริญพันธุ์ การสูบบุหรี่เป็นสาเหตุของมะเร็งปากมดลูก ทำให้มีบุตรยาก แท้งลูกง่าย คลอดลูกก่อนกำหนด ลูกมีน้ำหนักตัวน้อย เนื่องจากนิโคตินและสารพิษในควันบุหรี่ทำให้เลือดนำออกซิเจน และสารอาหารไปถึงทารกน้อยลง และสารพิษจากควันบุหรี่ที่มากับเลือดที่เลี้ยงผิวหนัง จะทำลายคอลลาเจนใต้ผิวหนัง ทำให้ผิวแห้งกร้านและเหี่ยวย่นเร็ว

            ด้าน พญ.นภารัตน์ อมรพุฒิสถาพร จากคณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี และสมาคมอุรเวชช์แห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ กล่าวว่า ปัญหาใหญ่ของเรื่องยาสูบกับหญิงไทย คือ มีหญิงไทยอายุเกิน 15 ปี  กว่า 8 ล้านคนที่ได้รับควันบุหรี่ มือสองในบ้านทุกวัน ซึ่งควันบุหรี่มือสองมีสารพิษและสารก่อมะเร็งเช่นเดียวกับที่ผู้สูบเองได้รับ หญิงไทยจึงเสี่ยงที่จะเกิดมะเร็งปอด โรคเส้นเลือดหัวใจและโรคเส้นเลือดสมองจากการได้รับควันบุหรี่มือสอง โดยเฉพาะในบ้าน ทุกฝ่ายจึงควรร่วมกันสร้างวัฒนธรรมไม่สูบบุหรี่ในบ้านให้เกิดขึ้นในสังคมไทย

ต้องการสอบถามข้อมูลและรายละเอียดเพิ่มเติม กรุณาติดต่อ คุณชวาลา  ภวภูตานนท์ฯ โทร. 0-2278-1828