ผลประเมินโรงเรียนปลอดบุหรี่ป้องกันนักสูบบุหรี่หน้าใหม่ได้จริง
มูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่
ACTION ON SMOKING AND HEALTH FOUNDATION
Press Release
ศูนย์ข่าว มูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่
วันที่ 29 มีนาคม 2561
วันที่ข่าวตีพิมพ์ : สามารถเผยแพร่ได้ทันที
ผลประเมินโรงเรียนปลอดบุหรี่ป้องกันนักสูบบุหรี่หน้าใหม่ได้จริง
เผยผลประเมินโรงเรียนปลอดบุหรี่ ลดจำนวนผู้สูบบุหรี่ในโรงเรียน อายุที่เริ่มสูบบุหรี่มวนแรกของนักเรียนเพิ่มขึ้น นักเรียนมีความรู้และทัศนคติต่อการสูบบุหรี่ที่ถูกต้อง รวมทั้งมีความตั้งใจแน่วแน่ว่าจะไม่สูบบุหรี่
ครูอนงค์ พัวตระกูล คณะกรรมการบริหารเครือข่ายครูเพื่อโรงเรียนปลอดบุหรี่ กล่าวว่า เครือข่ายครูเพื่อโรงเรียนปลอดบุหรี่ มูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ เริ่มดำเนินงานภายใต้การสนับสนุนจาก สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) มาตั้งแต่ ปี พ.ศ.2548 จนถึงปัจจุบัน โดยสนับสนุนให้โรงเรียนที่เป็นภาคีเครือข่ายโรงเรียนปลอดบุหรี่ ทั้ง 31 จังหวัดครอบคลุมทุกภูมิภาค ได้ดำเนินงานอย่างเป็นรูปธรรมด้วยการนำ “7 มาตรการเพื่อโรงเรียนปลอดบุหรี่” ไปใช้เป็นเครื่องมือสำคัญ ซึ่งนอกจากเป็นการดำเนินงานโรงเรียนปลอดบุหรี่ตามกฎหมายแล้ว ยังเป็นการปกป้องเยาวชนจากบุหรี่ซึ่งเป็นประตูสู่ยาเสพติดอื่น ๆ ด้วย
เพื่อเป็นการสะท้อนประสิทธิผลการดำเนินงานโรงเรียนปลอดบุหรี่ที่เป็นรูปธรรม เครือข่ายครูฯ จึงได้มี “การวิจัยประเมินผลโครงการโรงเรียนปลอดบุหรี่” โดยใช้รูปแบบการประเมิน CIPP Model ครอบคลุม 4 ด้าน คือ ด้านบริบท ด้านปัจจัยนำเข้า ด้านกระบวนการ และ ด้านผลลัพธ์ โดยเป็นการเปรียบเทียบโรงเรียนในเครือข่ายโรงเรียนปลอดบุหรี่ จำนวน 2 แห่ง กับ โรงเรียนที่ไม่ได้เป็นเครือข่ายโรงเรียนปลอดบุหรี่ ที่มีบริบทใกล้เคียงกัน 2 แห่ง จากการประเมิน พบว่า การดำเนินงานโรงเรียนปลอดบุหรี่ของโรงเรียนในเครือข่ายโรงเรียนปลอดบุหรี่ ได้ผลดีกว่าโรงเรียนที่ไม่ได้เป็นเครือข่ายโรงเรียนปลอดบุหรี่ในทุกด้านอย่างชัดเจน วัดได้ด้วยเครื่องมือทางสถิติ ทั้งในภาพรวม 4 ด้าน และ เมื่อแยกวิเคราะห์แต่ละด้าน
โดย ด้านบริบท พบว่า โรงเรียนในเครือข่ายฯ มีคนสูบบุหรี่ในบริเวณโรงเรียน น้อยกว่าในโรงเรียนที่ไม่ได้เป็นเครือข่ายฯ (ทั้งผู้บริหาร ครู นักเรียน และบุคคลภายนอกที่เข้ามาในบริเวณโรงเรียน)
ด้านปัจจัยนำเข้า พบว่า โรงเรียนในเครือข่ายฯ มีผู้รับผิดชอบงานด้านบุหรี่โดยตรง มีการจัดสถานที่ให้ปลอดบุหรี่ มีครูที่ดูแลนักเรียนอย่างใกล้ชิด และส่งเสริมให้นักเรียนมีส่วนร่วมในการทำให้โรงเรียนปลอดบุหรี่ ซึ่งทำให้นักเรียนเห็นความสำคัญของพิษภัยบุหรี่และมีทักษะในการปฏิบัติตนให้ห่างไกลบุหรี่ มากกว่าโรงเรียนที่ไม่ได้เป็นเครือข่ายฯ
ด้านกระบวนการ พบว่า โรงเรียนในเครือข่ายฯ มีการดำเนินงานเพื่อโรงเรียนปลอดบุหรี่ ได้ชัดเจนเป็นรูปธรรมมากกว่า โรงเรียนที่ไม่ได้เป็นเครือข่ายฯ
ด้านผลลัพธ์ พบว่า โรงเรียนในเครือข่ายฯ นักเรียนมีความรู้ที่ถูกต้องเกี่ยวกับบุหรี่ ทัศนคติต่อการสูบบุหรี่ที่เหมาะสม มีค่านิยมไม่สูบบุหรี่ และมีความตั้งใจแน่วแน่ว่าจะไม่สูบบุหรี่เพราะเห็นว่าสังคมไม่ยอมรับ ส่วนเรื่อง มโนทัศน์ พบว่า นักเรียนในโรงเรียนเครือข่ายฯ มีความเห็นว่าการติดบุหรี่ทำให้เสียการเรียนและเสียอนาคต มากกว่า นักเรียนในโรงเรียนที่ไม่ได้เป็นเครือข่ายฯ
อายุเฉลี่ยของนักเรียนที่เริ่มสูบบุหรี่มวนแรกของโรงเรียนในเครือข่ายโรงเรียนปลอดบุหรี่มากกว่าอายุเฉลี่ยของนักเรียนในโรงเรียนที่ไม่ได้เป็นเครือข่ายโรงเรียนปลอดบุหรี่ และพบว่าพฤติกรรมการสูบบุหรี่ของลูกมีความสัมพันธ์กับพฤติกรรมการสูบบุหรี่ของพ่อและแม่อย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ
ศ.นพ.ประกิต วาทีสาธกกิจ ประธานมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ กล่าวว่า จากการสำรวจของสำนักงานสถิติแห่งชาติ ปี พ.ศ. 2557 ระบุว่า ขณะนี้มีเยาวชนไทยอายุ 15-18 ปี ติดบุหรี่แล้วถึง 353,898 คน และการสำรวจการบริโภคยาสูบในเด็กนักเรียนอายุ 13-15 ปี เมื่อ พ.ศ.2558 มีนักเรียนที่สูบบุหรี่ 271,200 คน ซึ่ง ทุก ๆ 7 คนใน 10 คน จะติดบุหรี่ไปตลอดชีวิต ในประเทศไทยเรามีเด็กและเยาวชนวัยเรียน 14 ล้านคน หากโรงเรียน ทั่วประเทศปลอดบุหรี่ได้อย่างแท้จริง ก็จะลดโอกาสการเสพติดบุหรี่ของเด็กและเยาวชนได้ปีละนับหมื่นคน จึงขอเชิญชวนให้คุณครูทุกโรงเรียนทั่วประเทศ ได้เข้ามามีส่วนร่วมดำเนินงานโรงเรียนปลอดบุหรี่ ซึ่งนอกจากการจัดให้โรงเรียนปลอดบุหรี่ตามกฎหมายแล้ว การสอนให้นักเรียนรู้ถึงพิษภัยของบุหรี่ในชั้นเรียน และการให้เด็กนักเรียนมีส่วนร่วมในกิจกรรมต่าง ๆ เกี่ยวกับบุหรี่กับสุขภาพ จะเป็นการสร้างภูมิคุ้มกันให้แก่เด็ก ๆ ที่จะไม่เข้าไปทดลองจนเกิดการเสพติดบุหรี่ในอนาคต
ต้องการสอบถามข้อมูลและรายละเอียดเพิ่มเติม กรุณาติดต่อ 0-2278-1828