บริษัทบุหรี่รุกโซเชียลมีเดียเพื่อสร้างกระแสการใช้บุหรี่ไฟฟ้า
มูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่
ACTION ON SMOKING AND HEALTH FOUNDATION
Press Release
ศูนย์ข่าว มูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่
วันที่ 7 สิงหาคม 2561
วันที่ข่าวตีพิมพ์ : สามารถเผยแพร่ได้ทันที
บริษัทบุหรี่รุกโซเชียลมีเดียเพื่อสร้างกระแสการใช้บุหรี่ไฟฟ้า
งานวิจัยชี้กว่า 70% ของข้อความทางทวิตเตอร์ที่สนับสนุนการใช้บุหรี่ไฟฟ้าเป็น “Twitter bots”
ดร.พญ.เริงฤดี ปธานวนิช. ภาควิชาเวชศาสตร์ชุมชน คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี เปิดเผยงานวิจัยล่าสุดจากคณะนักวิจัยแห่งมหาวิทยาลัย San Diego State, สหรัฐอเมริกา ตีพิมพ์ในวารสาร Journal of Health Communication เมื่อวันที่ 6 กรกฎาคม 2561 ได้ทำการศึกษาข้อความในทวิตเตอร์ที่เกี่ยวข้องกับบุหรี่ไฟฟ้าในสหรัฐอเมริกาจำนวนกว่า 194,000 ข้อความ โดยได้สุ่มเลือกข้อความจำนวน 973 ข้อความเพื่อศึกษาในรายละเอียด พบว่ามีการทวิตข้อความในเชิงสนับสนุนบุหรี่ไฟฟ้ากว่า 66% และมีจำนวนกว่า 54% ของข้อความระบุว่าการใช้บุหรี่ไฟฟ้าปลอดภัยกว่าบุหรี่ธรรมดา แต่สิ่งที่น่าสนใจคือ กว่า 70% ของข้อความทวิตเหล่านี้เกิดจากทวิตเทียม หรือ ทวิตบอท (twitter bots) ที่เป็นโปรแกรมอัตโนมัติที่จัดทำขึ้นเพื่อสร้างกระแสและสนับสนุนการใช้ผลิตภัณฑ์บุหรี่ไฟฟ้า
ผู้วิจัยสรุปว่าการสื่อสารให้ความรู้แก่สาธารณะให้เข้าใจถึงโทษของบุหรี่ไฟฟ้ามีความสำคัญ และประชาชนควรมีการตรวจสอบการโฆษณาแฝงในสื่อโซเชียลมีเดียต่าง ๆ เช่น ข้อความทวิตบอท ที่อาจจะสร้างความเข้าใจผิดต่อการใช้บุหรี่ไฟฟ้า
ล่าสุดทางผู้แทนองค์การอนามัยโลก ดร.เคิร์สติน ช็อตต์ ได้เตือนถึงพิษภัยจากการใช้บุหรี่ไฟฟ้าโดยเฉพาะในกลุ่มเยาวชน โดยพบสัดส่วนเยาวชนใช้บุหรี่ไฟฟ้าอายุน้อยลง และพบว่าผู้ที่เคยใช้บุหรี่ไฟฟ้าหันกลับไปใช้บุหรี่ธรรมดาถึง 3.5 เท่า นอกจากนี้บุหรี่ไฟฟ้ายังมีจำนวนสารพิษและสารก่อมะเร็งไม่ต่างจากบุหรี่ธรรมดา แม้หลายฝ่ายจะกล่าวอ้างว่าบุหรี่ไฟฟ้าอันตรายน้อยกว่าบุหรี่ธรรมดา แต่ไม่ได้แปลว่าบุหรี่ไฟฟ้ามีความปลอดภัย (Safer but not safe)
ขณะที่ ผศ.ดร.ศรีรัช ลอยสมุทร คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต เปิดเผยผลการสำรวจ นักเรียนชั้น ม.5-6 อายุ 16-18 ปีจำนวน 945 รายใน กทม. พบว่า 30.5 % สูบบุหรี่ไฟฟ้า โดยเชื่อว่าปลอดภัยและไม่เสพติด และการสำรวจในนิสิตมหาวิทยาลัย 1,155 ราย พบว่า 61 % สูบบุหรี่ไฟฟ้า และ 41 % เชื่อข้อมูลในเฟสบุคที่ขายบุหรี่ไฟฟ้า โดยเชื่อว่าปลอดภัย เป็นการสูบแต่ไอน้ำ
ข้อมูลอ้างอิง : Lourdes S. Martinez, Sharon Hughes, Eric R. Walsh-Buhi & Ming-Hsiang Tsou, “Okay, We Get It. You Vape”: An Analysis of Geocoded Content, Context, and Sentiment regarding E-Cigarettes on Twitter. Journal of Health Communication. 2018. https://doi.org/10.1080/10810730.2018.1493057 มติชน. บุหรี่ไฟฟ้า ทำไมต้องแบน? 4 สิงหาคม 2561 https://www.matichon.co.th/local/quality-life/news_1071403