โซนนิ่งร้านขายบุหรี่ วอน“ลุงตู่” เร่งช่วยปกป้องเยาวชน สังคมไม่อยากได้ “นักสูบ”หน้าใหม่
มูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่
ACTION ON SMOKING AND HEALTH FOUNDATION
Press Release
ศูนย์ข่าว มูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่
วันที่ 25 กันยายน 2561
วันที่ข่าวตีพิมพ์ : สามารถเผยแพร่ได้ทันที
โซนนิ่งร้านขายบุหรี่ วอน“ลุงตู่” เร่งช่วยปกป้องเยาวชน
สังคมไม่อยากได้ “นักสูบ”หน้าใหม่
ผลการวิจัยในต่างประเทศยืนยันชัดเจนว่า จำนวนร้านขายบุหรี่รอบ “สถานศึกษา” มีผลทำให้เยาวชนที่ยังไม่สูบบุหรี่ตัดสินใจสูบบุหรี่เพิ่มขึ้น เพราะนั่นเอื้อให้เยาวชนสามารถซื้อหาบุหรี่ได้ง่าย ยิ่งติดตั้งสื่อโฆษณาหรือส่งเสริมการขายบุหรี่ในพื้นที่ใกล้โรงเรียน เท่ากับสร้างความคุ้นเคยกับภาพสูบบุหรี่ ทำให้การซื้อขายบุหรี่ กลายเป็นพฤติกรรม “เรื่องปกติธรรมดา” ในสังคม
ดังนั้น ในหลายประเทศพยายามอย่างยิ่งที่จะควบคุมใบอนุญาตร้านขายบุหรี่ ที่มีทำเลที่ตั้งอยู่ใกล้สถานที่ที่เป็นศูนย์รวมของเยาวชน เช่น โรงเรียน สถานศึกษา สนามกีฬา โดย Center for public health & tobacco policy เสนอว่า องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นควร จำเป็นต้องมีบทบาทในการกำหนดจำนวนโควตาและขอบเขตพื้นที่ของร้านขายบุหรี่ ด้วยการ งดการออกใบอนุญาตจำหน่ายบุหรี่ให้กับผู้ประกอบการรายใหม่ และไม่ออกทดแทนในกรณีรายเก่าเลิกกิจการ ดังกรณีตัวอย่างที่เป็นรูปธรรมในหลายเมืองของรัฐแคลิฟอร์เนีย ประเทศสหรัฐอเมริกา เช่น เมือง Santa Clara County ที่ไม่ออกใบอนุญาตจำหน่ายบุหรี่ให้กับร้านขายบุหรี่ในรัศมี 1,000 ฟุตรอบบริเวณโรงเรียน และกำหนดระยะห่างระหว่างร้านขายบุหรี่ให้อยู่ไกลกันไม่น้อยกว่า 500 ฟุต ส่วนเมือง Huntington Park กำหนดอัตราส่วนระหว่างจำนวนร้านค้าปลีกจำหน่ายบุหรี่ ต่อจำนวนประชากรไว้ที่ 1 ร้านค้าต่อประชากร 1,000 คน
สำหรับประเทศไทย ผลการวิจัยของ ผศ.ดร. จักรพันธ์ เพ็ชรภูมิ คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร ที่ดำเนินการศึกษาในเขตเทศบาลเมือง ในจังหวัดหนึ่งในเขตภาคเหนือ พบว่า มีร้านขายบุหรี่อยู่ในรัศมี 500 เมตรรอบสถานศึกษาคิดเป็น 47% ของร้านค้าทั้งหมด ทั้งมีระยะทางเฉลี่ยจากร้านขายบุหรี่ถึงสถานศึกษาที่ใกล้ที่สุดเท่ากับ 859 เมตร (ใกล้ที่สุด 55 เมตร) โดยร้านขายบุหรี่ที่อยู่ในรัศมี 500 เมตรรอบสถานศึกษาส่วนใหญ่กระจุกตัวอยู่บริเวณรอบโรงเรียนประถมศึกษา โรงเรียนมัธยมศึกษา และสถาบันอาชีวศึกษา คิดเป็นอัตราส่วนสถานศึกษา 1 แห่งต่อร้านขายบุหรี่ 8 ร้าน
นอกจากนี้ ยังพบว่าผู้ประกอบร้านร้านค้าที่อยู่ในรัศมี 500 เมตรรอบสถานศึกษาส่วนใหญ่มีพฤติกรรมการขายบุหรี่ที่ไม่ถูกกฎหมาย กล่าวคือ 61% แบ่งขายบุหรี่เป็นมวน 74% วางโชว์บุหรี่ ณ จุดขาย และ 68% ยอมรับว่าตนเองเคยขายบุหรี่ให้เยาวชนอย่างน้อย 1 ครั้งในรอบ 30 วันที่ผ่านมา สอดคล้องกับผลการสำรวจพฤติกรรมการสูบบุหรี่ของเยาวชนที่กำลังศึกษาอยู่ในสถานศึกษาในงานวิจัยเดียวกันที่พบว่า 46% เคยมีประสบการณ์การสูบบุหรี่อย่างน้อย 1 ครั้งในรอบ 30 วันที่ผ่านมา
ผู้วิจัยมีข้อเสนอให้หน่วยงานภาครัฐในระดับนโยบายเร่งทบทวนและพิจารณาถึงความเป็นไปได้ของการจัดโซน (Zoning) ร้านค้าขายบุหรี่ให้อยู่นอกรัศมี 500 เมตรรอบสถานศึกษา และเสนอให้หน่วยงานภาครัฐที่มีส่วนเกี่ยวข้อง ได้แก่ สาธารณสุข ตำรวจ และสรรพสามิต เร่งพัฒนามาตรการเผยแพร่และประชาสัมพันธ์เพื่อสร้างความรู้และความเข้าใจที่ถูกต้อง พร้อม ๆ กับดำเนินการตรวจสอบและบังคับใช้กฎหมายเพื่อลงโทษผู้ประกอบการร้านขายบุหรี่ที่กระทำผิดอย่างเคร่งครัดโดยเฉพาะร้านค้าที่อยู่รอบสถานศึกษา
เอกสารอ้างอิง
Center for Public Health and Tobacco Policy. (2013). Tobacco Retail Licensing: Local Regulation of the Number, Location and Type of Tobacco Retail Establishments in New York. [cited 2013 May 21]. Available from http://tobaccopolicycenter. org /documents /Final%2 0Licen sing %20Report%202014.pdf
Adams ML, Jason LA, Pokorny S, Hunt Y. (2013). Exploration of the Link between Tobacco Retailers in School Neighborhoods and Student Smoking. The Journal of school health, 83(2):112-118. doi: 10. 1111 /josh.12006.
Phetphum, C., & Noosorn, N. (9000). Tobacco Retailers Near Schools and the Violations of Tobacco Retailing Laws in Thailand. Journal of Public Health Management and Practice, Publish Ahead of Print. doi: 10.1097/phh.0000000000000880