4 ความเชื่อผิดๆ!! ทำกลุ่มวัยรุ่นนิยม “บุหรี่ไฟฟ้า”ระบาดหนัก แพทย์วิจัย อี-ซิคกาแรต “ไม่ช่วยเลิกสูบ” ซ้ำทำอยากบุหรี่เพิ่ม
มูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่
ACTION ON SMOKING AND HEALTH FOUNDATION
Press Release
ศูนย์ข่าว มูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่
วันที่ 28 กันยายน 2561
วันที่ข่าวตีพิมพ์ : สามารถเผยแพร่ได้ทันที
4 ความเชื่อผิดๆ!! ทำกลุ่มวัยรุ่นนิยม “บุหรี่ไฟฟ้า”ระบาดหนัก
แพทย์วิจัย อี-ซิคกาแรต “ไม่ช่วยเลิกสูบ” ซ้ำทำอยากบุหรี่เพิ่ม
ดร.พญ.เริงฤดี ปธานวนิช รองผู้จัดการศูนย์วิจัยและจัดการความรู้เพื่อการควบคุมยาสูบ เปิดเผยข้อมูลการสำรวจ National Youth Tobacco Survey (NYTS) ของสหรัฐอเมริกา พ.ศ. 2561 ระบุถึงการใช้บุหรี่ไฟฟ้าในนักเรียนมัธยมปลาย พุ่งสูงขึ้นกว่า 75% เทียบกับสำรวจปี 2560 หรือสถิติปัจจุบันคือ นักเรียนกลุ่มนี้กว่า 3 ล้านคน ประมาณ 20% ของนักเรียนมัธยมปลายทั่วสหรัฐฯใช้บุหรี่ไฟฟ้า ส่วนปีก่อน มีการสูบบุหรี่ไฟฟ้า 1.73 ล้านคน คิดเป็น 11.7% สอดรับกับยอดจำหน่าย “บุหรี่ไฟฟ้าชนิดใหม่” ยอดพุ่งสูงกว่า 132% ตลอดเวลา 5 ปีนับแต่ พ.ศ.2555-2560
งานวิจัยล่าสุดของ พญ.คริสเตน ดับเบิลยู โบลด์ (Dr. Krysten W. Bold) และคณะ จากคณะแพทยศาสตร์แห่งมหาวิทยาลัยเยล (Yale) สหรัฐอเมริกา ศึกษากลุ่มตัวอย่างนักเรียนมัธยมจำนวน 808 คน เพื่อเก็บข้อมูลพฤติกรรมการบริโภคยาสูบ ต่อเนื่องยาว 3 ปี ผลศึกษาชี้ชัดว่าการสูบบุหรี่ไฟฟ้าในกลุ่มวัยรุ่น นำไปสู่การสูบบุหรี่ธรรมดาอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ กล่าวคือ วัยรุ่นที่สูบบุหรี่ไฟฟ้าจะมีการสูบบุหรี่ธรรมดาสูงกว่าวัยรุ่นที่ไม่เคยใช้บุหรี่ไฟฟ้าถึง 7 เท่าในปีถัดไป ในทางกลับกันไม่พบวัยรุ่นที่สูบบุหรี่ธรรมดาจะเปลี่ยนมาสูบบุหรี่ไฟฟ้า ย้ำผลการศึกษาหลายชิ้นที่ผ่านมาว่า บุหรี่ไฟฟ้าไม่ใช่เครื่องมือช่วยเลิกสูบบุหรี่ของกลุ่มวัยรุ่น อีกทั้งยังพบว่าอัตราสูบบุหรี่ ปริมาณ และความถี่ในการสูบของกลุ่มวัยรุ่นสูงขึ้นในแต่ละปีที่ทำการศึกษา สถานการณ์ดังกล่าวทำให้หลายหน่วยงานในสหรัฐอเมริกา กังวลจนออกมาเตือนถึงการระบาดของบุหรี่ไฟฟ้าในกลุ่มวัยรุ่นที่ทวีความรุนแรงขึ้นเรื่อย ๆ
Dr. Jonathan D. Klein คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยอิลลินอยด์ แห่งชิคาโก (Illinois at Chicago) ประกาศเตือนถึงโทษของบุหรี่ไฟฟ้า เพราะพบว่า สารพิษจากบุหรี่ไฟฟ้าทำลายการเจริญของปอด ระบบภูมิคุ้มกัน ระบบไหลเวียนเลือด โรคหัวใจ และโรคติดเชื้อ ทั้งเตือนว่าบุหรี่ไฟฟ้ามีสารนิโคตินที่ทำให้เสพติด ทำให้ผู้เสพต้องเพิ่มปริมาณการสูบถี่มาก ขึ้น ๆ ในหลาย ๆ งานวิจัยชี้ชัดอีกว่า การสูบบุหรี่ไฟฟ้านำไปสู่การสูบบุหรี่ธรรมดา (E-Cigarettes: A 1-Way Street to Traditional Smoking)
สำหรับประเทศไทยพบกลุ่มวัยรุ่นในเขตเมือง มีอัตราสูบเพิ่มสูงขึ้น จากผลสำรวจพฤติกรรมบริโภคบุหรี่ไฟฟ้าของเยาวชนในไทย พ.ศ.2560 โดย ผศ.ดร.ศรีรัช ลอยสมุทร คณะนิเทศศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต ติดตามกลุ่ม นักเรียนมัธยมปลาย เขตกรุงเทพฯ จำนวน 945 คน พบว่า 30.5% สูบบุหรี่ไฟฟ้า จากความเชื่อผิด 4 ข้อ ที่เชื่อว่า 1.มีกลิ่นหอม 2.ปลอดภัย 3.ทันสมัย และ 4. ทำให้ไม่เสพติด ส่วนกลุ่มนักศึกษามหาวิทยาลัย จำนวน 1,155 คน พบ 61% สูบบุหรี่ไฟฟ้า
เอกสารอ้างอิง
Bold KW, Trajectories of E-Cigarette and Conventional Cigarette Use Among Youth. Pediatrics. 2018;141(1): e20171832
ศรีรัช ลอยสมุทร, การศึกษาผลิตภัณฑ์ยาสูบรูปแบบใหม่ในสังคมเครือข่าย social media : ศูนย์วิจัยและจัดการความรู้เพื่อการควบคุมยาสูบ, 2560.