เด็กและเยาวชน “ชัก” หลังสูบบุหรี่ไฟฟ้า อย.สหรัฐ เร่งสอบสวน

มูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่                    

ACTION ON SMOKING AND HEALTH FOUNDATION

                                                                                                                             

Press Release 

ศูนย์ข่าว มูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ 

วันที่ 4 เมษายน  2562

วันที่ข่าวตีพิมพ์ : สามารถเผยแพร่ได้ทันที

 

เด็กและเยาวชน ชักหลังสูบบุหรี่ไฟฟ้า

อย.สหรัฐ เร่งสอบสวน

 

เมื่อ 3 เม.ย. 2562 องค์การอาหารและยาสหรัฐหรือ FDA ออกแถลงการณ์พิเศษเตือนถึงอันตรายของบุหรี่ไฟฟ้าที่อาจทำให้เกิดโรคลมชัก หลังมีรายงานเข้ามาที่ FDA จำนวน 35 ราย ส่วนใหญ่เป็นเด็กและเยาวชน โดยผู้ใช้เกิดอาการชักหลังจากสูบบุหรี่ไฟฟ้า

            นายสก็อต ก็อตตลิเอบ (Scott Gottlieb) ผู้อำนวยการ FDA ชี้อาการของโรคลมชักเป็นผลข้างเคียงที่สำคัญที่เกิดจากพิษของนิโคติน ซึ่งขณะนี้ FDA กำลังทำการสอบสวนว่าการเกิดโรคลมชักในกลุ่มผู้ใช้บุหรี่ไฟฟ้าที่ได้รับรายงานว่าสัมพันธ์กับบุหรี่ไฟฟ้าอย่างไร และได้เรียกร้องให้ทุกฝ่ายช่วยกันส่งข้อมูลอันตรายที่เกิดจากการใช้บุหรี่ไฟฟ้าเข้ามาให้กับทาง FDA เนื่องจากคาดว่าจำนวนที่รายงานเข้ามาน่าจะต่ำกว่าความเป็นจริง

            ในวันเดียวกัน นายสก็อต ยังได้โพสต์ข้อความในทวิตเตอร์ส่วนตัวว่าในขณะที่ทุกฝ่ายกำลังศึกษาผลกระทบต่อสุขภาพระยะยาวจากบุหรี่ไฟฟ้า แต่ข้อมูลจากการศึกษาในปัจจุบันกลับมีความชัดเจนขึ้นเรื่อย ๆ ถึงสารเคมีอันตรายหลายชนิดที่พบในไอระเหยของบุหรี่ไฟฟ้าเป็นชนิดเดียวกับที่พบในบุหรี่มวน

            ด้านนายแมทธิว เมเยอร์ (Matthew L Myers) ประธานโครงการรณรงค์ต่อต้านบุหรี่ในเด็ก หรือ Campaign for Tobacco-Free Kids ได้ออกมาเรียกร้องให้รัฐบาลทุกประเทศทั่วโลกช่วยกันปกป้องเยาวชนจากภัยของบุหรี่ไฟฟ้าอย่างจริงจัง โดยเน้นให้ทุกประเทศมีการตรวจสอบความปลอดภัยของบุหรี่ไฟฟ้า หลังพบบุหรี่ไฟฟ้ากำลังเป็นที่นิยมในหมู่เยาวชน และทำให้เยาวชนเสพติดจากสารนิโคตินที่มีปริมาณสูง โดยยกตัวอย่างบุหรี่ไฟฟ้า JUUL ที่กำลังเป็นที่นิยมในหมู่วัยรุ่นอเมริกัน พบว่าน้ำยาบุหรี่ไฟฟ้า 1 หลอดมีปริมาณนิโคตินสูงเท่ากับบุหรี่ 20 มวน

            นายแมทธิว ได้เรียกร้องให้ FDA ประเทศสหรัฐอเมริกาเร่งดำเนินการให้ผลิตภัณฑ์บุหรี่ไฟฟ้าทุกประเภทต้องผ่านการตรวจสอบของ FDA ก่อนที่จะวางจำหน่ายได้ ซึ่งปัจจุบันยังไม่มีผลิตภัณฑ์บุหรี่ไฟฟ้าใดได้รับการรับรองจาก FDA และได้กล่าวย้ำว่ามาตรการควบคุมบุหรี่ไฟฟ้าโดยควบคุมกลิ่นและรสชาติของบุหรี่ไฟฟ้าไม่เพียงพอที่จะปกป้องเด็กและเยาวชน โดยพบว่าขณะนี้บริษัทบุหรี่ไฟฟ้าทั่วโลกกำลังใช้กลยุทธ์ที่บริษัทบุหรี่เคยใช้เพื่อดึงดูดเด็กและเยาวชนให้เสพติด เช่น การใช้ดาราที่มีอิทธิพลกับวัยรุ่น การให้สปอนเซอร์จัดงานคอนเสิร์ตหรือแข่งกีฬา รวมทั้งการใช้กลิ่นสีรสชาติที่ดึงดูด

           ดร.พญ.เริงฤดี  ปธานวนิช   ภาควิชาเวชศาสตร์ชุมชน คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี กล่าวว่า องค์การอนามัยโลกโดย ดร.วีรา ลิวซ่า ดา คอสตา เลขาธิการอนุสัญญาควบคุมยาสูบ ได้ออกมาเตือนว่าบุหรี่ไฟฟ้าเป็นผลิตภัณฑ์ที่บริษัทบุหรี่นำมาแต่งตัวใหม่ โดยพุ่งเป้าหมายไปที่เยาวชน ที่บริษัทบุหรี่พยายามโฆษณาว่าบุหรี่ไฟฟ้าช่วยลดอันตรายจากบุหรี่ แต่จริง ๆ แล้วกลับทำอันตรายต่อเด็กและเยาวชนโดยนำพาพวกเขาไปสู่สารเสพติดที่มีฤทธิ์เสพติดสูงที่สุด คือ นิโคติน ทั้งนี้ปัจจุบันมีหลายประเทศตระหนักถึงอันตรายของเรื่องนี้และได้ดำเนินการออกมาตรการห้ามนำเข้าและจำหน่ายบุหรี่ไฟฟ้าเพิ่มมากขึ้น เช่น ฮ่องกง อินเดีย และรัฐซานฟรานซิสโก สหรัฐอเมริกา

 

 

อ้างอิง: Press Release 3 April 2019, Campaign for Tobacco Free Kids https://www.tobaccofreekids.org/press-releases/2019_04_03_ecigarettes_seizures

Special Announcement 3 April 2019, U.S. FDA https://www.fda.gov/TobaccoProducts/NewsEvents/ucm635133.htm

 

ต้องการสอบถามข้อมูลและรายละเอียดเพิ่มเติม กรุณาติดต่อ 0-2278-1828