“วัณโรคหลังโพรงจมูกที่เลือดออกมาก ๆ” เป็นโรคหายาก 1 ในล้าน
มูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่
ACTION ON SMOKING AND HEALTH FOUNDATION
Press Release
ศูนย์ข่าว มูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่
วันที่ 26 มิถุนายน 2562
วันที่ข่าวตีพิมพ์ : สามารถเผยแพร่ได้ทันที
“วัณโรคหลังโพรงจมูกที่เลือดออกมาก ๆ” เป็นโรคหายาก 1 ในล้าน
ศาสตราจารย์นายแพทย์ประกิต วาทีสาธกกิจ เลขาธิการมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ ในฐานะอายุรแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคปอด อดีตอาจารย์คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ตอบคำถาม ภายหลังคณะแพทย์ศิริราช แถลงถึงสาเหตุการเสียชีวิตของ น้ำตาล เดอะสตาร์ จากวัณโรคโพรงจมูกว่า ปกติผู้ป่วยวัณโรคประมาณ 80% ตรวจพบที่ปอด อีก 20% เกิดขึ้นนอกปอด ที่พบบ่อยคือ ต่อมน้ำเหลือง รองลงมา ตามกระดูก ลำไส้ และผิวหนัง
ศ.นพ.ประกิต อธิบายว่า การรับเชื้อวัณโรคเข้าร่างกายเกือบทั้งหมดจะรับทางปอด จากการหายใจเอาเชื้อวัณโรคที่ล่องลอยในอากาศ เชื้อวัณโรคก่อตัวในปอด และกระจายโดยกระเสเลือดไปยังอวัยวะต่าง ๆ ได้ทั่วร่างกาย แล้วไปเกาะตามจุดต่าง ๆ ในอวัยวะ มีทั้งพัก และแฝงตัว จนหากภูมิต้านทานร่างกายลดลงก็จะเกิดโรคขึ้น วัณโรคปอดที่พบมากเพราะเป็นจุดที่รับเชื้อมากและเป็นอวัยวะที่มีออกซิเจนมาก วัณโรคระยะที่ยังไม่เป็นมาก มักไม่แสดงอาการป่วย ยกเว้นอาการรุนแรง เกิดแผลในปอด จะมีอาการไอเรื้อรัง อาจมีหรือไม่มีไอเป็นเลือด ส่วนจุดอื่นที่ไม่แสดงอาการ เช่น ต่อมน้ำเหลือง ก็สามารถคลำก้อนเจอได้ ส่วนอาการทั่วไปก็คือ น้ำหนักลด อ่อนเพลีย และมีไข้ต่ำ ๆ โดยไม่ทราบสาเหตุ
“วัณโรคหลังโพรงจมูกเกิดขึ้นได้น้อยมาก และปกติเลือดจะไม่ออกมาก เว้นแต่ลามไปจนถึงเส้นเลือดแล้วทำให้เส้นเลือดแตก กรณีน้องน้ำตาล ผมไม่ชัดเจนเหตุใด จึงมีเลือดไหลออกจำนวนมาก จนอุดทางเดินหายใจ” แพทย์เชี่ยวชาญด้านปอด ระบุ
ศ.นพ.ประกิต กล่าวด้วยว่า ปีหนึ่ง ๆ คนไทยเป็นวัณโรคนับแสนคน ถือว่าเป็นสถิติไม่ค่อยดี ที่มีผลต่อสุขภาพของประชากร และเป็นประเทศที่มีอัตราการเป็นวัณโรคสูงเป็นอันดับ 14 ของโลก กลุ่มที่ป่วยเป็นวัณโรคมักเป็นคนด้อยโอกาสที่อยู่และติดต่อกันในชุมชนแออัด ผู้ที่ดื่มสุราและสูบบุหรี่ด้วย เนื่องจากการดื่มสุราทำให้ภูมิต้านทานลดลง ส่วนการสูบบุหรี่ลดภูมิต้านทานทั่วร่างกาย และโดยเฉพาะที่ปอด ปอดที่มีการอักเสบเรื้อรังจากการสูบบุหรี่ ทำให้ความสามารถในการฆ่าเชื้อโรคที่หายใจเข้าปอดลดลง ทำให้ติดเชื้อได้ง่าย อีกกลุ่มหนึ่งคือในผู้ป่วยติดเชื้อเอชไอวี (HIV) เนื่องจากภูมิคุ้มกันที่บกพร่องจะทำให้เชื้อวัณโรคสามารถติดและแสดงอาการได้ง่าย นอกจากนี้ก็คือผู้ป่วยที่ได้รับยากดภูมิต้านทาน เช่น เคมีบำบัด ผู้ป่วยเบาหวานที่คุมน้ำตาลไม่ดี ผู้ป่วยโรคตับแข็ง และไตวายเรื้อรัง
ส่วนการป้องกันวัณโรคทำได้โดยรักษาสุขภาพให้แข็งแรง ที่อยู่อาศัยต้องให้อากาศถ่ายเทได้ดี ไม่กินเหล้า สูบบุหรี่ หากมีอาการไอเรื้อรังเกิน 2 สัปดาห์ น้ำหนักตัวลด ไอมีเลือดปน มีประวัติคนใกล้ชิดเป็นวัณโรคปอด ควรจะไปปรึกษาแพทย์ ส่วนวัณโรคที่เป็นนอกปอด ส่วนใหญ่จะไม่ติดต่อ เนื่องจากเชื้อวัณโรคจะไม่ล่องลอยในอากาศ ซึ่งเกิดจากผู้ป่วยวัณโรคที่ไอออกมา
ต้องการสอบถามข้อมูลและรายละเอียดเพิ่มเติม กรุณาติดต่อ ศ.นพ. ประกิต วาทีสาธกกิจ โทร. 02-278-1828