คว่ำบาตรการประชุมสนับสนุนโดยบริษัทบุหรี่

 

มูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่                    

ACTION  ON  SMOKING  AND  HEALTH  FOUNDATION

                                                                                                      

Press Release

ศูนย์ข่าว มูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ 

วันที่  4 กรกฎาคม  2562

วันที่ข่าวตีพิมพ์ : สามารถเผยแพร่ได้ทันที

 

 

คว่ำบาตรการประชุมสนับสนุนโดยบริษัทบุหรี่

 

เปิดโปงแผนบริษัทบุหรี่ตั้งมูลนิธิเพื่อโลกปลอดควันบุหรี่  สร้างงานวิจัยและโหมสร้างภาพลักษณ์ เพื่อสร้างความชอบธรรมในการขายบุหรี่พันธุ์ใหม่ ทั่วโลกประกาศไม่ร่วมสังฆกรรมกับองค์กรนี้

ศ.นพ.ประกิต วาทีสาธกกิจ ประธานมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ กล่าวว่า ในขณะนี้ บริษัท ฟิลลิป มอร์ริส ผู้ผลิตบุหรี่ยักษ์ใหญ่ของโลก พยายามอย่างยิ่งที่จะขยายตลาดบุหรี่พันธุ์ใหม่ ที่อ้างว่าเป็นตัวช่วยในการเลิกบุหรี่ โดยได้สนับสนุนให้ตั้งมูลนิธิขึ้นที่สหรัฐอเมริกา ชื่อมูลนิธิเพื่อโลกปลอดควันบุหรี่ โดยอ้างว่า เพื่อสนับสนุนการวิจัย เพื่อการยุติการสูบบุหรี่ ส่งเสริมการเลิกสูบบุหรี่ และลดอันตรายจากบุหรี่ โดยให้เงินสนับสนุนปีละ 80 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 2,500 ล้านบาท ต่อเนื่องเป็นเวลา 12 ปี ล่าสุดมูลนิธินี้ จะจัดการประชุมผู้เชี่ยวชาญจากภูมิภาคต่าง ๆ ใช้ชื่องานว่า The Smoke-Free Dialogues โดยอ้างว่าเพื่อนำข้อมูลที่ได้มาพัฒนาและจัดทำ Smoke-Free Index  ซึ่งกำหนดจะมาจัดที่ประเทศไทย ในวันที่ 25 กรกฎาคมนี้ และได้เชิญผู้กำหนดนโยบายและนักวิชาการสาขาต่าง ๆ ไปเข้าร่วม 

“การจัดประชุมเช่นนี้ผิดกฎหมายมาตรา 35 ของพระราชบัญญัติควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ พ.ศ.2560 ที่ห้ามบริษัทบุหรี่สนับสนุนบุคคลหรือหน่วยงานร่วมการประชุม อีกทั้งในส่วนของประเทศไทยได้มีมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 17 เมษายน พ.ศ.2554 ที่กำหนดให้หน่วยงานต้องปฏิบัติตามกรอบอนุสัญญาว่าด้วยการควบคุมยาสูบขององค์การอนามัยโลก มาตรา 5.3 ที่ห้ามไม่ให้หน่วยงานราชการเกี่ยวข้องกับบริษัทบุหรี่ เพื่อป้องกันการแทรกแซงนโยบายควบคุมยาสูบ” ศ.นพ.ประกิต เผย

ผู้ได้รับเชิญ อาทิ นางทิชา ณ นคร ผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบแห่งชาติ รศ.นพ.สุทัศน์ รุ่งเรืองหิรัญญา กรรมการเครือข่ายวิชาชีพแพทย์ในการควบคุมการบริโภคยาสูบซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านโรคปอด นพ.สุวิทย์ วิบุลผลประเสริฐ อดีตรองปลัดกระทรวงสาธารณสุข และอีกหลายท่าน ปฏิเสธที่จะไปเข้าร่วมการประชุมดังกล่าว “เรารู้ทันว่าการจัดทำ Smoke-Free Index โดยมูลนิธิเพื่อโลกปลอดควันบุหรี่ มิได้ต้องการพัฒนาดัชนีเพื่อเสริมกลไกการควบคุมการบริโภคยาสูบตามที่กล่าวอ้าง แต่เป็นเพียงการ

หาข้อมูลมาสนับสนุนแผนธุรกิจที่ต้องการวางตลาดผลิตภัณฑ์ยาสูบรูปแบบใหม่ ๆ ให้กับบริษัทฟิลลิป มอร์ริส นายทุนใหญ่ในการก่อตั้งมูลนิธินี้” รศ.นพ.สุทัศน์ หนึ่งในผู้ได้รับเชิญกล่าว

            ล่าสุด รัฐบาลตุรกีได้สั่งให้ยกเลิกการประชุมในแบบเดียวกันนี้ ซึ่งมีกำหนดจัดที่ประเทศตุรกีในวันที่ 3 กรกฎาคมที่ผ่านมา ส่วนรัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุขอินเดียได้ออกหนังสือเวียนถึงผู้ว่าการของทุกรัฐ เมื่อวันที่ 24 มิถุนายนที่ผ่านมา ขอให้ทุกหน่วยงานไม่มีการสังฆกรรมใด ๆ  กับมูลนิธิเพื่อโลกปลอดควันบุหรี่

ดร.เรณู การ์ก นักวิชาการจากองค์การอนามัยโลก ประจำประเทศไทย กล่าวว่า องค์การอนามัยโลก มีนโยบายชัดเจนที่ไม่สังฆกรรมใด ๆ กับมูลนิธิเพื่อโลกปลอดควันบุหรี่ กรอบอนุสัญญาว่าด้วยการควบคุมยาสูบกำหนดให้ประเทศสมาชิกต้องปกป้องประโยชน์สาธารณะจากการดำเนินการเพื่อแสวงกำไรของอุตสาหกรรมยาสูบ และได้กำหนดแนวทางไว้อย่างชัดเจนว่าให้รัฐบาลเข้มงวดการมีปฏิสัมพันธ์ และหลีกเลี่ยงความร่วมมือกับอุตสาหกรรมยาสูบ

“ถ้าบริษัทฟิลลิป มอร์ริส มีความจริงใจที่จะผลักดันให้ทั่วโลกไร้ควันบุหรี่จริง บริษัทฯ ควรจะต้องสนับสนุนนโยบายต่าง ๆ ตามกรอบอนุสัญญาว่าด้วยการควบคุมยาสูบขององค์การอนามัยโลก แต่ความจริงที่ปรากฏ คือ บริษัทฟิลลิป มอร์ริส ได้ต่อต้านนโยบายเหล่านี้โดยสิ้นเชิง บริษัทฯ ได้ทำการวิ่งเต้นล็อบบี้ ยื้อเวลา  และขัดขวางการออกนโยบาย กฎหมาย เพื่อการควบคุมยาสูบตามกรอบขององค์การอนามัยโลกมาโดยตลอด ตัวอย่างเช่น ปีที่แล้วบริษัทฟิลลิป มอร์ริส ทุ่มทุนมหาศาลกว่า 24 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 720 ล้านบาทในการต่อต้านการออกกฎหมายภาพคำเตือนบนซองบุหรี่ในประเทศอุรุกวัย” ดร.เรณูเผย

ศ.นพ.รณชัย คงสกนธ์ เลขาธิการสมาพันธ์เครือข่ายแห่งชาติเพื่อสังคมไทยปลอดบุหรี่ กล่าวว่า ทางสมาพันธ์และเครือข่ายมีนโยบายชัดเจนว่า เราจะไม่ร่วมมือใด ๆ กับมูลนิธิเพื่อโลกปลอดควันบุหรี่ “ชื่อมูลนิธิเขาดูดีมาก เพื่อล่อให้คนเข้าใจผิดไปร่วมมือกับเขา แต่ผมว่านักวิชาการไทยมีจรรยาบรรณ และรู้เท่าทัน ไม่ตกเป็นเครื่องมือของบริษัทบุหรี่ เราเชื่อว่าเขายังมีแผนอื่น ๆ อีกเยอะ เพราะเขาต้องการเปลี่ยนทิศทางการตลาดสู่บุหรี่พันธุ์ใหม่ สมาพันธ์ฯ จะร่วมกับเครือข่ายนานาชาติในการส่งสัญญาณให้เขารู้ว่าไม่มีใครร่วมมือกับมูลนิธินี้ แต่ละปี 8 ล้านชีวิตต้องสังเวยให้กับธุรกิจยาสูบและมีแนวโน้มจะมีจำนวนเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ รวมทั้งเยาวชนคนรุ่นใหม่ที่ต้องตกเป็นเหยื่อผลิตภัณฑ์รูปแบบใหม่ ๆ ดังนั้น อย่าหลงเชื่อธุรกิจยาสูบหรือข้อมูลที่เกิดจากการสนับสนุนของธุรกิจยาสูบ”                  

ต้องการรายละเอียดเพิ่มเติมกรุณาติดต่อ ศ.นพ.ประกิต  วาทีสาธกกิจ  โทร.0-22781828