อเมริกันตายแล้ว 7 เพราะบุหรี่ไฟฟ้า ย้ำรัฐบาลไทยมาถูกทางแล้วที่ห้ามขาย

 

มูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่                    

ACTION ON SMOKING AND HEALTH FOUNDATION

                                                                                                      

Press Release  

ศูนย์ข่าว มูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ 

วันที่  19 กันยายน  2562

วันที่ข่าวตีพิมพ์ : สามารถเผยแพร่ได้ทันที

 

 

 

อเมริกันตายแล้ว 7 เพราะบุหรี่ไฟฟ้า ย้ำรัฐบาลไทยมาถูกทางแล้วที่ห้ามขาย

 

เมื่อวันที่ 19 กันยายน ที่โรงแรมเอทัส มูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ ร่วมกับ แพทยสมาคมแห่งประเทศไทย  สมาคมอุรเวชช์แห่งประเทศไทย และกองงานคณะกรรมการควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข จัดแถลงข่าว “หยุดสูบ หยุดตาย จากบุหรี่ไฟฟ้า” โดย พญ.นภารัตน์ อมรพุฒิสถาพร  ผู้แทนสมาคมอุรเวชช์แห่งประเทศไทย  ผู้เชี่ยวชาญโรคปอด คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี  กล่าวว่า  ศูนย์ควบคุมโรคของสหรัฐฯ พบการเจ็บป่วยด้วยโรคปอดที่มีโอกาสสัมพันธ์กับการสูบบุหรี่ไฟฟ้าถึง 450 ราย ในระยะเวลาเพียงสองเดือน  และเสียชีวิตแล้ว 7 ราย โดยเริ่มต้นด้วยอาการไอแห้ง เจ็บแน่นหน้าอก อาจมีไข้ ปวดเมื่อยตัว คลื่นไส้ อาเจียน บางรายเป็นรุนแรงและรวดเร็วถึงขั้นการหายใจล้มเหลว ต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ โดยเกิดกับวัยรุ่นและวัยทำงานที่ใช้บุหรี่ไฟฟ้าเพียงไม่กี่ปี อาการรุนแรงขึ้นในระยะเวลาอันสั้น ภาวะนี้ต่างจากโรคถุงลมโป่งพองที่เกิดจากการสูบบุหรี่ธรรมดา ที่เนื้อปอดจะเสียหายช้าๆ กว่าจะถึงขั้นหายใจล้มเหลวต้องใช้เวลานานมาก จึงขอให้ทุกคนตระหนักถึงอันตรายของบุหรี่ไฟฟ้าและไม่ใช้บุหรี่ไฟฟ้า

“ข้อมูลการรักษาจากภาพถ่ายรังสีปอด เหมือนปอดอักเสบจากการติดเชื้อไวรัสหรือแบคทีเรียรุนแรง แต่ตรวจไม่พบเชื้อโรค การตรวจเนื้อเยื่อปอดพบเซลล์เม็ดเลือดขาวที่ทำหน้าที่ดักจับสิ่งแปลกปลอมและเชื้อโรค ได้ดักจับสารอนุภาคไขมัน เรียกว่า lipid-laden macrophage จนทำให้การทำงานของปอดผิดปกติ ซึ่งสารในบุหรี่ไฟฟ้าหลายชนิดไม่มีในบุหรี่ธรรมดา โดยเฉพาะสาร vegetable glycerin เป็นสารที่มีรสหวาน ไม่มีสี ไม่มีกลิ่น สกัดจากน้ำมันปาล์ม น้ำมันถั่วเหลือง น้ำมันมะพร้าว เมื่อโดนความร้อนจากอุปกรณ์สูบบุหรี่ไฟฟ้า จะระเหยเป็นไอน้ำและถูกสูบเข้าปอด จึงสงสัยว่าอาจเป็นสาเหตุของโรคปอดอักเสบรุนแรงในผู้สูบบุหรี่ไฟฟ้า” พญ.นภารัตน์ กล่าว

ศ.นพ.รณชัย คงสกนธ์ นายกแพทยสมาคมแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ กล่าวว่า แพทยสมาคมแห่งสหรัฐอเมริกา ได้เรียกร้องให้ประชาชนหลีกเลี่ยงการใช้บุหรี่ไฟฟ้า เพราะมีผลกระทบต่อการเกิดโรคปอด ซึ่งเป็นวิกฤติทางด้านสาธารณสุขของประเทศ ดังนั้นจึงขอเรียกร้องให้คนไทย "หยุดการสูบบุหรี่ไฟฟ้า" เช่นกัน ซึ่งผลสำรวจพฤติกรรมการสูบบุหรี่ของนักเรียนในสหรัฐฯ พบนักเรียนมัธยมนิยมสูบบุหรี่ไฟฟ้ามากกว่าบุหรี่ปกติ ที่สำคัญบุหรี่ไฟฟ้าเป็นประตูนำไปสู่การเสพติดบุหรี่มวนหรือสารเสพติดอื่นๆ ดังนั้น ครอบครัว ครู และผู้เกี่ยวข้อง ต้องช่วยกันรณรงค์ให้คนไทยเลิกสูบบุหรี่ไฟฟ้า เพื่อให้ตลาดบุหรี่ไฟฟ้าไม่สามารถเติบโตได้ในประเทศไทย  

ศ.นพ.ประกิต วาทีสาธกกิจ เลขาธิการมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ กล่าวว่า วัยรุ่นมีความเข้าใจผิดร้ายแรงว่าบุหรี่ไฟฟ้าไม่มีอันตราย โดยคิดว่าควัน ไอละอองจากบุหรี่ไฟฟ้า เป็นเพียงละอองน้ำ ไอน้ำมีเพียงสารปรุงแต่งให้มีกลิ่นหอม อ้างว่าสูบชนิดที่ไม่มีนิโคติน ในความเป็นจริงควันไอละอองจากบุหรี่ไฟฟ้าที่เห็นมีฝุ่นขนาดเล็กกว่า PM 2.5 มีสารเคมีที่เป็นอันตราย เช่น ฟอร์มาร์ลดีไฮด์ ไดอะซิทิล อโครลิน โลหะหนักที่เป็นพิษ เช่น นิกเกิล ดีบุก ตะกั่ว ซึ่งอาจมาจากน้ำยาบุหรี่ไฟฟ้า หรืออุปกรณ์สูบที่โลหะหนักหลุดลอยจากขดลวดที่ชุบน้ำยา ขณะที่สารปรุงแต่งกลิ่นรสมีนับพันชนิด ที่ถูกความร้อนจนเกิดเป็นไอระเหย มีการวิจัยพบว่า แม้จะสูบบุหรี่ไฟฟ้าชนิดที่ไม่มีนิโคตินก็ทำให้เกิดการอักเสบของเนื้อเยื่อปอด และระบบไหลเวียนโลหิตได้

นพ.ชยนันท์  สิทธิบุศย์ ผู้อำนวยการกองงานคณะกรรมการควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ กรมควบคุมโรค กล่าวว่า  จากการเข้าร่วมการประชุม Third Meeting of the Global Tobacco Regulators Forum ครั้งที่ 3 เมื่อวันที่ 11-12 กันยายน 2562 ที่ประเทศเนเธอร์แลนด์ มีผู้แทนจากทั่วโลกเข้าร่วมประชุมเพื่อแลกเปลี่ยนสถานการณ์การแพร่ระบาด และการกำหนดมาตรการเพื่อสกัดกั้นและควบคุมเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์รูปแบบใหม่ (บุหรี่ไฟฟ้า) มีข้อมูลล่าสุดจากการศึกษาวิจัยเชิงพฤติกรรมการบริโภค และการทำสำรวจตลาดสินค้ากลุ่ม Electronic Nicotine Delivery system รวมถึงบุหรี่อิเล็กทรอนิกส์ และอุปกรณ์การสูบแบบไอน้ำ โดยสถาบัน National Institute for Public Health and the Environment ประเทศเนเธอร์แลนด์ พบเหตุผลที่คนสูบบุหรี่ไฟฟ้าคือ 1.ปรุงแต่งกลิ่นที่จูงใจ มีกลิ่นรสมากกว่า 200 ชนิด เช่น รสผลไม้ ขนม ลูกอม หรือเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ 2.ออกแบบรูปลักษณ์ทันสมัย ใช้งานสะดวก 3.ผู้สูบสามารถปรับระดับปริมาณสารนิโคตินได้ตามต้องการ และ4.ปรับแต่งและตกแต่งอุปกรณ์ได้สวยงาม สะท้อนว่า กลิ่นหรือรสชาติที่ปรุงแต่งในบุหรี่ไฟฟ้าคือเหตุผลหลักในการตัดสินใจสูบบุหรี่ไฟฟ้า ไม่ใช่เพราะต้องการเลิกสูบบุหรี่ตามที่มีบางกลุ่มกล่าวอ้าง

ดร.พญ.เริงฤดี ปธานวนิช อาจารย์ภาควิชาเวชศาสตร์ชุมชน คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี กล่าวว่า  ขอเสนอให้รัฐบาลตรวจสอบการดำเนินงานของกลุ่มลาขาดควันยาสูบประเทศไทย (End Cigarette Smoke Thailand) ว่าการออกมาเคลื่อนไหวกดดันให้รัฐบาลยกเลิกกฎหมายห้ามขายบุหรี่ไฟฟ้านั้น มีเบื้องหลังและได้รับการสนับสนุนจากองค์กรที่ได้รับการสนับสนุนจากบริษัทบุหรี่หรือไม่ เพราะการเคลื่อนไหวดังกล่าว เป็นไปในทางเดียวกับบริษัทบุหรี่ยักษ์ใหญ่ ที่พยายามกดดันให้ไทยนำเข้าบุหรี่ไฟฟ้าได้เสรี ซึ่งไทยได้ลงนามในอนุสัญญาว่าด้วยการควบคุมยาสูบ องค์การอนามัยโลก กำหนดให้องค์กรที่มีความสัมพันธ์กับบริษัทบุหรี่ไม่สามารถมีส่วนร่วมในการพัฒนาและดำเนินนโยบายด้านการควบคุมยาสูบทั้งสิ้น และรัฐบาลหรือหน่วยงานภาครัฐไม่จำเป็นต้องรับฟังความเห็นของคนกลุ่มนี้ใดๆ ทั้งสิ้น

“จากการตรวจสอบพบว่า กลุ่มลาขาดควันยาสูบประเทศไทย ที่มักออกมาให้ข่าวสนับสนุนการใช้บุหรี่ไฟฟ้าและให้ยกเลิกการห้ามขายบุหรี่ไฟฟ้าในไทย มีความเชื่อมโยงกับบริษัทบุหรี่ข้ามชาติ โดยแกนนำของกลุ่มลาขาดควันยาสูบ เป็นกรรมการบริหารขององค์กรเครือข่ายผู้บริโภคสารนิโคตินนานาชาติ (International Network of Nicotine Consumer: INNCO) ซึ่งกลุ่มลาขาดควันยาสูบประเทศไทยเป็นหนึ่งในจำนวน 31 สมาชิกของ INNCO  และยังมีความเชื่อมโยงกับบริษัทบุหรี่ข้ามชาติ ที่ประกาศให้ทุนสนับสนุนมูลนิธิเพื่อโลกปลอดควันบุหรี่ Foundation for a Smoke-Free World เป็นเงินปีละ 80 ล้านดอลลาร์ นานถึง 12 ปี เพื่อส่งเสริมการวิจัยและประชาสัมพันธ์ผลิตภัณฑ์ยาสูบทางเลือกทดแทนบุหรี่ ซึ่ง INNCO ก็ได้รับทุนจากมูลนิธินี้”  ดร.พญ.เริงฤดี กล่าว  

ต้องการรายละเอียดเพิ่มเติมกรุณาติดต่อ 0-2278-1828