เผยดัชนีระดับโลก บริษัทบุหรี่ยังคงเดินหน้าแทรกแซงนโยบายสาธารณะ

 

มูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่                    

ACTION ON SMOKING AND HEALTH FOUNDATION

                                                                                                      

Press Release

ศูนย์ข่าว มูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ 

วันที่  17 ตุลาคม 2562

วันที่ข่าวตีพิมพ์ : สามารถเผยแพร่ได้ทันที

 

 

 

เผยดัชนีระดับโลก บริษัทบุหรี่ยังคงเดินหน้าแทรกแซงนโยบายสาธารณะ

 

อุตสาหกรรมยาสูบยังคงเป็นอุปสรรคสำคัญที่ขัดขวางนโยบายและมาตรการคุ้มครองสุขภาพของประชาชนจากภัยยาสูบในหลายประเทศ จากดัชนีชี้วัดว่ารัฐบาลสามารถจัดการกับการแทรกแซงนโยบายของพ่อค้าบุหรี่ได้หรือไม่ พบว่าไทยอยู่ในระดับดีเป็นที่ 2 ของอาเซียน และเป็นลำดับที่ 9 ของโลก

สมาพันธ์เพื่ออาเซียนปลอดบุหรี่ (SEATCA) เผยรายงานระดับอาเซียนและระดับโลกที่วัดระดับการแทรกแซงนโยบายสาธารณะของอุตสาหกรรมยาสูบ และวัดว่ารัฐบาลสามารถจัดการกับการแทรกแซงของพ่อค้าบุหรี่ได้มากน้อยแค่ไหน พบว่า ประเทศไทยทำได้ค่อนข้างดีในการปกป้องนโยบายสาธารณะและมาตรการในการควบคุมการบริโภคยาสูบ ในขณะที่อินโดนีเซียและลาวยังไม่สามารถจัดการกับบริษัทบุหรี่ที่เข้ามาล้วงลูกได้ ในขณะที่ฟิลิปปินส์และมาเลเซียเริ่มเดินถอยหลัง มีการอ่อนข้อให้บริษัทยาสูบในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา ขณะที่พม่าและเวียดนามมีแนวโน้มดีขึ้น

ดร. แมรี อาซุนต้า ผู้เขียนรายงานฉบับนี้ เปิดเผยว่า “การแทรกแซงจากอุตสาหกรรมยาสูบนั้นมาจากทุกทิศทุกทางและในรูปแบบต่าง ๆ ซึ่งเป็นเรื่องที่ท้าทายรัฐบาลทุกประเทศอย่างมาก อุตสาหกรรมยาสูบมักจะรุกเข้าหาหน่วยงานด้านภาษีและการคลัง กระทรวงอุตสาหกรรมและการค้า ดังนั้นเพื่อปกป้องประชาชน รัฐบาลจะต้องปิดช่องว่างนี้และดำเนินการตามมาตรา 5.3 ของกรอบอนุสัญญาสากลในการควบคุมการบริโภคยาสูบ เพื่อแก้ไขปัญหาการแทรกแซงอุตสาหกรรมยาสูบในทุกภาคส่วน โดยทุกหน่วยงานจำเป็นต้องร่วมมือกันกำหนดแนวปฏิบัติ   ที่ชัดเจนและไปในทางเดียวกัน”

รายงานนี้เริ่มทำในกลุ่มประเทศอาเซียน โดย SEATCA แต่ในปีนี้ได้ขยายไปครอบคลุม 33  ประเทศทั่วโลก ภายใต้โครงการ STOP ซึ่งสนับสนุนโดยมูลนิธิบลูมเบิร์ก รายงานระดับโลกพบว่าญี่ปุ่น จอร์แดน อียิปต์และบังคลาเทศ ยังมีการแทรกแซงของอุตสาหกรรมยาสูบค่อนข้างสูง ขณะที่อังกฤษ ยูกานดาและอิหร่าน มีมาตรการที่สามารถปกป้องนโยบายสุขภาพจากการแทรกแซงของอุตสาหกรรมยาสูบ โดยการกำหนดมาตรการและแนวปฏิบัติสำหรับเจ้าหน้าที่ของรัฐในการปฏิสัมพันธ์กับอุตสาหกรรมยาสูบเท่าที่จำเป็นเท่านั้น และไม่มีการให้สิทธิพิเศษใด ๆ แก่อุตสาหกรรมยาสูบ

 

ศ.นพ.ประกิต วาทีสาธกกิจ เลขาธิการมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ กล่าวว่า สำหรับประเทศไทย

แม้อุตสาหกรรมยาสูบและเครือข่ายของเขาพยายามรุกหนักในการกดดันให้รัฐบาลปรับแก้กฎหมายยาสูบให้อ่อนลง โดยเฉพาะอย่างยิ่งมาตรการในการควบคุมบุหรี่ไฟฟ้า แต่เนื่องจากรัฐบาลไม่ได้อ่อนข้อให้พ่อค้าบุหรี่ ประเทศไทยจึงอยู่ในกลุ่มประเทศที่อยู่ในระดับดี อย่างไรก็ตามประเด็นที่ไทยยังต้องแก้ไขคือ กรณีข้าราชการระดับสูงเป็นบอร์ดของการยาสูบแห่งประเทศไทย ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องผลประโยชน์ทับซ้อน ในขณะเดียวกันไทยควรมีแนวปฏิบัติสำหรับข้าราชการทุกหน่วยงานในการมีปฏิสัมพันธ์กับอุตสาหกรรมยาสูบอย่างโปร่งใสและเท่าทีจำเป็นเท่านั้น ภายใต้จรรยาปฏิบัติที่ชัดเจน ซึ่งขณะนี้กระทรวงสาธารณสุขมีแนวปฏิบัติดังกล่าวแล้ว แต่ไม่สามารถครอบคลุมถึงข้าราชการกระทรวงอื่น ๆ และข้าราชการการเมือง ซึ่งเป็นกลุ่มเป้าหมายของอุตสาหกรรมยาสูบในการแทรกแซงนโยบาย นอกจากนี้ยังควรยกเลิกบุหรี่ปลอดภาษีสำหรับผู้ที่เดินทางเข้าประเทศไทย เนื่องจากเป็นการให้สิทธิประโยชน์แก่บริษัทบุหรี่ ส่งเสริมการสูบบุหรี่และรัฐบาลสูญเสียภาษีที่พึงจะได้รับ การเฝ้าระวัง การให้ทุนอุปถัมภ์โดยบริษัทบุหรี่ แก่นักวิชาการ คอลัมน์นิสต์ และองค์กรบังหน้าอื่น ในการกระทำที่จะนำไปสู่การแทรกแซงนโยบาย

 

Contact:

Wendell C Balderas, Media and Communications Manager – SEATCA

Email: wendell@seatca.org | Mobile: +63 999 881 2117 

คุณชวาลา ภวภูตานนท์ ณ มหาสารคาม มูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่

โทร 081-458-5877   Email: chawala@ashthailand.or.th   

 

Related Links:

  • SEATCA Tobacco Industry Interference Index: Implementation of Article 5.3 of the WHO Framework Convention on Tobacco Control in ASEAN Countries, 2019

URL-https://seatca.org/dmdocuments/SEATCA_TII_INDEX_2019_vF.2_web.pdf

Guidelines for the Implementation of Article 5.3 of the WHO Framework Convention on Tobacco Control              

- https://www.who.int/fctc/guidelines/article_5_3.pdf