สูบบุหรี่เสี่ยงป่วยหนักและเสียชีวิตจากโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019
มูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่
ACTION ON SMOKING AND HEALTH FOUNDATION
PressRelease
ศูนย์ข่าว มูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่
วันที่ 2 มีนาคม 2563
วันที่ข่าวตีพิมพ์ : สามารถเผยแพร่ได้ทันที
สูบบุหรี่เสี่ยงป่วยหนักและเสียชีวิตจากโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019
องค์การอนามัยโลกและผู้เชี่ยวชาญโรคปอดออกโรงเตือนการสูบบุหรี่มีส่วนทำให้การป่วยจากเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 รุนแรงขึ้น แนะเลิกบุหรี่เพื่อลดความเสี่ยง
เมื่อ 14 ก.พ. 2563 ดร.ไมค์ ไรอัน ผู้อำนวยการบริหารโครงการเหตุฉุกเฉินด้านสุขภาพขององค์การอนามัยโลก ให้ความเห็นว่าการสูบบุหรี่น่าจะทำให้การป่วยจากโรคไวรัสโคโรนา 2019 หรือโควิด-19 มีอาการรุนแรงขึ้น ซึ่งเรื่องนี้ ดร.จิสลี่ เจนกิ้นส์ ผู้เชี่ยวชาญโรคปอด มหาวิทยาลัยน็อตติ้งแฮม ประเทศอังกฤษ ได้ออกมาเตือนเช่นกันว่าการสูบบุหรี่น่าจะเป็นปัจจัยเสี่ยงอันหนึ่งที่เป็นสาเหตุให้ผู้ป่วยที่ติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 เจ็บป่วยรุนแรงและเสียชีวิต เช่นเดียวกับกรณีโรคซาร์สและเมอร์สที่เกิดจากเชื้อโคโรน่าไวรัสเช่นเดียวกัน ซึ่งสถานการณ์การติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ล่าสุดผู้ชายจะมีภาวะปอดอักเสบที่รุนแรงกว่า 2 เท่า และเสียชีวิตมากกว่าเกือบ 4 เท่า ซึ่งสอดคล้องกับอัตราการสูบบุหรี่ในจีนที่ผู้ชาย สูบบุหรี่มากกว่าผู้หญิง ดร.เจนกิ้นส์ กล่าวว่าปอดของคนสูบบุหรี่จะถูกทำลายจนเกิดภาวะถุงลมโป่งพองซึ่งภาวะนี้จะทำให้เสี่ยงต่อการติดเชื้อที่ปอดสูงกว่าคนปกติ
ล่าสุด นายแพทย์มานาบุ ซากุตะ ประธานสมาคมควบคุมยาสูบญี่ปุ่น ร่อนจดหมายถึง รมต.สาธารณสุขญี่ปุ่น เตือนปัจจัยเสี่ยงสำคัญของไวรัสโควิด-19 ได้แก่ ผู้สูงอายุ ผู้สูบบุหรี่ ผู้ที่มีโรคประจำตัว เช่น โรคหอบหืด ถุงลมโป่งพอง และเบาหวาน
พญ.เริงฤดี ปธานวนิช คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี ให้ข้อมูลว่าเมื่อครั้งการระบาดของโรคเมอร์สที่เกิดจากเชื้อไวรัสสายพันธุ์โคโรนาเช่นกัน พบคนสูบบุหรี่จะป่วยรุนแรงกว่าเพราะเซลล์ปอดของคนสูบบุหรี่มีตัวรับเชื้อไวรัสเมอร์สมากกว่าคนที่ไม่สูบบุหรี่ซึ่งเป็นสาเหตุให้คนสูบบุหรี่มีอาการรุนแรงกว่า แม้ยังไม่มีการศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างการสูบบุหรี่กับการติดเชื้อไวรัสโควิด-19 แต่เชื่อว่ากลไกการติดเชื้อน่าจะคล้ายกัน
ศ.นพ.ประกิต วาทีสาธกกิจ ประธานมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่และแพทย์ผู้เชี่ยวชาญโรคปอด ให้ความเห็นเพิ่มเติมว่า การสูบบุหรี่จะทำลายระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายทำให้กระบวนการกำจัดสิ่งแปลกปลอมและเชื้อโรคที่หลุดเข้ามาที่ปอดแย่ลง เริ่มจากการทำให้เซลล์ปอดเกิดการอักเสบสะสมเรื้อรัง จนกระทั่งปอดถูกทำลายลงเรื่อย ๆ และทำให้สิ่งแปลกปลอมและเชื้อโรคเข้าสู่ปอดได้ง่ายขึ้น ซึ่งเมื่อมีการติดเชื้อปอดของผู้สูบบุหรี่จะเกิดการอักเสบที่รุนแรงกว่าผู้ที่ไม่สูบบุหรี่ การเลิกสูบบุหรี่เป็นทางเดียวที่จะช่วยลดการอักเสบของเซลล์ปอด ยับยั้งการที่เซลล์ปอดถูกทำลายและทำให้ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายดีขึ้น
อ้างอิง
- Anne Gulland. Smokers at increased risk of coronavirus complications, leading experts warn. The Telegraph. 14 February 2020. https://www.telegraph.co.uk/global-health/science-and-disease/coronavirus-dangerous-smokers/
- NBC News. 2,641 newly confirmed cases of coronavirus in China; San Diego County declares health emergency. 14 February 2020. https://www.nbcnews.com/news/world/covid-19-updates-1-700-heath-workers-infected-more-wartime-n1136841
- Bauer, et al. 2013. The Influence of Cigarette Smoking on Viral Infections: Translating Bench Science to Impact COPD Pathogenesis and Acute Exacerbations of COPD Clinically. https://www.sciencedirect.com/science/article/pii/S0012369213600318
- Seys, et al. 2018. DPP4, the Middle East Respiratory Syndrome Coronavirus Receptor, is Upregulated in Lungs of Smokers and Chronic Obstructive Pulmonary Disease Patients. https://academic.oup.com/cid/article/66/1/45/4083573
ต้องการรายละเอียดเพิ่มเติมกรุณาติดต่อ 0-2278-1828