โควิดระบาด : โอกาสทองที่จะเลิกบุหรี่เด็ดขาด
มูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่
ACTION ON SMOKING AND HEALTH FOUNDATION
Press Release
ศูนย์ข่าว มูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่
วันที่ 4 เมษายน 2563
วันที่ข่าวตีพิมพ์ : สามารถเผยแพร่ได้ทันที
โควิดระบาด : โอกาสทองที่จะเลิกบุหรี่เด็ดขาด
ดร.พญ.เริงฤดี ปธานวณิชย์ ภาควิชาเวชศาสตร์ชุมชน คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี เปิดเผยท่าทีล่าสุดของหน่วยงานสาธารณสุขอังกฤษ Public Health England (PHE) ซึ่งมีสถานะเทียบเท่ากับ ศูนย์ควบคุมโรคสหรัฐอเมริกา CDC โดยเตือนชาวอังกฤษให้ใช้โอกาสที่โควิดระบาดอย่างรุนแรงในอังกฤษขณะนี้ เลิกสูบบุหรี่ โดย PHE ระบุว่า
• ไม่เคยมีเวลาที่สำคัญกว่านี้อีกแล้ว ที่ผู้สูบบุหรี่จะเลิกสูบ จากการที่โควิด 19 ระบาดรุนแรงขึ้นในอังกฤษ
• มีคนอังกฤษ 3,605 คน ที่เสียชีวิตจากโควิด 19 โดย 684 คนเสียชีวิตในวันเดียว
• การสูบบุหรี่ ที่ทำให้มือแตะต้องปากอย่างต่อเนื่อง เป็นช่องทางที่จะนำเชื้อไวรัสเข้าสู่ร่างกาย
• เมื่อคนสูบบุหรี่ติดเชื้อแล้ว ความเสี่ยงที่จะมีอาการรุนแรง เพิ่มขึ้น 14 เท่า (ข้อมูลจากประเทศจีน)
• อีกรายงานพบว่า 1 ใน 4 ของผู้ติดเชื้อโควิด 19 ที่ต้องเข้าไอซียู หรือที่ตาย เป็นคนที่สูบบุหรี่
• นักวิทยาศาสตร์กล่าวว่า ความเสียหายที่ปอดได้รับ จากการสูบบุหรี่ ทำให้เกิดการติดเชื้อง่ายขึ้น
• คนในครอบครัวที่ได้รับควันบุหรี่มือสอง เพิ่มความเสี่ยงที่จะติดเชื้อโควิด 19 และมีความเสี่ยงสูงขึ้น ที่จะมีภาวะแทรกซ้อนรุนแรง
• นักวิทยาศาสตร์สรุปว่า แม้ยังต้องมีการวิจัยเพิ่มเติม แต่เป็นที่ยอมรับกันแล้วว่า คนที่สูบบุหรี่จะติดเชื้อโรคง่าย
• อวัยวะที่คล้ายขนโบกพัดเล็ก ๆ บนผิวทางเดินหายใจ ที่ทำหน้าที่ ขจัดเชื้อโรคและสารคัดหลั่งออกจากปอด ได้รับความเสียหาย จากสารเคมีพิษในควันบุหรี่
ขณะที่ ศ.นพ.ประกิต วาทีสาธกกิจ ประธานมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ กล่าวเพิ่มเติมว่า การเลิกสูบบุหรี่นอกจากจะมีประโยชน์ลดความเสี่ยงที่จะติดเชื้อโควิดรุนแรงแล้ว ยังเป็นการลดค่าใช้จ่ายที่ไม่จำเป็นในขณะนี้ ที่จะมีการจ้างงานลดลงหรือเลิกจ้าง และคนจำนวนมากจะมีรายได้ลดลง ซึ่งข้อมูล ปี พ.ศ. 2560 พบว่า คนไทยที่สูบบุหรี่ที่ผลิตจากโรงงาน 5 ล้านกว่าคน เสียค่าซื้อบุหรี่โดยเฉลี่ยเดือนละกว่า 800 บาททั่วประเทศ และเดือนละกว่า 1,000 บาท สำหรับผู้สูบบุหรี่ในกรุงเทพมหานคร จึงอยากจะเชิญชวนให้ผู้สูบบุหรี่เลิกสูบ โดยหากเลิกสูบไม่ได้ด้วยตนเอง ก็สามารถไปรับการรักษาตามโรงพยาบาล หรือโทรขอคำปรึกษาทางโทรศัพท์หมายเลข 1600 ได้
อ้างอิง :
หากต้องการข้อมูลเพิ่มเติมกรุณาติดต่อ 02-278-1828