ฮูเรียกร้องนักวิจัย และสื่อ ยุติการขยายผลข่าวสูบบุหรี่ป้องกัน COVID-19

มูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่                    

ACTION ON SMOKING AND HEALTH FOUNDATION

                                                                                                      

Press Release 

ศูนย์ข่าว มูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ 

วันที่  12 พฤษภาคม  2563

วันที่ข่าวตีพิมพ์ : สามารถเผยแพร่ได้ทันที

 


ฮูเรียกร้องนักวิจัย และสื่อ ยุติการขยายผลข่าวสูบบุหรี่ป้องกัน COVID-19
 

ศ.นพ. ประกิต วาทีสาธกกิจ เลขาธิการมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ เปิดเผยแถลงการณ์ องค์การอนามัยโลก (ฮู) 11 พฤษภาคม 2563 ยืนยันไม่มีหลักฐานว่า การสูบบุหรี่หรือการใช้นิโคติน สามารถป้องกัน หรือรักษา COVID-19 ได้

  1. ฮูออกแถลงการณ์ล่าสุด  หลังจากเรียกประชุมผู้เชี่ยวชาญแบบฉุกเฉิน  เมื่อวันที่ 29  เมษายน 2563  ได้ข้อสรุป  ยังไม่มีหลักฐานว่าการสูบบุหรี่หรือการใช้นิโคติน  สามารถป้องกันหรือใช้รักษา COVID-19 ได้ ตามที่เป็นข่าว
  • การใช้ยาสูบเป็นปัจจัยเสี่ยงของการติดเชื้อทางเดินหายใจหลายชนิด รวมทั้งทำให้อาการรุนแรงขึ้น  และหลักฐานจนถึงปัจจุบัน   ผู้ป่วย COVID-19   ที่สูบบุหรี่ อาการจะรุนแรงกว่าคนที่ไม่สูบบุหรี่ 
  • COVID-19 เป็นโรคติดเชื้อที่เกิดกับทางเดินหายใจเป็นหลัก  การสูบบุหรี่ทำให้ปอดทำงานไม่เป็นปกติ  ทำให้ร่างกายต่อสู้กับ COVID-19  ได้ไม่ดี
  • ยาสูบยังทำให้เกิดโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง  เช่น โรคหัวใจ  มะเร็ง  เบาหวาน  และโรคทางเดินหายใจอื่น  ซึ่งทำให้คนที่เป็นโรคเหล่านี้จะมีอาการหนักและเสียชีวิตหากติด COVID-19
  1. ฮูเรียกร้องให้นักวิจัยและสื่อต่าง ๆ  ให้ระมัดระวังการขยายผล  ข้ออ้างที่ยังไม่ได้มีการพิสูจน์ว่าการสูบบุหรี่หรือการใช้นิโคตินสามารถลดความเสี่ยงของ COVID-19
  • แผ่นแปะและหมากฝรั่งนิโคติน  ได้รับการออกแบบมาเพื่อช่วยการเลิกสูบบุหรี่ องค์การอนามัยโลกแนะนำให้เลิกใช้ยาสูบทันทีด้วยวิธีการรักษาต่าง ๆ รวมถึงการรับคำปรึกษาทางโทรศัพท์
  • หลังจากเลิกสูบบุหรี่ 20 นาที  การเต้นของหัวใจและความดันจะกลับเข้าสู่ปกติ  หลังจาก 12 ชั่วโมง  ระดับคาร์บอนมอนอกไซด์ (จากควันบุหรี่)  ในเลือดลดลง  ภายใน 2-12 สัปดาห์  ระบบไหลเวียนเลือดและการทำงานของปอดจะดีขึ้น  หลังจาก 1-9  เดือนอาการไอและการหายใจจะดีขึ้น
  1. ฮูเน้นย้ำถึงความสำคัญของงานวิจัยที่มีคุณภาพ  และถูกต้องตามจริยธรรม  ที่จะนำไปสู่สุขภาพของบุคคลและส่วนรวม  ย้ำว่าการส่งเสริมเผยแพร่ข่าวที่ไม่ได้รับการพิสูจน์  จะส่งผลเสียต่อสุขภาพของส่วนรวม

อ้างอิง  https://www.who.int/news-room/detail/11-05-2020-who-statement-tobacco-use-and-covid-19

หากต้องการข้อมูลเพิ่มเติมกรุณาติดต่อ 02-278-1828