งานวิจัย บุหรี่ไฟฟ้าไม่ได้ช่วย ให้เลิกสูบบุหรี่ธรรมดาในการใช้โดยปกติ
มูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่
ACTION ON SMOKING AND HEALTH FOUNDATION
Press Release
ศูนย์ข่าว มูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่
วันที่ 29 ธันวาคม 2563
วันที่ข่าวตีพิมพ์ : สามารถเผยแพร่ได้ทันที
งานวิจัย บุหรี่ไฟฟ้าไม่ได้ช่วย
ให้เลิกสูบบุหรี่ธรรมดาในการใช้โดยปกติ
งานวิจัยที่เพิ่งเผยแพร่ วันที่ 22 ธันวาคม 2563 โดยทีมนักวิจัยจาก มหาวิทยาลัยซานฟรานซิสโก แคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา นำโดย ศาสตราจารย์สแตนตัน กล๊านทซ์ สืบค้นงานวิจัยที่มีการตีพิมพ์มาแล้วทั้งหมด 64 ชิ้น ที่ศึกษาความสัมพันธ์ของการใช้บุหรี่ไฟฟ้า กับการเลิกสูบบุหรี่ธรรมดา พบว่า งานวิจัย 55 ชิ้น ที่ทำการสำรวจการเลิกสูบบุหรี่ ในคนที่สูบบุหรี่ไฟฟ้าในการใช้ตามปกติ บุหรี่ไฟฟ้าไม่ได้นำไปสู่การเลิกสูบบุหรี่ธรรมดา
ขณะที่งานวิจัย 9 ชิ้น ที่ทำการทดลองใช้บุหรี่ไฟฟ้าในการรักษาเพื่อเลิกสูบบุหรี่ธรรมดาภายใต้การควบคุมตามระเบียบวิจัย พบว่า บุหรี่ไฟฟ้าช่วยให้เลิกสูบบุหรี่ธรรมดาได้
ทีมวิจัย เสนอแนะ FDA หรือ อย สหรัฐอเมริกา ว่าควรจะให้บุหรี่ไฟฟ้าขายโดยใบสั่งแพทย์เพื่อรักษาการเลิกสูบบุหรี่ ไม่ควรอนุญาตให้ขายเป็นสินค้าบริโภคธรรมดา
ทีมวิจัย วิจารณ์ว่า หลักฐานต่าง ๆ เท่าที่มี ไม่สนับสนุนการที่ FDA อนุญาตให้ขายบุหรี่ไฟฟ้าในอเมริกาด้วยเหตุผลว่า มีผลต่อการคุ้มครองสุขภาพ เนื่องจากในคนที่สูบบุหรี่ธรรมดาอยู่แล้ว บุหรี่ไฟฟ้าไม่ได้ช่วยให้เลิกสูบบุหรี่ธรรมดา แต่กลับใช้ทั้งบุหรี่ไฟฟ้า และบุหรี่ธรรมดา ซึ่งยิ่งมีอันตรายมากกว่าการใช้ผลิตภัณฑ์เพียงอย่างใดอย่างหนึ่ง อีกทั้งยังพบว่าบุหรี่ไฟฟ้า เป็นสื่อนำให้เยาวชนเข้าไปเสพติดบุหรี่ “gateway effect” ดังนั้น ถ้าการใช้บุหรี่ไฟฟ้าไม่ได้นำไปสู่การเลิกสูบบุหรี่ธรรมดา บุหรี่ไฟฟ้าก็ไม่มีผลดีต่อผู้ที่สูบบุหรี่อยู่แล้ว ตามที่บริษัทบุหรี่กล่าวอ้าง ไม่ว่าบุหรี่ไฟฟ้าจะอันตรายน้อยกว่าบุหรี่ธรรมดาหรือไม่ก็ตาม ยิ่งเมื่อบวกกับการระบาดของบุหรี่ไฟฟ้าในเยาวชนที่ไม่เคยสูบบุหรี่มาก่อน สมมุติฐานที่ว่า บุหรี่ไฟฟ้า มีผลดีต่อการคุ้มครองสุขภาพยิ่งไม่มีน้ำหนัก
ศ.นพ.ประกิต วาทีสาธกกิจ เลขาธิการมูลนิธิรณรงค์เพื่อการไม่สูบบุหรี่ กล่าวว่า ข้อมูลล่าสุดที่เปิดเผยโดยศูนย์ควบคุมโรค (CDC) สหรัฐอเมริกา พบว่า อัตราการสูบบุหรี่ธรรมดาของผู้ใหญ่อเมริกาไม่มีการเปลี่ยนแปลงใน 3 ปีที่ผ่านมา โดยคงที่อยู่ที่ 14% แต่อัตราการสูบบุหรี่ไฟฟ้าเพิ่มขึ้น จาก 3.2% ในปี ค.ศ.2018 เป็น 4.5% ในปี 2019 ในขณะที่ 9.3% ของคนอายุ 18-24 ปี สูบบุหรี่ไฟฟ้า และ 56% หรือกว่าครึ่งหนี่งเป็นคนที่ไม่เคยสูบบุหรี่มาก่อน ประกอบกับการระบาดของบุหรี่ไฟฟ้าในวัยรุ่นอเมริกา การอนุญาตให้ขายบุหรี่ไฟฟ้าจึงส่งผลให้เป็นการเพิ่มจำนวนผู้เสพติดผลิตภัณฑ์นิโคติน ที่เป็นการเพิ่มลูกค้าระยะยาวให้แก่บริษัท ขณะนี้มีหลายประเทศที่ห้ามขายบุหรี่ไฟฟ้า และให้ผู้ผลิตมาขึ้นทะเบียนเป็นผลิตภัณฑ์ยาได้ แต่ไม่มีผู้ผลิตใดนำผลิตภัณฑ์บุหรี่ไฟฟ้าไปขึ้นทะเบียนเป็นยา ทั้งนี้กรณีของประเทศไทย บริษัทบุหรี่ไฟฟ้าก็สามารถที่จะนำผลิตภัณฑ์ของตนมาขึ้นทะเบียนเป็นยาเลิกบุหรี่กับองค์การอาหารและยาได้เช่นกัน ถ้าหากสามารถพิสูจน์ว่าช่วยให้คนเลิกสูบบุหรี่ได้จริง และผ่านมาตรฐานความปลอดภัยตามเงื่อนไขขององค์การอาหารและยา
อ้างอิง
- Richard J. Wang, Sudhamayi Bhadriraju, Stanton A. Glantz. 2020. E-Cigarette Use and Adult Cigarette Smoking Cessation: A Meta-Analysis https://ajph.aphapublications.org/author/Wang%2C+Richard+J
- Robin Koval. CDC Report Shows Rise in E-Cigarette Use Does Not Result in Decreases in Adult Smoking https://truthinitiative.org/sites/default/files/media/files/2020/11/Rise%20in%20Vaping%20Does%20Not%20Result%20in%20Decreases%20in%20Adult%20Smoking%20Statement.pdf
ต้องการสอบถามข้อมูลและรายละเอียดเพิ่มเติม กรุณาติดต่อ 0-2278-1828