สธ.เผยไทยป่วยถุงลมปอดโป่งพอง กว่าร้อยละ90เกิดจากการสูบบุหรี่
นายแพทย์ประดิษฐ สินธวณรงค์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า โรคถุงลมปอดโป่งพองหรือโรคซีโอพีดี (COPD : Chronic Obstructive Pulmonary Disease) เกิดจากการสูดหายใจเอามลพิษในรูปของก๊าซหรือฝุ่น เช่น ควันบุหรี่ และควันจากการเผาไหม้เข้าไป สารพิษจากควันดังกล่าวจะไปทำลายระบบทางเดินหายใจ ทำให้เนื้อเยื่อปอดเสื่อมสภาพ เกิดอาการอักเสบ เป็นโรคที่มีความทุกข์ทรมานและรุนแรงมากที่สุด มักพบในผู้ที่มีอายุ 40 ปีขึ้นไป เมื่อเป็นโรคแล้วจะรักษาไม่หายขาด มีอาการคือหายใจยากลำบาก หอบง่าย ไอเรื้อรัง มีเสมหะมาก องค์การอนามัยโลกระบุว่ามีผู้ป่วยทั่วโลกเป็นโรคนี้กว่า 80 ล้านคน เสียชีวิตปีละ 3 ล้านคน เป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับ 4 รองจากโรคมะเร็ง โรคหัวใจขาดเลือด และโรคเส้นเลือดในสมอง คาดว่าในอีก 7 ปี หรือในปี 2563 จำนวนผู้ป่วยจะเพิ่มอีกร้อยละ 30
ส่วนประเทศไทย สำนักระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค รายงานมีผู้ป่วยโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง และถุงลมปอดโป่งพองเข้ารับการรักษาที่ผู้ป่วยนอกในโรงพยาบาลทุกระดับของกระทรวงสาธารณสุข จาก 46 จังหวัด ระหว่างปี 2550-2554 จำนวนสะสม 99,433 คน สาเหตุร้อยละ 90 เกิดมาจากการสูบบุหรี่ และ ที่น่าสังเกตพบว่าผู้ป่วยมีอายุน้อยกว่า 40 ปี จำนวนเกือบ 5,000 คน จึงกล่าวได้ว่าผู้ที่สูบบุหรี่จะมีโอกาสเป็นโรคถุงลมโป่งพองได้ทุกคน ช้าหรือเร็วขึ้นกับจำนวน ระยะเวลาของการสูบบุหรี่
ในการแก้ไขและป้องกันปัญหาดังกล่าว กระทรวงสาธารณสุขมุ่งเน้นยุทธศาสตร์ 3 ลด 3 เพิ่ม ในปี 2555 ถึง 2557 โดย 3 ลดประกอบด้วย 1.ลดนักสูบรายใหม่ 2.ลดนักสูบรายเก่าในเขตชนบท โดยเฉพาะผู้สูบยาเส้น 3.ลดควันบุหรี่มือสองในที่ทำงาน ที่สาธารณะ และบ้าน ส่วน 3 เพิ่มได้แก่1.เพิ่มกลไกการป้องกันอุตสาหกรรมยาสูบแทรกแซงนโยบายควบคุมยาสูบของรัฐ 2.เพิ่มผู้ขับเคลื่อนการควบคุมยาสูบในระดับพื้นที่ จังหวัด และท้องถิ่น และ 3.เพิ่มนวัตกรรมการควบคุมยาสูบ นอกจากนี้ ยังมีศูนย์บริการเลิกบุหรี่ทางโทรศัพท์แห่งชาติ หมายเลข 1600