สธ.แก้กม.คุม'บารากู่'เสี่ยงมะเร็ง-ดูดควันเท่าบุหรี่100มวน
สาธารณสุข : โจ๋ฮิตสูบบารากู่เสี่ยงระดับคาร์บอนมอนนอกไซด์สูง พ่วงสารก่อมะเร็ง องค์การอนามัยโลกระบุสูดควันเท่าสูบบุหรี่ 100 มวน สธ.แก้ กม.ยาสูบเพิ่มควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบที่มีนิโคติน
นพ.โสภณ เมฆธน อธิบดีกรมควบคุมโรค (คร.) กล่าวถึงการรณรงค์โรค ถุงลมโป่งพองโลก (World COPD Day) ซึ่งปีนี้ตรงกับวันที่ 20 พ.ย.ว่า โรคถุงลมโป่งพองหรือโรคซีโอพีดี (COPD : Chronic Obstructive Pulmonary Disease) เกิดจากการสูดหายใจเอามลพิษ ในรูปของก๊าซหรือฝุ่น
ทั้งนี้ องค์การอนามัยโลกระบุว่า มีผู้ป่วยทั่วโลกเป็นโรคนี้กว่า 80 ล้านคน เสียชีวิตปีละ 3 ล้านคน เป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับ 4 รองจากโรคมะเร็ง โรคหัวใจขาดเลือด และโรคเส้นเลือดในสมอง คาดว่าในอีก 7 ปี หรือในปี 2563 จำนวน ผู้ป่วยจะเพิ่มอีกร้อยละ 30
"ที่น่าห่วงขณะนี้พบว่าวัยรุ่นไทยหันมาสูบบารากู่กันอย่างแพร่หลาย ส่วนใหญ่เข้าใจว่าไม่มีอันตรายหรือมีอันตรายน้อยกว่าบุหรี่ซิกาแรต เนื่องจากเป็นการเผาไหม้กากผลไม้ ควันมีกลิ่นหอม และควันผ่านกระเปาะน้ำก่อนสูดเข้าสู่ร่าง-กาย แต่จริงๆแล้วข้อมูลขององค์การอนามัย โลกระบุว่า ควันที่ผ่านน้ำลงไปยังคงมีสาร พิษในระดับสูงทั้งคาร์บอนมอนอกไซด์ โลหะหนัก และสารเคมีที่ก่อให้เกิดมะเร็ง การสูบบารากู่แต่ละครั้งมักจะใช้เวลาสูบนาน ผู้สูบอาจสูดควันมากกว่าผู้สูบบุหรี่ทั่วไปถึง 100 มวน" นพ.โสภณกล่าว
นพ.โสภณกล่าวอีกว่า ขณะนี้กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) อยู่ระหว่างแก้ไข พ.ร.บ.ควบคุมการบริโภคยาสูบฉบับ ใหม่ และเพิ่มการควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ ที่มีสารนิโคตินเป็นส่วนประกอบ โดยผ่าน ขั้นตอนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนแล้ว อยู่ระหว่างการปรับแก้ข้อความ ตามข้อคิดเห็นของประชาชน คาดว่าจะเสนอสภาผู้แทนราษฎรได้ในปี 2557